คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3447-3448/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ในคดีแพ่งโจทก์ร่วมกับจำเลยได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในมูลหนี้ตามเช็คพิพาท อันเป็นผลให้หนี้ที่จำเลยได้ออกเช็คพิพาทเพื่อใช้เงินนั้นสิ้นผลผูกพันไปก่อนที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด คดีจึงเป็นอันเลิกกันตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 7 สิทธิของโจทก์และโจทก์ร่วมในการนำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 ซึ่งเป็นอีกกรณีหนึ่งที่มิใช่กรณีคดีเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(3)ส่วนการที่สัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งไม่มีข้อตกลงอันจะถือว่าเป็นการยอมความในคดีส่วนอาญาก็ดี และโจทก์ร่วมยังไม่ถอนคำร้องทุกข์ก็ดีก็เป็นอีกกรณีหนึ่งที่สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์และโจทก์ร่วมยังไม่ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(2) เท่านั้นซึ่งเป็นคนละเรื่องคนละกรณีกันกับคดีเลิกกันตามพระราชบัญญัติ ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน

โจทก์ฟ้องทั้งสองสำนวน ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 และขอนับโทษทั้งสองสำนวนต่อกัน

จำเลยให้การปฏิเสธทั้งสองสำนวน

ในระหว่างพิจารณา นายคมสัน สิริวิชัย ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวม 5 กระทงให้จำคุกกระทงละ 3 เดือน รวม 1 ปี 3 เดือน ส่วนคำขอนับโทษต่อนั้นคดีทั้งสองสำนวนรวมการพิจารณาเข้าด้วยกัน จึงให้ยกคำขอนับโทษต่อ

จำเลยอุทธรณ์ทั้งสองสำนวน

ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 จำเลยยื่นคำร้องว่าโจทก์ร่วมกับจำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันเกี่ยวกับมูลหนี้ตามเช็คพิพาททั้ง 5 ฉบับในคดีแพ่ง ทำให้คดีอาญาในคดีนี้เป็นอันเลิกกันจึงขอให้วินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายและยกฟ้องโจทก์ โจทก์ร่วมคัดค้านว่าจำเลยผิดสัญญาประนีประนอมยอมความมิได้ชำระเงินตั้งแต่งวดแรกแสดงว่าโจทก์ร่วมกับจำเลยมิได้ประสงค์จะเลิกคดีอาญาต่อกันไม่เป็นผลทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องต้องระงับไป

ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาว่า เมื่อสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ร่วมระงับไปจึงให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ

โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกาเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า เช็คพิพาททั้ง 5 ฉบับในคดีทั้งสองสำนวนนี้โจทก์ร่วมได้ฟ้องจำเลยคดีนี้กับพวกเป็นคดีแพ่งต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่เรียกให้จำเลยคดีนี้กับพวกชดใช้เงิน ในที่สุดโจทก์ร่วมกับจำเลยคดีนี้และพวกได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันและศาลได้พิพากษาตามยอมคดีถึงที่สุดแล้วตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 6233/2541 ของศาลจังหวัดเชียงใหม่ คดีจึงเป็นอันเลิกกันตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 7 หรือไม่ ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายนี้ ศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน และข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ว่ามูลหนี้ตามเช็คพิพาททั้ง 5 ฉบับในคดีทั้งสองสำนวนนี้โจทก์ร่วมได้ฟ้องจำเลยคดีนี้กับพวกรวม 3 คน เป็นคดีแพ่งต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่เรียกให้ชดใช้เงินแล้วตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 6233/2541 ของศาลจังหวัดเชียงใหม่ โจทก์ร่วมกับจำเลยคดีนี้และพวกได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันและศาลได้พิพากษาตามยอมคดีถึงที่สุดแล้วเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม2541 ดังนี้ เห็นว่า ผลของการประนีประนอมยอมความย่อมทำให้การเรียกร้องซึ่งแต่ละฝ่ายได้ยอมสละนั้นระงับสิ้นไปและทำให้แต่ละฝ่ายได้สิทธิตามที่แสดงในสัญญานั้นว่าเป็นของตนดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 852 โจทก์ร่วมคงมีสิทธิเรียกให้จำเลยคดีนี้ (จำเลยที่ 1 ในคดีแพ่งดังกล่าว)ชำระหนี้แก่ตนตามสัญญาประนีประนอมยอมความเท่านั้น แม้จำเลยคดีนี้ไม่ชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น ตามที่โจทก์และโจทก์ร่วมอ้างในฎีกา โจทก์ร่วมก็ไม่มีสิทธิที่จะเรียกให้จำเลยคดีนี้รับผิดในมูลหนี้ตามเช็คพิพาททั้ง 5 ฉบับในคดีทั้งสองสำนวนนี้ได้อีก ดังนั้น หนี้ที่จำเลยคดีนี้ได้ออกเช็คพิพาทตามฟ้องทั้งสองสำนวนนี้เพื่อใช้เงินนั้น เป็นอันสิ้นผลผูกพันไปก่อนที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด คดีจึงเป็นอันเลิกกันตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 7 สิทธิของโจทก์และโจทก์ร่วมในการนำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 ที่โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกาซึ่งสรุปสาระสำคัญได้ความทำนองเดียวกันว่า ตามสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งดังกล่าวนั้นโจทก์ร่วมและจำเลยคดีนี้ (จำเลยที่ 1 ในคดีแพ่งดังกล่าว)ประสงค์ยอมความกันในคดีส่วนแพ่งเท่านั้นไม่มีข้อความใดแสดงความประสงค์ที่จะให้สิทธิในการดำเนินคดีส่วนอาญาระงับไปหรือเลิกคดีส่วนอาญาอันเป็นทำนองอ้างว่าเป็นเรื่องที่โจทก์ร่วมและจำเลยคดีนี้ตกลงยอมความกันในคดีส่วนแพ่งมิได้เป็นการยอมความกันในคดีส่วนอาญาด้วย และโจทก์ฎีกาอ้างว่าสิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(3)นั้น ต้องเป็นกรณีที่คดีเลิกกันตามมาตรา 37 ซึ่งเป็นเรื่องเสียค่าปรับการเปรียบเทียบปรับ และเมื่อได้มีการเสียค่าปรับแล้วเท่านั้น และการประนีประนอมยอมความกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 852 นั้นเรื่องสิทธิในทางแพ่งที่แต่ละฝ่ายตกลงประนีประนอมยอมความกัน จึงได้สิทธิในทางแพ่งตามที่ตกลงกัน คดีทั้งสองสำนวนนี้เป็นคดีอาญา เมื่อจำเลยคดีนี้ถูกฟ้องดำเนินคดีแล้วและผู้เสียหาย(โจทก์ร่วม) ยังไม่ถอนคำร้องทุกข์สิทธินำคดีอาญามาฟ้องยังไม่ระงับไป นั้น เห็นว่า เป็นคนละเรื่องคนละกรณีกันกับคดีเลิกกันตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 7 เพราะคดีในส่วนอาญาจะเลิกกันตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 7 นั้น เป็นกรณีที่มูลหนี้ที่ผู้กระทำผิดได้ออกเช็คเพื่อใช้เงินนั้นได้สิ้นผลผูกพันไปก่อนที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีอาญา ดังนั้น เมื่อโจทก์ร่วมและจำเลยคดีนี้ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในคดีแพ่งดังกล่าวและศาลได้พิพากษาตามยอมคดีถึงที่สุดแล้ว ซึ่งผลของสัญญาประนีประนอมยอมความย่อมทำให้การเรียกร้องซึ่งแต่ละฝ่ายได้ยอมสละนั้นระงับสิ้นไปและทำให้แต่ละฝ่ายให้สิทธิตามที่แสดงในสัญญานั้นว่าเป็นของตน ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 852ดังวินิจฉัยมาข้างต้นแล้ว ซึ่งเป็นกรณีที่มูลหนี้ที่จำเลยคดีนี้ได้ออกเช็คพิพาททั้งสองสำนวนเพื่อใช้เงินนั้นได้สิ้นสุดผลผูกพันไปก่อนที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีอาญา คดีในส่วนอาญาจึงเป็นอันเลิกกันตามบทกฎหมาย มาตรา 7ดังกล่าว ซึ่งมีผลให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปอันเป็นอีกกรณีหนึ่งที่มิใช่กรณีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(3)ตามที่โจทก์อ้างในฎีกาและที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัย ส่วนการที่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งดังกล่าวไม่มีข้อตกลงอันจะถือว่าเป็นการยอมความในคดีส่วนอาญาก็ดี และผู้เสียหาย (โจทก์ร่วม) ยังไม่ถอนคำร้องทุกข์ก็ดี ตามที่โจทก์อ้างในฎีกานั้น ก็เป็นอีกกรณีหนึ่งที่สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์และโจทก์ร่วมยังไม่ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(2) เท่านั้น ซึ่งเป็นคนละเรื่องคนละกรณีกันกับคดีเลิกกันตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 7 ด้วยเหตุผลทำนองเดียวกันกับที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว ส่วนคำพิพากษาศาลฎีกาที่โจทก์อ้างมาในฎีกานั้นเป็นกรณีที่โจทก์ในคดีดังกล่าวฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในคดีเหล่านั้นตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 ซึ่งไม่มีบทบัญญัติให้คดีเลิกกันไว้เป็นพิเศษ เมื่อโจทก์ใช้สิทธิทางแพ่งโดยฟ้องเรียกเงินตามเช็คจากจำเลยและโจทก์จำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันต่อหน้าศาลและศาลพิพากษาตามยอม สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ในคดีเหล่านั้นจะระงับได้ต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39(2) ซึ่งใช้บังคับในขณะนั้น การที่สัญญาประนีประนอมยอมความไม่มีข้อตกลงอันจะถือว่าเป็นการยอมความในคดีส่วนอาญาเป็นเพียงเหตุที่สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ในคดีเหล่านั้นยังไม่ระงับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(2) เท่านั้น แต่คดีทั้งสองสำนวนนี้โจทก์และโจทก์ร่วมฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยคดีนี้ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ซึ่งมีบทบัญญัติให้คดีเลิกกันได้ตามมาตรา 7 ดังได้วินิจฉัยแล้ว ดังนั้น คำพิพากษาศาลฎีกาที่โจทก์อ้างมาจึงเป็นคนละเรื่องคนละกรณีกับกรณีในคดีทั้งสองสำนวนนี้ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยว่าคดีทั้งสองสำนวนนี้เป็นอันเลิกกันตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 7สิทธิของโจทก์ร่วมในการนำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป และพิพากษาให้จำหน่ายคดีทั้งสองสำนวนนี้ออกเสียจากสารบบความนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องในผล ฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share