คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 436-437/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 10 และ ป. ขับรถเฉี่ยวชนกัน ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย และทำให้ทรัพย์สินของผู้ตายได้รับความเสียหาย ดังนั้นจำเลยที่ 10 และ ป. จึงเป็นผู้ครอบครองหรือเป็นผู้ควบคุมดูแลยานพาหนะอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล โดยผู้ตายไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการควบคุมหรือครอบครองเครื่องจักรกลที่ก่อให้เกิดความเสียหายด้วย จำเลยที่ 10 และ ป. จึงต้องรับผิดเพื่อการเสียหายอันเกิดจากยานพาหนะนั้นเว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าเกิดจากเหตุสุดวิสัยหรือเป็นเพราะความผิดของผู้เสียหายนั้นเอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 437 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์บรรยายฟ้องโดยเล่าข้อเท็จจริงถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า จำเลยที่ 10 และ ป. เป็นผู้ขับซึ่งถือเป็นผู้ควบคุมยานพาหนะที่เดินด้วยกำลังเครื่องจักรกลแล้วเกิดการเฉี่ยวชนกัน ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตายและทรัพย์สินได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 3 เป็นนายจ้าง ป.และเป็นเจ้าของรถลากจูงที่ ป. เป็นผู้ขับ ซึ่งเอาประกันไว้แก่จำเลยที่ 9 จึงขอให้ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 แม้จะมิได้บรรยายว่าเป็นความประมาทของฝ่ายใดหรือทั้งสองฝ่ายและขับรถประมาทกันอย่างไร ก็เป็นการบรรยายโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้ว คำฟ้องโจทก์ที่ 1 ในส่วนของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 9 ไม่เคลือบคลุมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง
สัญญาเช่าที่ทำขึ้นระหว่างจำเลยที่ 11 กับจำเลยร่วม ข้อ 7 ระบุว่า ผู้ให้เช่า (จำเลยร่วม) ต้องรับผิดต่อความเสียหายใด ๆ อันเกิดต่อผู้โดยสารในรถยนต์ที่นำมาให้เช่าและบุคคลภายนอกอันเป็นการสืบเนื่องมาจากการกระทำไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมของพนักงานขับรถ หรือบริษัทจำเลยผู้เช่า (จำเลยที่ 11) หรือผู้ให้เช่า (จำเลยร่วม) ดังนั้น แม้จำเลยร่วมจะมิใช่เป็นนายจ้างจำเลยที่ 10 และเป็นเพียงผู้ให้เช่ารถกระบะ แต่เมื่อมีเหตุละเมิดเกิดขึ้นและทำให้จำเลยที่ 11 มีสิทธิที่จะไล่เบี้ยให้จำเลยร่วมต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 11 จำเลยที่ 11 ย่อมมีอำนาจขอให้ศาลมีหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีได้เพื่อให้การพิจารณาพิพากษาเสร็จไปในคราวเดียว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3)
โจทก์ที่ 1 บรรยายฟ้อง ตั้งสภาพแห่งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาของจำเลยที่ 5 ถึงที่ 8 ว่า จำเลยที่ 5 ในฐานะตัวการหรือนายจ้างของ ป. ส่วนจำเลยที่ 6 ถึงที่ 8 เป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 5 ไม่ได้บรรยายให้เห็นว่า การที่ ป. ขับรถลากจูงนั้นเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์หรือในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 5 จึงเป็นคำฟ้องเคลือบคลุม จำเลยที่ 5 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 และทำให้จำเลยที่ 6 ถึงที่ 8 ไม่ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 ด้วย ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหาข้อนี้ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ที่ 1 ฟังไม่ขึ้น

ย่อยาว

เดิมสำนวนหลังเป็นคดีหมายเลขดำที่ 1048/2548 หมายเลขแดงที่ 396/2550 ของศาลจังหวัดชุมพร ซึ่งระหว่างพิจารณาคดีดังกล่าว โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลจังหวัดชุมพรจึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ และต่อมาได้โอนคดีดังกล่าวมาพิจารณาพิพากษาคดีที่ศาลชั้นต้น
คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกโจทก์ในสำนวนแรกว่า โจทก์ที่ 1 และเรียกโจทก์ในสำนวนหลังว่า โจทก์ที่ 2 เรียกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 ในสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 ตามลำดับ และเรียกจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ในสำนวนหลังว่า จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ตามสำนวนแรก
