แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องของโจทก์แล้ว เห็นว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จึงยกฟ้องโจทก์นั้น แม้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยไม่ใช้รูปแบบคำพิพากษา ก็ไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 141 แต่ประการใด
ส่วนการที่โจทก์ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของโจทก์จึงแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัย คือ จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 และสั่งพักราชการโจทก์ การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ราชการทั้งสิ้น ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 20, 21, 22 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดในมูลละเมิดที่จำเลยทั้งสามกระทำไปในการปฏิบัติหน้าที่ แต่อาจฟ้องหน่วยงานของรัฐได้ ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มาตรา 5 และเมื่อการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ดังนั้น ไม่ว่าการออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยและคำสั่งพักราชการโจทก์จะกระทำไปโดยถูกต้อง หรือปราศจากอำนาจหรือเป็นการจงใจทำละเมิดต่อจำเลยก็ตาม โจทก์ก็ชอบที่จะฟ้องให้หน่วยงานของรัฐรับผิด แต่จะฟ้องจำเลยทั้งสามไม่ได้ ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มาตรา 8
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดในข้อกฎหมายเบื้องต้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 24 แล้วพิพากษายกฟ้อง การที่โจทก์อุทธรณ์ขอให้ศาลชั้นต้นรับคำฟ้องไว้ เป็นการอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 227 ซึ่งต้องเสียค่าขึ้นศาล 200 บาท ตามตาราง 1 ข้อ 2 ข. ท้าย ป.วิ.พ. แต่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลในชั้นนี้อย่างคดีมีทุนทรัพย์ซึ่งไม่ถูกต้อง ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์มิได้อุทธรณ์ เมื่อศาลฎีกาเห็นสมควรย่อมมีอำนาจสั่งคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินให้แก่โจทก์ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบกระทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายและจงใจให้โจทก์เสียหาย กล่าวคือจำเลยที่ 1 ทำบันทึกถึงจำเลยที่ 2 กล่าวหาว่าโจทก์ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนหมิ่นประมาทจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาจนเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง และสั่งการให้จำเลยที่ 2 สืบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการให้สัมภาษณ์ของโจทก์ แล้วจำเลยที่ 2 และที่ 3 ด้วยเจตนาไม่สุจริตได้รายงานต่อจำเลยที่ 1 ว่า คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงมีความเห็นว่า โจทก์กล่าวข้อความหมิ่นประมาทจำเลยที่ 1 จริง จำเลยที่ 1 จึงออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยโจทก์ และในวันเดียวกันจำเลยที่ 1 ยังออกคำสั่งพักราชการโจทก์ด้วย จนโจทก์ครบเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 กันยายน 2541 อันเป็นการจงใจร่วมกันกลั่นแกล้งโจทก์ให้ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 593,000,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของค่าเสียหายดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยทั้งสามประกาศขอขมาโจทก์ในหนังสือพิมพ์รายวันและรายสัปดาห์ วิทยุและโทรทัศน์ไม่น้อยกว่า 7 ครั้ง เป็นเวลาครั้งละไม่น้อยกว่า 7 วัน ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันเสนอร่างกฎหมายต่อรัฐสภาเพื่อเยียวยาแก้ไขให้โจทก์กลับคืนสู่สถานะเดิม และให้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อกำหนดกฎ ระเบียบ และมาตรการป้องกันมิให้นักการเมืองใช้อำนาจข่มเหงรังแกข้าราชการประจำอีกต่อไป
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยทั้งสามตามที่โจทก์บรรยายฟ้องเป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ราชการในฐานะเจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐ ซึ่งหากโจทก์ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยทั้งสามก็ชอบที่จะฟ้องหน่วยงานของรัฐให้รับผิดต่อโจทก์ในผลแห่งละเมิดที่จำเลยทั้งสามกระทำต่อโจทก์ แต่จะฟ้องให้จำเลยทั้งสามรับผิดต่อโจทก์ไม่ได้ ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มาตรา 5 พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า การที่ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องของโจทก์แล้ววินิจฉัยว่า ตามคำฟ้องของโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยทั้งสามซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐรับผิดเป็นส่วนตัวและยกฟ้องโจทก์นั้น แม้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยไม่ใช้รูปแบบคำพิพากษาก็ไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. แต่ประการใด จึงไม่มีเหตุที่ศาลฎีกายกคำพิพากษาของศาลชั้นต้นตามที่โจทก์อุทธรณ์
ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามให้ร่วมกันรับผิดในมูลละเมิดที่จำเลยทั้งสามกระทำต่อโจทก์ เนื่องจากการกระทำของจำเลยทั้งสามไม่ใช่การกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 นั้น ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 20, 21 และ 22 กำหนดให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทย และกำหนดให้จำเลยที่ 2 ในฐานะปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการในกระทรวงดังกล่าวรองลงมาจากจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 3 มีหน้าที่รับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของสำนักงานเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและขึ้นตรงต่อจำเลยที่ 1 ขณะเกิดเหตุโจทก์รับราชการในกรมตำรวจ จำเลยที่ 1 จึงมีฐานะเป็นผู้บังคับบัญชาของโจทก์ เมื่อมีกรณีที่โจทก์ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง จำเลยที่ 1 จึงออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยโจทก์ ซึ่งต่อมาจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้รายงานข้อเท็จจริงต่อจำเลยที่ 1 ว่า โจทก์กล่าวข้อความหมิ่นประมาทจำเลยที่ 1 จริง เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ออกคำสั่งพักราชการโจทก์ การกระทำของจำเลยทั้งสามดังกล่าวจึงเป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ราชการทั้งสิ้น กรณีจึงต้องด้วยมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ที่บัญญัติว่า “หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ในกรณีนี้ผู้เสียหายอาจฟ้องหน่วยงานของรัฐดังกล่าวได้โดยตรง แต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้
” โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดในมูลละเมิดที่จำเลยทั้งสามกระทำไปในการปฏิบัติหน้าที่ แต่อาจฟ้องหน่วยงานของรัฐให้รับผิดต่อโจทก์ได้
อนึ่ง การที่ศาลชั้นต้นเห็นว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสาม และพิพากษายกฟ้อง เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดในข้อกฎหมายเบื้องต้นอันทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่อง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 24 การที่โจทก์อุทธรณ์ขอให้ศาลชั้นต้นรับคำฟ้องโจทก์ไว้ดำเนินคดีต่อไป เป็นการอุทธรณ์คำสั่งตามมาตรา 227 ซึ่งต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียง 200 บาท ตามตาราง 1 ข้อ 2 ข. ท้าย ป.วิ.พ. มิใช่เสียค่าขึ้นศาลตามทุนทรัพย์ แต่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลในชั้นนี้มาอย่างคดีมีทุนทรัพย์ ซึ่งไม่ถูกต้อง ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์มิได้ยกขึ้นอุทธรณ์ เมื่อศาลฎีกาเห็นสมควรย่อมมีอำนาจสั่งคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินมาแก่โจทก์ได้
พิพากษายืน คืนค่าขึ้นศาลชั้นนี้ส่วนที่เกิน 200 บาท ให้แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกานอกจากนี้ให้เป็นพับ.