แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลโดยทำใบมอบอำนาจปลอมยื่นต่อศาลอันเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลและศาลชั้นต้นมีคำสั่งลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31(1),33ซึ่งสั่งลงโทษจำเลยได้โดยไม่ต้องมีผู้ใดเป็นโจทก์ฟ้องแม้จำเลยได้อุทธรณ์คำสั่งแล้วพนักงานอัยการได้ทำคำแก้อุทธรณ์ก็ตามก็ถือไม่ได้ว่าพนักงานอัยการเป็นโจทก์ การที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยฐานปลอมเอกสารใบมอบอำนาจและใช้เอกสารปลอม จึงเป็นคนละเรื่องกับคดีฐานละเมิดอำนาจศาล ดังนั้น แม้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งลงโทษจำเลยและคดีถึงที่สุดแล้ว สิทธินำคดีมาฟ้องย่อมไม่ระงับไปตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4) หนังสือมอบอำนาจเป็นเอกสารธรรมดา ซึ่งบุคคลคนหนึ่งมอบหมายให้บุคคลอีกคนหนึ่งมีอำนาจจัดการทำนิติกรรมแทนตนเท่านั้น ไม่เป็นเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการก่อตั้งสิทธิไม่ใช่เอกสารสิทธิ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้กระทำผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ จำเลยลงลายมือชื่อปลอมของนางวรรณา เอี่ยมละม่อม ในใบมอบฉันทะอันเป็นเอกสารสิทธิของนางวรรณาเพื่อขอรับเอกสารต่าง ๆ จากศาลจังหวัดตรังโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่นางวรรณาผู้พิพากษาศาลจังหวัดตรังและกระทรวงยุติธรรมและจำเลยใช้ใบมอบฉันทะอันเป็นเอกสารสิทธิที่จำเลยได้ลงมือชื่อปลอมดังกล่าวแสดงต่อผู้พิพากษาศาลจังหวัดตรังเพื่อขอรับเอกสารต่าง ๆ ที่นางวรรณาได้ยื่นไว้ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่นางวรรณา ผู้พิพากษาศาลจังหวัดตรังและกระทรวงยุติธรรม ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 264, 265, 268
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265, 268 จำเลยเป็นผู้ปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธินั้นเอง จึงลงโทษฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมแต่กระทงเดียวตามมาตรา 268 วรรคสองจำคุก 6 เดือนจำเลยให้การรับสารภาพมีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78คงจำคุก 3 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยเพียงว่าเมื่อการกระทำของจำเลยครั้งนี้ จำเลยได้รับโทษฐานละเมิดอำนาจศาลในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 992/2536ของศาลชั้นต้นซึ่งถึงที่สุดแล้ว การที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้อีก จึงเป็นการฟ้องซ้ำกับคดีดังกล่าวหรือไม่ เห็นว่าคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 992/2536 ของศาลชั้นต้นดังกล่าวเป็นคดีที่จำเลยกระทำการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลอันเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล และศาลชั้นต้นมีคำสั่งลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 31(1), 33 ซึ่งกฎหมายดังกล่าวให้ศาลมีอำนาจพิเศษในการสั่งลงโทษจำเลยได้โดยไม่ต้องมีผู้ใดร้องขอหรือเป็นโจทก์ฟ้อง แม้จำเลยได้อุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นแล้วพนักงานอัยการได้ทำคำแก้อุทธรณ์ของจำเลยก็ตามก็ถือไม่ได้ว่าพนักงานอัยการเป็นโจทก์ ส่วนความผิดของจำเลยคดีนี้เป็นเรื่องปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมโดยพนักงานอัยการเป็นโจทก์จึงเป็นคนละเรื่องและคนละประเด็นกับคดีฐานละเมิดอำนาจศาล ดังนั้น แม้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งลงโทษจำคุกจำเลยและคดีถึงที่สุดแล้ว สิทธินำคดีมาฟ้องของโจทก์คดีนี้ย่อมไม่ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4) ดังที่จำเลยฎีกา โจทก์จึงฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยเป็นคดีนี้ได้ไม่เป็นการฟ้องซ้ำ ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลล่างทั้งสอง ปรับบทลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 นั้นยังไม่ถูกต้อง เพราะหนังสือมอบอำนาจเป็นเอกสารธรรมดาซึ่งบุคคลคนหนึ่งมอบหมายให้บุคคลอีกคนหนึ่งมีอำนาจจัดการทำนิติกรรมแทนตนเท่านั้น ไม่เป็นเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการก่อตั้งสิทธิอย่างใด ไม่ใช่เอกสารสิทธิตามความหมายแห่งกฎหมายสมควรปรับบทลงโทษจำเลยเสียใหม่ให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 268 วรรคแรกประกอบมาตรา 264 ให้ลงโทษฐานใช้เอกสารปลอมแต่กระทงเดียวตามมาตรา 268 วรรคสอง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3