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องเป็นใจความว่าขอให้บังคับจำเลยทั้งสิบสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,246,989 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 1,166,774 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 ให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ร่วมกันชำระเงิน 775,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 2
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 และที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 5 ถึงที่ 11 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 11 ขอให้เรียกบริษัทรังสรรค์การท่องเที่ยว จำกัด เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยร่วมขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสิบสองร่วมกันชำระเงินเป็นค่าเสียหายในทรัพย์สินของนางมนัส ผู้ตาย แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 1,008,400 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 26 มกราคม 2548 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยถึงวันที่ 25 มกราคม 2549 อันเป็นวันฟ้อง ต้องไม่เกินจำนวน 80,215 บาท ตามที่โจทก์ที่ 1 ขอ ให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ร่วมกันชำระเงินเป็นค่าเสียหายในทรัพย์สินของผู้ตายแก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 220,000 บาท ตามที่โจทก์ที่ 2 ขอ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 2 แต่ความรับผิดของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ที่จะต้องชำระแก่โจทก์ทั้งสองรวมกันแล้วไม่เกินจำนวน 1,008,400 บาท กับให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ร่วมกันชำระเงินค่าเสียหายในความตายของผู้ตายและค่ารักษาพยาบาลแก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 243,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 2 กับให้จำเลยทั้งสิบสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ที่ 1 และให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ที่ 2 โดยกำหนดค่าทนายความให้โจทก์ทั้งสองคนละ 10,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ยกฟ้องโจทก์ที่ 1 สำหรับจำเลยร่วม ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยร่วมให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 ถึงที่ 9 ที่ 11 และที่ 12 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 9 ถึงที่ 12 และจำเลยร่วมร่วมกันชำระค่าเสียหายในทรัพย์สินของนางมนัส ผู้ตาย แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 580,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 26 มกราคม 2548 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ในหนี้จำนวนดังกล่าว ให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ร่วมกันชำระค่าเสียหายในทรัพย์สินของผู้ตายแก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 220,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ตามที่โจทก์ที่ 2 ขอ แต่ความรับผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องไม่เกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตน และความรับผิดของจำเลยที่ 11 ในการกระทำความผิดของนายประสานหรือประสาร เมื่อรวมทั้งหมดต้องไม่เกินกว่า 600,000 บาท ตามที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ กับให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ร่วมกันชำระค่าขาดไร้อุปการะและค่ารักษาพยาบาลโจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 243,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 2 แต่ความรับผิดของจำเลยที่ 1 ต้องไม่เกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ ยกฟ้องโจทก์ที่ 1 ในส่วนจำเลยที่ 5 ถึงที่ 8 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 5 ถึงที่ 8 ทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ที่ 1 จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 ที่ 9 ที่ 11 และจำเลยร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์ที่ 2 เป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของนางมนัส ผู้ตาย โจทก์ที่ 1 เป็นบุตรของโจทก์ที่ 2 กับผู้ตาย จำเลยที่ 1 เป็นภริยาของนายประสานหรือประสาร จำเลยที่ 2 เป็นบุตรของนายประสาน จำเลยที่ 3 เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดโดยมีจำเลยที่ 4 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยที่ 3 เป็นเจ้าของรถลากจูงหมายเลขทะเบียน 70 – 1274 ชุมพร และเป็นผู้เอาประกันภัยรถลากจูงไว้แก่จำเลยที่ 9 จำเลยที่ 5 จดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการขนส่ง จำเลยที่ 6 ถึงที่ 8 เป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 5 จำเลยที่ 11 เดิมเป็นรัฐวิสาหกิจ ต่อมาแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนตามพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 จำเลยที่ 10 เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 11 จำเลยที่ 11 เช่ารถยนต์จากจำเลยร่วมทั้งหมดจำนวน 294 คัน เพื่อนำมาใช้ในกิจการของจำเลยที่ 11 โดยรวมรถกระบะหมายเลขทะเบียน วน 3569 กรุงเทพมหานคร ด้วย รถกระบะดังกล่าวนี้ได้ทำสัญญาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 12 เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2548 จำเลยที่ 10 ขับรถกระบะดังกล่าวไปไขเอาเหรียญจากตู้โทรศัพท์สาธารณะ ขากลับเมื่อจำเลยที่ 10 ขับรถมาถึงบริเวณสามแยกบ้านกาเนะ หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านควน อำเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูล นายประสานขับรถลากจูงตามมาด้านหลัง จำเลยที่ 10 จะเปลี่ยนช่องเดินรถไปทางขวา เป็นเหตุให้เฉี่ยวชนกับรถลากจูง รถลากจูงเสียหลักข้ามเกาะกลางถนนไปชนบ้านจนได้รับความเสียหายจำนวน 3 หลัง รวมทั้งบ้านของผู้ตายเลขที่ 189 ได้รับความเสียหายพังทั้งหลัง นายประสานและผู้ตายถึงแก่ความตาย และโจทก์ที่ 2 ได้รับบาดเจ็บ หลังเกิดเหตุพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนแล้วมีความเห็นว่า เหตุรถชนเป็นความประมาทของคนขับรถทั้งสองคัน จำเลยที่ 10 ให้การรับสารภาพในข้อหาขับรถโดยประมาท ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 10 คดีถึงที่สุดแล้ว
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 9 เป็นประการแรกว่า คำฟ้องโจทก์ที่ 1 ในส่วนของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 9 เคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 10 และนายประสานขับรถเฉี่ยวชนกัน ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย และทำให้ทรัพย์สินของผู้ตายได้รับความเสียหาย ดังนั้นจำเลยที่ 10 และนายประสานจึงเป็นผู้ครอบครองหรือเป็นผู้ควบคุมดูแลยานพาหนะอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล โดยผู้ตายไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการควบคุมหรือครอบครองเครื่องจักรกลที่ก่อให้เกิดความเสียหายด้วย จำเลยที่ 10 และนายประสานจึงต้องรับผิดเพื่อการเสียหายอันเกิดจากยานพาหนะนั้นเว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าเกิดจากเหตุสุดวิสัยหรือเป็นเพราะความผิดของผู้เสียหายนั้นเอง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 437 วรรคหนึ่ง โจทก์ที่ 1 ย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายเพราะเป็นหน้าที่ของผู้ครอบครองหรือผู้ควบคุมดูแลยานพาหนะที่เดินด้วยกำลังเครื่องจักรกลจะต้องให้การและมีภาระการพิสูจน์ว่าไม่ต้องรับผิดเพราะสาเหตุตามกฎหมายข้อใด การที่โจทก์บรรยายฟ้องโดยเล่าข้อเท็จจริงถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า จำเลยที่ 10 และนายประสานเป็นผู้ขับซึ่งถือเป็นผู้ควบคุมยานพาหนะที่เดินด้วยกำลังเครื่องจักรกลแล้วเกิดการเฉี่ยวชนกัน ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตายและทรัพย์สินได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 3 เป็นนายจ้างนายประสานและเป็นเจ้าของรถลากจูงที่นายประสานเป็นผู้ขับ ซึ่งเอาประกันไว้แก่จำเลยที่ 9 จึงขอให้ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 แม้จะมิได้บรรยายว่าเป็นความประมาทของฝ่ายใดหรือทั้งสองฝ่ายและขับรถประมาทกันอย่างไร ก็เป็นการบรรยายโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้ว เพราะจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 9 สามารถให้การต่อสู้คดีได้ ทั้งเป็นเรื่องรายละเอียดที่จะนำสืบในชั้นพิจารณา คำฟ้องโจทก์ที่ 1 ในส่วนของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 9 ไม่เคลือบคลุม ฎีกาจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 9 ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยร่วมว่า