คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1828/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้ค่าเสียหายที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์กำหนดเป็นค่าปลงศพจำนวน 50,000 บาท จะเป็นหนี้ที่โจทก์ทั้งสองมีสิทธิร่วมกันไม่อาจแบ่งแยกได้ แต่ในส่วนค่าขาดไร้อุปการะที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์กำหนดให้โจทก์ทั้งสองรวมกันจำนวน 200,000 บาท นั้น เป็นหนี้ที่สามารถแบ่งแยกเป็นส่วนของโจทก์แต่ละคนได้ทุนทรัพย์พิพาทชั้นฎีกาจึงต้องถือตามจำนวนค่าเสียหายที่โจทก์แต่ละคนมีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยทั้งสอง เมื่อแบ่งแยกค่าเสียหายในส่วนค่าขาดไร้อุปการะของโจทก์ทั้งสองคนละครึ่งเป็นเงินคนละ 100,000 บาท และนำไปรวมกันค่าเสียหายที่เป็นค่าปลงศพจำนวน 50,000 บาทแล้ว ทุนทรัพย์พิพาทชั้นฎีกาของโจทก์ทั้งสองแต่ละคนจึงไม่เกินคนละสองแสนบาท ย่อมต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรผู้เยาว์ของจำเลยที่ 2 ใช้อาวุธปืนยิงประทุษร้ายบุตรผู้เยาว์ของโจทก์ทั้งสองเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย การกระทำของจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลและค่าพาหนะ 13,425 บาท ค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น 306,505 บาท ค่าขาดไร้อุปการะ 300,000 บาท รวมเป็นเงิน 619,930 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 665,133.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 619,930 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น
จำเลยทั้งสองให้การว่า เหตุละเมิดเกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1 ค่ารักษาพยาบาลและค่าพาหนะไม่เกิน 2,000 บาท ค่าปลงศพไม่เกิน 15,000 บาท ค่าขาดไร้อุปการะไม่เกิน 20,000 บาท จำเลยที่ 2 ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลจำเลยที่ 1 แล้ว จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินจำนวน 263,425 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระแก่โจทก์ทั้งสองเสร็จสิ้น
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา ให้เสียเฉพาะค่าธรรมเนียมศาล 3,000 บาท
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยทั้งสองในมูลละเมิด โดยบรรยายในส่วนของค่าเสียหาย คือ ค่ารักษาพยาบาลและค่าพาหนะ 13,425 บาท ค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น 306,505 บาท และค่าขาดไร้อุปการะ 300,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมรับผิดชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมทั้งดอกเบี้ย ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายเป็นรักษาพยาบาลและค่าพาหนะ 13,425 บาท ค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น 50,000 บาท ค่าขาดไร้อุปการะแก่โจทก์ทั้งสอง 200,000 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2540 เป็นต้นไป ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยทั้งสองฎีกาว่าศาลล่างกำหนดค่าเสียหายที่เป็นค่าปลงศพและค่าขาดไร้อุปการะให้โจทก์ทั้งสองสูงเกินไป เห็นว่า แม้ค่าเสียหายที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์กำหนดเป็นค่าปลงศพมีจำนวน 50,000 บาท จะเป็นหนี้ที่โจทก์ทั้งสองมีสิทธิร่วมกันไม่อาจแบ่งแยกเป็นหนี้ของโจทก์แต่ละคนได้ แต่ในส่วนค่าขาดไร้อุปการะที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์กำหนดให้โจทก์ทั้งสองรวมกันมาจำนวน 200,000 บาท นั้น เป็นหนี้ที่สามารถแบ่งแยกเป็นส่วนของโจทก์แต่ละคน โดยโจทก์ทั้งสองสามารถฟ้องเรียกเฉพาะส่วนของตนโดยลำพังได้ ทุนทรัพย์พิพาทชั้นฎีกาจึงต้องถือตามจำนวนค่าเสียหายที่โจทก์แต่ละคนมีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยทั้งสอง เมื่อแบ่งแยกค่าเสียหายในส่วนค่าขาดไร้อุปการะของโจทก์ทั้งสองคนละครึ่งเป็นเงินคนละ 100,000 บาท และนำไปรวมกับค่าเสียหายที่เป็นค่าปลงศพจำนวน 50,000 บาทแล้ว ทุนทรัพย์พิพาทชั้นฎีกาของโจทก์ทั้งสองแต่ละคนจึงไม่เกินคนละสองแสนบาทย่อมต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง การที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าค่าเสียหายในส่วนของค่าปลงศพและค่าขาดไร้อุปการะที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้นั้นสูงเกินไป ถือว่าโต้แย้งดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ในการรับฟังพยานหลักฐาน เป็นฎีกาในข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาจำเลยทั้งสอง จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกฎีกาจำเลยทั้งสอง

Share