แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินผลประโยชน์ตอบแทนในการจำหน่ายสินค้าพร้อมดอกเบี้ยรวมจำนวน 81,391.75 บาทแก่โจทก์ แต่จำนวนเงินและดอกเบี้ยที่โจทก์แต่ละคนมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองทั้งสองร่วมกันรับผิดชำระให้นั้นมีส่วนเท่า ๆ กันคนละ 40,695,875 บาท ไม่ใช่เป็นหนี้ร่วมที่ไม่อาจแบ่งแยกได้จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ไม่เกินห้าหมื่นบาท และเมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2529 จำเลยที่ 1 เปิดแผนกจำหน่ายสินค้าคือแผนกกอปปี้ไกด์ หรือแผนกอุปกรณ์เขียนภาพเหมือนขึ้น และจำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัวและในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจได้มอบหมายให้โจทก์ทั้งสองเข้าดำเนินการบริหารงานในแผนกนี้ทั้งหมด มีข้อตกลงว่าโจทก์ทั้งสองจะไม่รับค่าตอบแทนเป็นเงินเดือน หากแต่จะรับเป็นเงินที่เกิดจากยอดจำหน่ายสินค้าในแผนกนี้ ในการคิดคำนวณผลประโยชน์ตอบแทนมีหลักดังนี้ เมื่อจำหน่ายสินค้าในแผนกนี้ในอัตราชุดละ 69 บาทได้เป็นจำนวนเท่าใดและเป็นเงินเท่าใดแล้วในรอบ 1 เดือน ให้เอายอดจำหน่ายสินค้าที่ขายได้เป็นตัวตั้งหักด้วยค่าใช้จ่ายในแผนก 4 รายการคือหักค่าต้นทุนการผลิตคืนบริษัท จำนวนชุดละ 25 บาท หักค่าส่วนลดให้ลูกค้า (ตัวแทนจำหน่าย) จำนวน 25-30 เปอร์เซ็นต์ ของราคาสินค้าที่จำหน่าย หักให้พนักงานขาย 5 เปอร์เซ็นต์ ของยอดขาย หักค่าใช้จ่ายอื่น เฉพาะในแผนกก็อปปี้ไกด์ แต่ละเดือน เมื่อหักค่าใช้จ่ายดังกล่าวแล้ว เหลือเป็นกำไรสุทธิซึ่งโจทก์ทั้งสองกับจำเลยทั้งสองจะได้รับด้วยกันและเท่า ๆ กัน โดย จัดแบ่งเป็น 4 ส่วน เมื่อระหว่างวันที่ 1 ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2529 โจทก์ทั้งสองจำหน่ายสินค้าได้ 1,591 ชุด เป็นเงิน 109,779 บาท เมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วมีกำไรสุทธิ 33,703.92 บาท โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสองจะได้ส่วนแบ่งคนละ 8,425.98 บาท และระหว่างวันที่ 1 ถึง 31 มีนาคม2529 จำหน่ายสินค้าได้จำนวน 2,975 ชุด คิดเป็นเงิน 202,315 บาทเมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้ว มีกำไรสุทธิที่ต้องแบ่ง 67,002.17 บาทโจทก์และจำเลยทั้งสองจะได้ส่วนแบ่งคนละ 16,750 บาท และระหว่างวันที่ 1 ถึง 30 เมษายน 2529 จำหน่ายสินค้าได้จำนวน 2,420 ชุดคิดเป็นเงิน 164,688 บาท เมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วมีกำไรสุทธิที่ต้องแบ่ง 52,814.86 บาท โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสองจะได้รับส่วนแบ่งคนละ 13,203.71 บาท และในระหว่างวันที่ 1 ถึง 31พฤษภาคม 2529 จำหน่ายสินค้าได้จำนวน 1,890 ชุด คิดเป็นเงิน130,410 บาท เมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วมีกำไรสุทธิที่ต้องแบ่ง28,036.62 บาท จะได้รับส่วนแบ่งคนละ 7,009.15 บาท นอกจากนี้โจทก์ทั้งสองยังจำหน่ายอุปกรณ์เขียนภาพเหมือนให้แก่นายวินัยไม่ทราบนามสกุล ในราคาชุดละ 38 บาท จำนวน 700 ชุดเป็นเงิน 26,600 บาท ซึ่งเมื่อหักต้นทุน โดย ไม่หักค่าใช้จ่ายอื่น ๆแล้ว จะได้กำไรสุทธิ 9,100 บาท ซึ่งทั้งโจทก์และจำเลยจะได้ส่วนแบ่งคนละ 2,275 บาท จากยอดส่วนแบ่งทั้งหมดนี้คิดเป็นเงินทั้งสิ้นคนละ 47,669 บาท โจทก์ทั้งสองจะได้รับรวมกันเป็นเงิน95,336.75 บาท โจทก์ทวงถามแล้ว จำเลยทั้งสองชำระให้โจทก์ทั้งสองเพียง 14,450 บาท คงเหลือเป็นเงิน 80,886.75 บาทจึงขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยถึงวันฟ้องรวม 81,391.75 บาท และดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน80,886.75 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินตามฟ้องขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน30,829.90 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 18 มิถุนายน 2529 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ส่วนที่โจทก์ขอเกินมาให้ยก จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยรวมจำนวน 81,391.75 บาทแก่โจทก์ แต่จำนวนเงินและดอกเบี้ยที่โจทก์ทั้งสองแต่ละคนมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชำระให้นั้นมีส่วนเท่า ๆ กันสำหรับโจทก์ทั้งสองคนละ 40,695,875 บาท ไม่ใช่เป็นหนี้ร่วมที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ ที่โจทก์ทั้งสองแต่ละคนฟ้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชำระหนี้นั้นเป็นคดีมีทุนทรัพย์ไม่เกินห้าหมื่นบาทและศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าโจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสองมีข้อตกลงให้นำค่าใช้จ่ายร่วมสำนักงานมาหักจากรายรับเพื่อคำนวณหากำไรสุทธิ และนายวินัย ตันกิติบุตร เป็นผู้ซื้อสินค้าจากจำเลยที่ 2 โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าส่วนแบ่งจากการขายสินค้ารายนี้นั้นเป็นฎีกาปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกฎีกาจำเลยทั้งสอง