คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1931/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยทำใบเสร็จรับเงินค่าภาษีรถยนต์ที่ ช. นำมาชำระ แม้ จำเลยจะได้ประทับตราชื่อของจำเลยเป็นผู้รับเงินและมีรายการเสียภาษี ตามความเป็นจริงทุกประการก็ตามแต่จำเลยใช้ฉบับที่และเล่มที่ของใบเสร็จรับเงินเหล่านั้นซ้ำกับฉบับที่และเล่มที่ของใบเสร็จรับเงินที่แท้จริงที่มี การนำส่งเงินภาษีที่เก็บได้ต่อทางราชการโดยจำเลยมีเจตนาจะให้ผู้ที่ได้ พบเห็นใบเสร็จเหล่านั้น เข้าใจว่าเป็นใบเสร็จที่ใช้ฉบับที่และเล่มที่ตามลำดับ ไม่ซ้ำกับฉบับที่และเล่มที่ของใบเสร็จอื่น ๆและได้มีการส่งเงินตามใบเสร็จเหล่านั้นต่อทางราชการตามระเบียบด้วยจำเลยจึงต้องมีความผิดฐานปลอมเอกสารราชการ เพราะเป็นเอกสารที่ทางราชการทำขึ้น
ใบเสร็จรับเงินไม่ใช่เอกสารสิทธิ (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่889/2492)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 รับราชการเป็นเจ้าพนักงานตำรวจประจำแผนกทะเบียนยานพาหนะกองกำกับการตำรวจภูธร จังหวัดนครสวรค์ จำเลยที่ 2 รับราชการเป็นตำรวจประจำแผนกทะเบียนยานพาหนะ กองกำกับการตำรวจภูธร จังหวัดนครสวรรค์ มีหน้าที่ตรวจทำและดำเนินการเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับยานพาหนะ ทำเอกสาร กรอกข้อความลงในเอกสารและดูแลรักษาเอกสารเกี่ยวกับยานพาหนะทั้งหมด เขียนใบเสร็จรับเงินและรับชำระเงินค่าธรรมเนียมต่าง ๆ เกี่ยวกับยานพาหนะ เขียนใบเสร็จรับเงินและรับชำระเงินค่าภาษีรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และใช้เครื่องยนต์ทุกประเภท และรักษาเงินที่รับได้ดังกล่านั้นจัดการนำส่งสมุหบัญชีกองกำกับการตำรวจภูธร จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อนำส่งคลังเป็นรายได้ของรัฐ และมีหน้าที่รักษาและใช้ดวงตราและรอยตราของนายทะเบียนยานพาหนะ จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นดวงตราและรอยดวงตราของเจ้าพนักงานและของทางราชการตามกฎหมาย เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2515 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันรับเงินค่าภาษีรถยนต์ 25 คัน รวมเงิน 58,300 บาท ของห้างหุ้นส่วนจำกัดสหพันธ์เดินรถท่าตะโกไว้ จากนายชลอ อาจบุตร ผู้จัดการห้างหุ้นส่วนดังกล่าว เป็นการชำระค่าภาษีรถยนต์งวดที่ 1 ถึงงวดที่ 4 ประจำปี พ.ศ. 2515 และจำเลยทั้งสองมีหน้าที่รักษาเงินดังกล่าวและจัดการนำเงินนั้นส่งสมุหบัญชีกองกำกับการตำรวจภูธร จังหวัดนครสวรรค์ ระหว่างตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2515 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 10 มิถุนายน 2515 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสองบังอาจร่วมกันเบียดบังเอาเงิน 58,300 บาท ซึ่งเป็นเงินค่าภาษีรถยนต์ 25 คันดังกล่าวโดยทุจริต ไม่นำเงินส่งสมุหบัญชี กองกำกับการตำรวจภูธร จังหวัดนครสวรรค์ ตามหน้าที่ อันเป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยทุจริต และปฏิบัติและละเว้นการปฏิบัติตามหน้าที่โดยทุจริต และเสียหายแก่รัฐ และเมื่อตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2515 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 10 มิถุนายน 2515 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสองได้บังอาจร่วมกันทำใบรับเงินของนายทะเบียนยานพาหนะ จังหวัดนครสวรรค์ซึ่งเป็นเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารปลอมขึ้นทั้ง 25 ฉบับ มีข้อความเป็นใบรับเงินฉบับที่ 1 เล่มที่ 454/15 ถึงฉบับที่ 25 เล่มที่ 454/15 ซึ่งนายทะเบียนยานพาหนะจังหวัดนครสวรรค์ได้ออกให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด สหพันธ์เดินรถท่าตะโกเป็นหลักฐาน ว่านายทะเบียนยานพาหนะ จังหวัดนครสวรรค์ได้รับเงินค่าภาษีรถยนต์หมายเลขทะเบียน และจำนวนเงินค่าภาษีตามที่ระบุในใบรับเงินไว้จากห้างหุ้นส่วนจำกัด สหพันธ์เดินรถท่าตะโก ตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2515 แล้ว และจำเลยทั้งสองบังอาจร่วมกันนำเอาดวงตราของนายทะเบียนยานพาหนะจังหวัดนครสวรรค์ซึ่งเป็นดวงตราของเจ้าพนักงานตามกฎหมายที่จำเลยทั้งสองมีหน้าที่รักษาและใช้ดังกล่าวใช้ประทับลงในใบรับเงิน25 ฉบับ ซึ่งจำเลยทั้งสองร่วมกันทำปลอมขึ้นโดยมิชอบด้วยหน้าที่ ทำให้กรมตำรวจ นายทะเบียนจังหวัดนครสวรรค์ ประชาชน นายชลอ อาจบุตร และห้างหุ้นส่วนจำกัด สหพันธ์ท่าตะโกเสียหาย จำเลยทั้งสองร่วมกันทำใบเสร็จรับเงินดังกล่าวเพื่อให้กรมตำรวจ นายทะเบียนยานพาหนะจังหวัดนครสวรรค์ ประชาชน นายชลอ อาจบุตร และห้างหุ้นส่วนจำกัดสหพันธ์เดินรถท่าตะโกหลงเชื่อว่าเป็นใบรับเงินค่าภาษีรถยนต์ที่แท้จริง จำเลยทั้งสองร่วมกันปลอมใบรับเงิน ซึ่งเป็นเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการดังกล่าวโดยอาศัยที่จำเลยทั้งสองมีหน้าที่ทำเอกสารและดูแลรักษาเอกสาร และระหว่างวันเวลาดังกล่าว จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เอกสารปลอมโดยร่วมกันมอบใบรับเงินปลอมทั้ง 25 ฉบับ ให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด สหพันธ์เดินรถท่าตะโกไปเพื่อเป็นหลักฐานว่านายทะเบียนยานพาหนะจังหวัดนครสวรรค์ได้รับเงินค่าภาษีรถยนต์ 25 คัน ดังกล่าวไว้แล้วแต่ความจริงจำเลยทั้งสองร่วมกันเบียดบังเอาเงินค่าภาษีรถยนต์ 25 คัน รวมเป็นเงิน 58,300 บาท เป็นประโยชน์ส่วนตัวโดยทุจริต ใบรับเงินฉบับที่ 1 เล่มที่ 454/15 ถึง ฉบับที่ 25 เล่มที่ 454/15 รวม 25 ฉบับ ที่แท้จริงเป็นใบรับเงินที่นายทะเบียนยานพาหนะจังหวัดนครสวรรค์ออกให้แก่บุคคลอื่น ซึ่งมิใช่ห้างหุ้นส่วนจำกัด สหพันธ์เดินรถท่าตะโก และเป็นใบรับเงินค่าภาษีรถยนต์คันอื่น ซึ่งมิใช่รถยนต์ตามที่ระบุไว้ในใบรับเงินปลอมทั้ง 25 ฉบับ แต่อย่างใด การกระทำของจำเลยทั้งสองดังกล่าวเป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยทุจริต และเป็นการปฏิบัติและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตและเสียหายแก่รัฐ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 151, 157, 160, 161, 253, 264, 265, 266, 352, 91, 83, 32, 33 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2502 มาตรา 3, 7, 13 ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 2 ริบใบรับเงินปลอมของกลาง ให้จำเลยร่วมกันคืนหรือใช้เงิน 58,300 บาท แก่กรมตำรวจ

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นฟังว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันเบียดบังเงินค่าธรรมเนียมภาษีรถยนต์ตามฟ้องเป็นของตนโดยทุจริต และนำเอาดวงตราของนายทะเบียน ยานพาหนะจังหวัดนครสวรรค์มาใช้โดยมิชอบ แต่การกระทำของจำเลยทั้งสองไม่เป็นการปลอมเอกสาร เมื่อการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดตามมาตรา 147, 352 ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้ว ก็ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 157 อันเป็นบททั่วไปอีก พิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 352, 83 กระทงหนึ่ง ให้ลงโทษตามมาตรา 147 บทหนัก จำคุก 6 ปี และจำเลยทั้งสองผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 253 (ประกอบด้วยมาตรา 251) อีกกระทงหนึ่ง จำคุก 1 ปี รวมจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ7 ปี ริบใบรับเงินของกลาง ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินหรือคืนเงิน 58,300 บาท แก่กรมตำรวจ ข้อหาอื่นให้ยก

โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการด้วย

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า รูปคดียังรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำผิดตามฟ้องด้วย พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและตามฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์ด้วย

จำเลยที่ 1 ฎีกาขอให้ยกฟ้องโจทก์

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2515 เวลา 9.00 นาฬิกา นายชลอ อาจบุตร ได้นำเงินค่าภาษีรถยนต์ของห้างหุ้นส่วนจำกัด สหพันธ์เดินรถท่าตะโก ประจำปี 2515 จำนวน 25 คัน เป็นเงิน 58,300 บาท ไปชำระที่แผนกยานพาหนะ จังหวัดนครสวรรค์ และได้รับใบเสร็จรับเงินตามฟ้อง รวม 25 ฉบับไป ใบเสร็จทั้ง 25 ฉบับมีตรายางลายมือชื่อจำเลยที่ 1 ประทับไว้ในช่องผู้เขียน แต่ผู้เขียนที่แท้จริงคือ นางสาวนิตยา อัมพุช บุตรสาวของจำเลยที่ 2 มีรอยตราที่แท้จริงของนายทะเบียนยานพาหนะ จังหวัดนครสวรรค์ ประทับไว้ทุกฉบับ เมื่อมีการตั้งกรรมการสอบสวนทุจริตในแผนกยานพาหนะจังหวัดนครสวรรค์คณะกรรมการตรวจพบว่า ต้นขั้ว ใบเสร็จรับเงินเล่มที่ 454/2515 ซึ่งเป็นเล่มที่ตรงกับใบเสร็จตามฟ้องเป็นรายการเสียภาษีรถคันอื่น ๆ ไม่ใช่รถของห้างหุ้นส่วน จำกัด สหพันธ์เดินรถ ท่าตะโกทั้ง 25 คันนั้น