คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9212/2539

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ก่อนเกิดเหตุสิบตำรวจเอก พ. พบเห็นจำเลยมีพฤติการณ์อันควรสงสัยว่าจะกระทำความผิดโดยมีเครื่องมืออาวุธหรือวัตถุอย่างอื่นอันสามารถอาจใช้ในการกระทำผิด และพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมืองโดยไม่ได้รับอนุญาตซึ่งเป็นความผิดซึ่งหน้าแม้สิบตำรวจเอกพ. ไม่มีหมายจับ แต่ได้แสดงตัวว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจให้จำเลยทราบแล้ว สิบตำรวจเอก พ.จึงมีอำนาจตรวจค้นและจับจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 78(1)(2),93การที่จำเลยใช้มือกดอาวุธปืนไม่ให้สิบตำรวจเอก พ.ดึงออกมาจากเอวจำเลยเพื่อยึดเป็นของกลาง จึงเป็นการขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2535 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยกับนายอาคม รักษาสกุล ผู้ตายได้ร่วมกันกระทำผิดหลายกรรมต่างกันคือ จำเลยกับผู้ตายร่วมกันมีอาวุธปืนสั้นขนาด 9 มิลลิเมตร จำนวน 1 กระบอก และขนาด .38จำนวน 1 กระบอก ไม่มีเครื่องหมายทะเบียนประจำอาวุธปืนของเจ้าพนักงานประทับไว้ และร่วมกันมีกระสุนปืนขนาด 9 มิลลิเมตรจำนวน 10 นัด กระสุนปืนขนาด .38 จำนวน 17 นัด ซึ่งสามารถใช้ยิงได้ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต กับร่วมกันพาอาวุธปืนดังกล่าวติดตัวไปที่บริเวณปั๊มน้ำมัน ตำบลโพสะอำเภอเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง ซึ่งเป็นเมือง หมู่บ้าน และทางสาธารณะ โดยไม่มีเหตุสมควรและไม่ได้รับอนุญาต ทั้งไม่ใช่กรณีที่ต้องมีติดตัวเมื่อมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ จำเลยกับผู้ตายร่วมกันช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่ายหรือรับไว้โดยประการใดซึ่งเครื่องวิทยุคมนาคมพร้อมด้วยเสาอากาศจำนวน 1 ชุด ราคา 3,893.25 บาท โดยรู้ว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากรที่จะต้องเสียจำนวน 928 บาทรวมราคาของและค่าอากรเป็นเงิน 4,821.25 บาท กับร่วมกันมีและใช้เครื่องวิทยุคมนาคมจำนวน 1 เครื่อง พร้อมด้วยเสาอากาศ 1 อันโดยไม่ได้รับอนุญาต เมื่อสิบตำรวจเอกไพฑูรย์ เรืองฉายเจ้าพนักงานเห็นจำเลยกับผู้ตายร่วมกันกระทำผิดดังกล่าวจึงเข้าทำการจับกุม จำเลยกับผู้ตายต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยร่วมกันใช้อาวุธปืนยิงสิบตำรวจเอกไพฑูรย์ เจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ โดยมีเจตนาฆ่าจำเลยกับผู้ตายได้ลงมือกระทำผิดตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผลเนื่องจากสิบตำรวจเอกไพฑูรย์หลบทัน ส่วนผู้ตายถูกกระสุนปืนของเจ้าพนักงานถึงแก่ความตาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138, 289, 80, 83, 371, 91, 32พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 มาตรา 4, 6, 22, 23พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ทวิ พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ และริบอาวุธปืนสั้นขนาด 9 มิลลิเมตร จำนวน 2 กระบอก ซองกระสุนปืนจำนวน 1 ซอง กระสุนปืนขนาด 9 มิลลิเมตร จำนวน 10 นัดกระสุนปืนขนาด .38 จำนวน 15 นัด เข็มขัดกระสุนปืน จำนวน 1 เส้นวิทยุมือถือจำนวน 1 ชุด ปลอกกระสุนปืนขนาด .38 จำนวน 2 ปลอดกระสุนปืนขนาด 9 มิลลิเมตร จำนวน 4 นัด ของกลาง ส่วนของกลางอื่นให้คืนแก่เจ้าของ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 138 วรรคสอง จำคุก 6 เดือน ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289(2), 80, 83 และ 52 (ที่ถูก 52 (1)) จำคุกตลอดชีวิตและความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิดดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง จำคุก 6 เดือน จำเลยรับสารภาพเฉพาะข้อหานี้ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุก 3 เดือน การกระทำเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำเลยได้รับโทษจำคุกตลอดชีวิตจึงไม่อาจเรียงกระทงลงโทษได้ตามมาตรา 51 (ที่ถูกน่าจะเป็นมาตรา 91) คงลงโทษจำคุกตลอดชีวิต ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยกริบอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน และวิทยุมือถือตามขอ ส่วนของกลางอื่นให้คืนแก่เจ้าของ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(2), 80, 83 คงลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิวรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 แล้วจำคุก 3 เดือน และลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 138 วรรคสอง จำคุก 6 เดือนรวมจำคุก 9 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา โดยฎีกาของจำเลยข้อ 2.3 ในความผิดฐานต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติตามหน้าที่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ว่า ในวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้อง สิบตำรวจเอกไพฑูรย์ เรืองฉาย เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองอ่างทองขับรถจักรยานยนต์ไปที่ปั๊มน้ำมันไทรทองบริการอันเป็นสถานที่เกิดเหตุ ระหว่างที่สิบตำรวจเอกไพฑูรย์อยู่ที่ปั๊มน้ำมันดังกล่าว จำเลยซึ่งพาอาวุธปืนติดตัวโดยไม่ได้รับอนุญาตขับรถจักรยานยนต์โดยมีนายอาคม รักษาสกุล ผู้ตายนั่งซ้อนท้ายเข้ามาที่บริเวณปั๊มน้ำมัน สิบตำรวจเอกไพฑูรย์ตรวจค้นจำเลยกับพวก มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และจำเลยว่าจำเลยได้กระทำผิดฐานต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่และพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่หรือไม่สำหรับความผิดฐานต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่นั้น โจทก์มีสิบตำรวจเอกไพฑูรย์เป็นพยานเบิกความว่า ก่อนเกิดเหตุพยานได้รับคำสั่งจากร้อยตำรวจเอกปรีดาเปี่ยมวารี รองสารวัตรสืบสวนสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองอ่างทองให้ไปสืบสวนเกี่ยวกับผู้โทรศัพท์แจ้งว่ามีชายสองคนใช้ผ้าผูกปิดหน้าตั้งแต่จมูกลงมาถึงคางขับรถจักรยานยนต์และนั่งซ้อนท้ายแล่นวนเวียนอยู่บริเวณหน้าโรงแรมซีแอลการ์เดนท์สงสัยว่าจะมาก่อเหตุร้าย ระหว่างทางพบนางจงกลนี วิชัยศรขอร้องให้พยานพาไปซื้อน้ำมันที่ปั๊มเกิดเหตุซึ่งอยู่ห่างสถานีตำรวจประมาณ 500 ถึง 600 เมตร ขณะอยู่ที่ปั๊มน้ำมันเกิดเหตุจำเลยได้ขับรถจักรยานยนต์มีผู้ตายนั่งซ้อนเข้ามาบริเวณปั๊มน้ำมันโดยจำเลยและผู้ตายใช้ผ้าผูกปิดหน้าตั้งแต่จมูกลงมาถึงคางและมีวิทยุมือถือติดอยู่หน้ารถจักรยานยนต์ด้วย พยานมีความสงสัยจึงเข้าไปสอบถามว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจหรือไม่ โดยบอกจำเลยและผู้ตายว่าพยานเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ ขอดูใบอนุญาตใช้วิทยุมือถือและขอตรวจค้น ผู้ตายได้ลงจากรถจักรยานยนต์ไปยืนอยู่ห่างประมาณ 2 เมตร พยานเข้าไปคลำดูบริเวณเอวจำเลยซึ่งนั่งคร่อมรถจักรยานยนต์อยู่ พบอาวุธปืนจึงสั่งให้ผู้ตายหันหน้าออกไปแล้วยกมือขึ้น พยานจะดึงเอาอาวุธปืนจากเอวจำเลย จำเลยใช้มือกดและปัดมือพยานออก พฤติการณ์ที่สิบตำรวจเอกไพฑูรย์อ้างว่าได้พบเห็นจำเลยกับผู้ตายใช้ผ้าผูกปิดหน้าขับรถจักรยานยนต์นั่งซ้อนท้ายเข้ามาที่บริเวณปั๊มน้ำมันเกิดเหตุและสิบตำรวจเอกไพฑูรย์แสดงตนเป็นเจ้าพนักงานตำรวจขอตรวจค้นจำเลยและผู้ตายดังกล่าว โจทก์มีนายศักดิ์ชัย กลิ่นสาหร่ายพนักงานปั๊มน้ำมันที่เกิดเหตุเป็นพยานเบิกความสอดคล้องกับสิบตำรวจเอกไพฑูรย์ความข้อนี้จำเลยก็เบิกความว่า ขณะที่สิบตำรวจเอกไพฑูรย์คลำที่เอวจำเลยพบอาวุธปืนที่พกไว้ที่บริเวณหน้าท้องข้างเอวด้านขวาและสิบตำรวจเอกไพฑูรย์พยายามจะดึงออกมาจำเลยจึงเอามือกดไว้ คำเบิกความของจำเลยเจือสมกับคำเบิกความของพยานดังกล่าวของโจทก์ จึงรับฟังได้ตามคำเบิกความของพยานโจทก์ว่าก่อนเกิดเหตุสิบตำรวจเอกไพฑูรย์ได้พบเห็นจำเลยและผู้ตายมีพฤติการณ์อันควรสงสัยว่าจำเลยกับพวกจะกระทำความผิดโดยมีเครื่องมืออาวุธหรือวัตถุอย่างอื่นอันสามารถอาจใช้ในการกระทำผิด และพาอาวุธปืนติดตัวโดยไม่ได้รับอนุญาตซึ่งเป็นความผิดซึ่งหน้า แม้สิบตำรวจเอกไพฑูรย์ไม่มีหมายจับแต่ได้แสดงตัวว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจให้จำเลยและผู้ตายทราบแล้วสิบตำรวจเอกไพฑูรย์จึงมีอำนาจตรวจค้นและจับจำเลยกับผู้ตายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 78(1) (2), 93การที่จำเลยใช้มือกดอาวุธปืนไม่ให้สิบตำรวจเอกไพฑูรย์ดึงออกมาจากเอวจำเลยเพื่อยึดเป็นของกลาง จึงเป็นการขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ โดยใช้กำลังประทุษร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคสอง ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยต้องกันมาชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share