คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1304/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ผู้ซื้อที่ดินจากการขายทอดตลาดเป็นผู้จ่ายเงินค่าซื้อที่ดินอันเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แก่ผู้ขายอสังหาริมทรัพย์ จึงมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 50 (5) และภาษีที่คำนวณหักไว้ให้นำส่งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในขณะที่ดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดิน เงินภาษีจำนวน 5,486,200 บาท ที่โจทก์ขอคืนในคดีนี้ เป็นเงินที่ผู้จ่ายเงินได้หักภาษี ณ ที่จ่ายนำส่งพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 52 วรรคสอง เมื่อต่อมาศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาด และเจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือลงวันที่ 9 ธันวาคม 2551 แจ้งไปยังเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร ให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์และให้คู่สัญญากลับสู่ฐานะเดิม อันมีผลเท่ากับโจทก์ไม่ได้ซื้อที่ดินจากการขายทอดตลาด และไม่มีหน้าที่ต้องนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่ายต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การฟ้องขอคืนเงินภาษีจากจำเลยในคดีนี้จึงไม่ใช่การขอคืนเงินภาษีและภาษีที่ถูกหักไว้ ณ ที่จ่ายและนำส่งแล้วเป็นจำนวนเกินกว่าที่ควรต้องเสียภาษี หรือไม่มีหน้าที่ต้องเสียที่อยู่ภายใต้บังคับที่จะต้องยื่นคำร้องขอภายในสามปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นรายการภาษีตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 27 ตรี วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีสิทธิขอคืนเงินภาษี 5,486,200 บาท จากจำเลย
ก่อนที่ศาลมีคำสั่งถึงที่สุดให้เพิกถอนการขายทอดตลาด โจทก์มีหน้าที่นำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่ายตามกฎหมาย และจำเลยรับเงินภาษีที่มีการนำส่งดังกล่าวโดยมีสิทธิตามกฎหมาย การที่ศาลมีคำสั่งถึงที่สุดให้เพิกถอนการขายทอดตลาดเป็นเหตุที่เกิดขึ้นภายหลังและมิใช่เหตุที่จะโทษจำเลยได้ จำเลยจึงยังไม่มีความรับผิดใด ๆ ที่จะต้องคืนเงินภาษีและดอกเบี้ยแก่โจทก์ แต่เมื่อต่อมามีการเพิกถอนการขายทอดตลาด และโจทก์ได้ยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2552 ทวงถามให้จำเลยคืนเงินดังกล่าว กรณีเป็นหนี้เงิน จำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัดไม่ชำระหนี้และต้องรับผิดใช้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 29 มกราคม 2552 เป็นต้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 204 วรรคหนึ่ง และมาตรา 224 วรรคหนึ่ง มิใช่นับแต่วันที่โจทก์ชำระเงิน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้จำเลยชำระเงิน 9,430,853 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ของต้นเงิน 5,486,200 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 5,486,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 26 มกราคม 2547 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังยุติตามที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันว่า โจทก์ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 57 ตำบลลำผักชี อำเภอหนองจอก (เจียระดับ) กรุงเทพมหานคร เป็นเงิน 24,020,000 บาท ตามประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีพื้นที่เขตมีนบุรีตาม ต่อมาวันที่ 26 มกราคม 2547 มีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ โดยโจทก์เป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียม 938,165 บาท ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 5,486,200 บาท รวมเป็นเงิน 6,424,365 บาท ตามข้อตกลงระหว่างกรมบังคับคดีและผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดที่กำหนดให้ผู้ซื้อชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแทนผู้ขาย เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2548 ศาลจังหวัดมีนบุรีมีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินแปลงดังกล่าว โจทก์ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลจังหวัดมีนบุรีต่อศาลอุทธรณ์ ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนอุทธรณ์ สำนักงานบังคับคดีพื้นที่เขตมีนบุรีมีหนังสือแจ้งไปยังเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาหนองจอกให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์และให้คู่สัญญากลับสู่ฐานะเดิม และกรมบังคับคดีได้คืนเงินค่าซื้อที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ ต่อมาวันที่ 29 มกราคม 2552 โจทก์ยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากร (ค.10) ขอคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 5,486,200 บาท จำเลยมีหนังสือแจ้งไม่คืนเงินภาษีอากร โจทก์จึงฟ้องเป็นคดีนี้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการแรกว่า จำเลยต้องคืนเงินภาษีอากรพร้อมดอกเบี้ยตามฟ้องแก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด จำเลยอุทธรณ์ว่า เงินภาษีอากรที่โจทก์ขอคืนเป็นเงินที่โจทก์นำส่งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในขณะที่โจทก์รับโอนที่ดินที่ซื้อจากการขายทอดตลาด เป็นการนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่าย ตามที่กำหนดในมาตรา 52 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากโจทก์เป็นผู้ซื้อที่ดินและเป็นผู้จ่ายเงินค่าที่ดินอันเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (8) แก่ผู้ขาย