แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำว่า โดยสุจริตของผู้ซื้อทรัพย์สินในการขายทอดตลาดของศาลหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1330 นั้น หมายความว่า ผู้ซื้อไม่รู้ว่ามิใช่ทรัพย์ของจำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลผู้ล้มละลาย และในการวินิจฉัยว่าผู้ซื้อสุจริตหรือไม่ย่อมอาศัยพฤติการณ์ต่างๆ ทั้งก่อนและในขณะซื้อประกอบกัน หาใช่ต้องพิจารณาเฉพาะแต่ในเวลาซื้อเท่านั้นไม่ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์รู้มาแต่แรกก่อนเข้าประมูลซื้อแล้วว่าที่พิพาทที่เจ้าพนักงานบังคับคดีทำการขายทอดตลาดมิใช่ของลูกหนี้ ตามคำพิพากษา ย่อมฟังไม่ได้ว่าโจทก์เป็นผู้ซื้อโดยสุจริตในการขายทอดตลาดทรัพย์สินดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ซื้อทรัพย์ตามประกาศขายทอดตลาดของลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 4/2507 ของศาลจังหวัดสระบุรีระหว่างนางทองคำ เผือกพิบูลย์ กับพวก โจทก์ นายสมเกียรติ จิตรธรรม จำเลย คือ ที่ดิน ส.ค.1 เลขที่ 25 หมู่ที่ 8 ตำบลท่าคล้อ อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ในราคา 25,000 บาท ต่อมาพนักงานเจ้าหน้าที่อำเภอแก่งคอยได้ออกไปรังวัดเพื่อออก น.ส.3 และจดทะเบียนตามคำขอของโจทก์และตามคำสั่งศาล จำเลยทั้งหมดได้คัดค้านและบุกรุกที่ดินของโจทก์ ขอให้พิพากษาว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ ให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ที่ดินพิพาทนี้เป็นที่ดินคนละแปลงกับที่ดินส.ค.1 เลขที่ 25 ของนายสมเกียรติ จิตรธรรม การยึดและขายทอดตลาดเกิดจากการทุจริตร่วมกันระหว่างนายเฉลียงจ่าศาลจังหวัดสระบุรี โดยร่วมกับนายสมเกียรติ จิตรธรรม ลูกหนี้ตามคำพิพากษาและโจทก์ในคดีดังกล่าวซึ่งเป็นสามีภริยากัน ทั้งเป็นการยึดทรัพย์ที่เกินกว่าที่พอชำระหนี้อันเป็นการฝ่าฝืนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 284 และจำเลยยังถูกหลอกลวงให้หลงเชื่อไม่ให้ร้องขัดทรัพย์ ซึ่งผลที่สุดเป็นเหตุให้ที่พิพาทหนี้ถูกขายทอดตลาดไป โจทก์เป็นผู้ซื้อทรัพย์โดยไม่สุจริตไม่ได้สิทธิในที่ดิน
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ซื้อที่ดินจากการขายทอดตลาดโดยไม่สุจริตพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ข้อเท็จจริงได้ความต้องกันมาว่า โจทก์และนายสมเกียรติ จิตรธรรม ลูกหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งเป็นสามีภริยาแต่ได้หย่ากันทางทะเบียนเพื่อประโยชน์ทางคดีได้ร่วมกับเจ้าพนักงานบังคับคดีของศาลในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 4/2507 ของศาลจังหวัดสระบุรี โดยไม่สุจริต วางแผนให้มีการยึดที่พิพาทซึ่งเป็นของจำเลยแทนที่จะยึดที่ของลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่โจทก์เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้นำยึดและได้หลอกให้จำเลยเข้าใจผิดไม่ดำเนินการร้องขัดทรัพย์ แล้วโจทก์ได้เข้าสู้ราคาและซื้อได้โดยให้ราคาท่วมท้นหนี้และค่าธรรมเนียมในคดี เป็นผลให้ผู้แพ้คดีได้รับเงินที่เหลือจากต้องชำระหนี้ตามคำพิพากษาและไม่ต้องถูกบังคับขายที่ดินและเรือนที่ถูกยึดไว้ก่อนแล้ว ข้อเท็จจริงนี้โจทก์มิได้ฎีกาโต้แย้ง คงมีประเด็นที่โจทก์ฎีกาโต้แย้งว่าความสุจริตหรือไม่สุจริตของผู้ซื้อตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1330 หมายเฉพาะในเวลาซื้อเท่านั้น จะนำเหตุการณ์ก่อนมีการขายทอดตลาดมาพิจารณามิได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1330บัญญัติว่า “สิทธิของบุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินโดยสุจริตในการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลหรือคำสั่งเจ้าพนักงานรักษาทรัพย์ในคดีล้มละลายนั้น ท่านว่ามิเสียไป ถึงแม้ภายหลังจะพิสูจน์ได้ว่าทรัพย์สินนั้นมิใช่ของจำเลยหรือลูกหนี้โดยคำพิพากษาหรือผู้ล้มละลาย” บทบัญญัติมาตรานี้บัญญัติคุ้มครองผู้ซื้อทรัพย์โดยสุจริตจากการขายทอดตลาดของศาลหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ คำว่า โดยสุจริต ในมาตรานี้มีความหมายว่า ไม่รู้ว่ามิใช่ทรัพย์ของจำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลผู้ล้มละลาย ในการที่จะวินิจฉัยว่าผู้ซื้อสุจริตหรือไม่ ย่อมต้องพิจารณาพฤติการณ์ต่าง ๆ ทั้งก่อนและในขณะซื้อประกอบกันว่าผู้ซื้อรู้อยู่หรือไม่ว่าทรัพย์ที่ตนซื้อจากการขายทอดตลาดมิใช่ของจำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือของบุคคลผู้ล้มละลาย และย่อมเป็นอำนาจของศาลที่จะหยิบยกเอาพฤติการณ์ต่าง ๆ ที่ได้ความจากการนำสืบของคู่ความมาประมวลฟังข้อเท็จจริงว่าสุจริตหรือไม่ หาใช่จำกัดต้องพิจารณาเฉพาะแต่ในเวลาซื้อเท่านั้น
ข้อเท็จจริงคดีนี้ฟังได้ว่า โจทก์รู้มาแต่แรกและแม้ในขณะเข้าประมูลซื้อว่าที่พิพาทที่เจ้าพนักงานบังคับคดีทำการขายทอดตลาดเป็นของจำเลยมิใช่ของนายสมเกียรติ จิตรธรรม ลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 4/2507 จึงฟังไม่ได้ว่าเป็นผู้ซื้อโดยสุจริตตามมาตรา 1330
พิพากษายืน