จำเลยร่วมต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 ด้วยดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาหรือไม่ จำเลยร่วมฎีกาว่า จำเลยร่วมเป็นเพียงผู้ให้เช่ารถกระบะแก่จำเลยที่ 11 แม้ในสัญญาเช่าจะมีข้อความให้จำเลยร่วมรับผิดในความเสียหายต่อบุคคลภายนอกไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อมของพนักงานขับรถ ก็เป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรม เห็นว่า สัญญาเช่า ที่ทำขึ้นระหว่างจำเลยที่ 11 กับจำเลยร่วม เป็นสัญญาที่จำเลยที่ 11 เช่ารถยนต์จากจำเลยร่วมไปใช้ในกิจการของจำเลยที่ 11 เป็นจำนวนมากถึง 249 คัน เป็นสัญญาต่างตอบแทนที่ต่างฝ่ายต่างได้รับผลประโยชน์ในการทำธุรกิจด้วยกัน ไม่ปรากฏมีข้อเท็จจริงที่จำเลยร่วมต้องอยู่ในสภาพที่จำเลยที่ 11 บีบบังคับให้จำเลยร่วมตกอยู่ในสถานะจำยอมต้องทำสัญญาเช่ากับจำเลยที่ 11 เชื่อว่าสาเหตุที่จำเลยร่วมเข้าทำสัญญาเช่ากับจำเลยที่ 11 เป็นเพราะจำเลยร่วมได้พิจารณาแล้วว่าแม้ให้จำเลยร่วมต้องรับผิดในการขับรถของพนักงานบริษัทจำเลยที่ 11 ด้วย จำเลยร่วมก็จะได้ผลประโยชน์ตอบแทนที่คุ้มค่า ไม่ถือเป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ดังนั้น แม้จำเลยร่วมจะมิใช่เป็นนายจ้างจำเลยที่ 10 และเป็นเพียงผู้ให้เช่ารถกระบะ แต่เมื่อมีเหตุละเมิดเกิดขึ้นและทำให้จำเลยที่ 11 มีสิทธิที่จะไล่เบี้ยให้จำเลยร่วมต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 11 ตามสัญญาเช่ารถยนต์ระหว่างจำเลยที่ 11 กับจำเลยร่วมข้อ 7 ซึ่งระบุว่า ผู้ให้เช่า (จำเลยร่วม) ต้องรับผิดต่อความเสียหายใด ๆ อันเกิดต่อผู้โดยสารในรถยนต์ที่นำมาให้เช่าและบุคคลภายนอกอันเป็นการสืบเนื่องมาจากการกระทำไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมของพนักงานขับรถหรือบริษัทของผู้เช่า (จำเลยที่ 11) หรือผู้ให้เช่า (จำเลยร่วม) เอง ดังนี้ จำเลยที่ 11 ย่อมมีอำนาจขอให้ศาลมีหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีได้เพื่อให้การพิจารณาพิพากษาเสร็จไปในคราวเดียว เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 10 พนักงานขับรถบริษัทจำเลยที่ 11 ได้ขับรถกระบะหมายเลขทะเบียน วน 3569 กรุงเทพมหานคร ซึ่งจำเลยที่ 11 เช่ามาจากจำเลยร่วมด้วยความประมาทชนกับรถลากจูงหมายเลขทะเบียน 70 – 1274 ชุมพร ที่นายประสาน เป็นผู้ขับเป็นเหตุให้นางมนัส ผู้ตาย และนายประสานถึงแก่ความตาย โจทก์ที่ 2 ได้รับบาดเจ็บ และบ้านของผู้ตายได้รับความเสียหายพังทั้งหลัง จำเลยร่วมจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในมูลเหตุละเมิดดังกล่าวแก่โจทก์ที่ 1 บุตรผู้ตาย ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกตามสัญญาเช่ารถยนต์ระหว่างจำเลยที่ 11 กับจำเลยร่วมข้อ 7 ดังกล่าว ฎีกาของจำเลยร่วมฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของโจทก์ที่ 1 ว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายกฟ้องโจทก์ที่ 1 ในส่วนของจำเลยที่ 5 ถึงที่ 8 เพราะเป็นคำฟ้องเคลือบคลุม ชอบแล้วหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ที่ 1 บรรยายฟ้อง ตั้งสภาพแห่งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาของจำเลยที่ 5 ถึงที่ 8 ว่า จำเลยที่ 5 ในฐานะตัวการหรือนายจ้างของนายประสาน ส่วนจำเลยที่ 6 ถึงที่ 8 เป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 5 ไม่ได้บรรยายให้เห็นว่า การที่นายประสานขับรถลากจูงนั้นเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์หรือในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 5 จึงเป็นคำฟ้องเคลือบคลุม จำเลยที่ 5 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 และทำให้จำเลยที่ 6 ถึงที่ 8 ไม่ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 ด้วย ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหาข้อนี้ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ความรับผิดของจำเลยที่ 9 ในการกระทำละเมิดของนายประสานหรือประสาร เมื่อรวมทั้งหมดต้องไม่เกิน 600,000 บาท ตามที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ ส่วนจำเลยที่ 11 ไม่จำกัดความรับผิด นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 9 ถึงที่ 12 และจำเลยร่วม และค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ที่ 2 กับจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ในศาลชั้นต้น กับค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share