มิใช่การชำระค่าภาษีเงินได้แทนผู้ขายดังที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัย โจทก์มีหน้าที่ยื่นรายการตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 59 กรณีของโจทก์จึงอยู่ภายใต้บังคับมาตรา 27 ตรี ที่ต้องยื่นคำร้องขอคืนภาษีอากรภายใน 3 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นรายการภาษีตามที่กฎหมายกำหนด โจทก์ต้องยื่นคำร้องขอคืนภาษีอากรภายในสามปีนับแต่วันที่ 26 มกราคม 2547 ซึ่งเป็นวันนำส่งเงินภาษีและเป็นวันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นรายการตามที่กฎหมายกำหนดไว้ แต่โจทก์ยื่นคำร้องขอคืนภาษีอากรคดีนี้เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2552 ซึ่งพ้นกำหนดเวลาตามมาตรา 27 ตรี แล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิรับเงินภาษีอากรคืนนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่า ประมวลรัษฎากร มาตรา 27 ตรี บัญญัติว่า “เว้นแต่จะมีบทบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น การขอคืนภาษีอากรและภาษีที่ถูกหักไว้ ณ ที่จ่าย และนำส่งแล้วเป็นจำนวนเกินกว่าที่ควรต้องเสียภาษี หรือไม่มีหน้าที่ต้องเสีย ให้ผู้มีสิทธิขอคืนยื่นคำร้องขอคืนภายในสามปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นรายการภาษีตามที่กฎหมายกำหนด..” เป็นบทบัญญัติที่ใช้บังคับแก่การขอคืนภาษีอากรและภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายและนำส่งแล้วเป็นจำนวนเกินกว่าที่ควรต้องเสียภาษีหรือไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีในกรณีทั่วๆ ไปที่ประมวลรัษฎากรมิได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นโดยเฉพาะ แต่กรณีนี้โจทก์เป็นผู้ซื้อที่ดินจากการขายทอดตลาดเป็นผู้จ่ายเงินค่าซื้อที่ดินอันเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แก่ผู้ขายอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจึงมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ไว้ทุกคราวที่จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 50 (5) แห่งประมวลรัษฎากร และภาษีที่คำนวณหักไว้ตามมาตรา 50 (5) ให้นำส่งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในขณะที่ดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดิน เงินภาษีจำนวน 5,486,200 บาท ที่โจทก์ขอคืนในคดีนี้ เป็นเงินที่ผู้จ่ายเงินได้หักภาษี ณ ที่จ่ายส่งพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 52 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อต่อมาศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินที่โจทก์ซื้อมา และเจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือลงวันที่ 9 ธันวาคม 2551 แจ้งไปยังเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร ให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์และให้คู่สัญญากลับสู่ฐานะเดิม อันมีผลเท่ากับว่าโจทก์ไม่ได้ซื้อที่ดินจากการขายทอดตลาด และไม่มีหน้าที่ต้องนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่ายต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การฟ้องขอคืนเงินภาษีจากจำเลยในคดีนี้จึงไม่ใช่การขอคืนเงินภาษีและภาษีที่ถูกหักไว้ ณ ที่จ่ายและนำส่งแล้วเป็นจำนวนเกินกว่าที่ควรต้องเสียภาษี หรือไม่มีหน้าที่ต้องเสียที่อยู่ภายใต้บังคับที่จะต้องยื่นคำร้องขอคืนภายในสามปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นรายการภาษีตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 27 ตรี วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร ดังที่จำเลยอุทธรณ์ โจทก์จึงมีสิทธิขอคืนเงินภาษี 5,486,200 บาท จากจำเลย ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่โจทก์ชำระภาษี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 ไม่ถูกต้องนั้น เห็นว่า ก่อนที่ศาลมีคำสั่งถึงที่สุดให้เพิกถอนการขายทอดตลาด โจทก์มีหน้าที่นำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่ายตามกฎหมาย และจำเลยรับเงินภาษีที่มีการนำส่งดังกล่าวโดยมีสิทธิตามกฎหมาย การที่ศาลมีคำสั่งถึงที่สุดให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินที่โจทก์เป็นผู้ซื้อเป็นเหตุที่เกิดขึ้นภายหลังและมิใช่เหตุที่จะโทษจำเลยได้จำเลยจึงยังไม่มีความรับผิดใดๆ ที่จะต้องคืนเงินภาษีและดอกเบี้ยแก่โจทก์ แต่เมื่อต่อมามีการเพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินที่โจทก์ซื้อ และโจทก์ได้ยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2552 ทวงถามให้จำเลยคืนเงินดังกล่าว กรณีเป็นหนี้เงิน จำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัดไม่ชำระหนี้และต้องรับผิดใช้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 29 มกราคม 2552 เป็นต้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 204 วรรคหนึ่ง และมาตรา 224 วรรคหนึ่งมิใช่นับแต่วันที่โจทก์ชำระเงินดังที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัย ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยคืนเงินภาษีพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่โจทก์ชำระค่าภาษี จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากร อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น อุทธรณ์ข้ออื่นของจำเลยไม่จำต้องวินิจฉัย เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยคืนเงินภาษีอากร 5,486,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 29 มกราคม 2552 แก่โจทก์นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share