และไม่มีรายการแสดงการเสียภาษีรถยนต์ไว้ในบัญชีเงินสดประจำวันนั้นของแผนกยานพาหนะด้วย จำเลยที่ 1 เป็นผู้รับเงินค่าภาษีรถยนต์ไว้จากนายชลอตามฟ้องจริง แล้วนำใบเสร็จรับเงินเสนอต่อพันตำรวจโทชาญ ตุงคะเตชะ ให้ลงนามในใบเสร็จรับเงินในฐานะนายทะเบียน โดยใช้ฉบับที่และเล่มที่ของใบเสร็จตั้งแต่ฉบับที่ 1 เล่มที่ 454/15 ถึงฉบับที่ 25 เล่มที่ 454/15 ลงวันที่ 15 มิถุนายน 2515 ตีตรานายทะเบียนยานพาหนะในใบเสร็จเหล่านั้น และยักยอกเงินค่าภาษีรถยนต์ที่นายชลอนำมาชำระรวม58,300 บาทไว้ ทั้งนี้โดยจำเลยที่ 1 ไม่เก็บต้นขั้วใบเสร็จและรวบรวมสำเนาใบเสร็จส่วนที่ 2 ส่งกรมตำรวจตามหน้าที่ เพราะไม่ต้องการให้เป็นหลักฐานว่าได้มีผู้เสียภาษีรถยนต์ตามต้นขั้วและสำเนาใบเสร็จส่วนที่ 2 นั้น ๆ และปรากฏหลักฐานว่าแผนกยานพาหนะ กองกำกับการตำรวจภูธร จังหวัดนครวรรค์ ได้ออกใบเสร็จฉบับที่และเล่มที่เดียวกันกับใบเสร็จที่จำเลยที่ 1 มอบให้นายชลอทั้ง 25 ฉบับ และได้นำส่งเป็นเงินรายได้ต่อสมุหบัญชีตามระเบียบ อันแสดงว่าการที่จำเลยที่ 1 ใช้ฉบับที่และเล่มที่ของใบเสร็จที่ออกให้กับนายชลอซ้ำกับฉบับที่และเล่มที่ของใบเสร็จที่ได้มีการนำส่งเงินตามใบเสร็จนั้น ๆ ต่อสมุหบัญชี ก็เพื่อจะให้ผู้ที่พบเห็นใบเสร็จที่จำเลยที่ 1 ออกให้กับนายชลอเข้าใจว่าใบเสร็จที่ออกให้กับนายชลอเป็นใบเสร็จที่แท้จริงถูกต้องตามระเบียบราชการส่วนจำเลยที่ 2 นั้น ได้รู้เห็นขณะจำเลยที่ 1 ได้รับเงินค่าภาษีรถยนต์จากนายชลอด้วย จำเลยที่ 2 จึงมีส่วนร่วมกระทำความผิดยักยอกจำนวนดังกล่าวด้วย

ในปัญหาที่ว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารทางราชการตามที่โจทก์ฎีกาขึ้นมาหรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่จำเลยที่ 1 ทำใบเสร็จรับเงินค่าภาษีรถยนต์ที่นายชลอ อาจบุตร นำมาชำระนั้น แม้จำเลยที่ 1 จะได้ประทับตราชื่อของจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับเงินและมีรายการเสียภาษีตามความเป็นจริงทุกประการก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 ใช้ฉบับที่และเล่มที่ของใบเสร็จรับเงินเหล่านั้นซ้ำกับฉบับที่และเล่มที่ของใบเสร็จที่แท้จริงที่มีการนำส่งเงินภาษีที่เก็บได้ต่อทางราชการโดยจำเลยมีเจตนาจะให้ผู้ที่ได้พบเห็นใบเสร็จเหล่านั้นเข้าใจว่า เป็นใบเสร็จที่ใช้ฉบับที่และเล่มที่ตามลำดับไม่ซ้ำกับฉบับที่และเล่มที่ของใบเสร็จอื่น ๆ และได้มีการส่งเงินตามใบเสร็จเหล่านั้นต่อทางราชการตามระเบียบด้วย จำเลยที่ 1 จึงต้องมีความผิดฐานปลอมเอกสารราชการอีกกระทงหนึ่งเพราะเป็นเอกสารที่ทางราชการทำขึ้น แต่ใบเสร็จรับเงินไม่ใช่เอกสารสิทธิดังที่โจทก์ฎีกา เทียบตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 889/2492 คดีระหว่งพนักงานอัยการจังหวัดสงขลา โจทก์ นายปรีชา นันต์ธนา จำเลย ส่วนจำเลยที่ 2 นั้นข้อเท็จจริงยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 มีส่วนร่วมในการปลอมใบเสร็จรับเงิน เพราะไม่ได้ความว่า จำเลยที่ 2 ทราบถึงการที่จำเลยที่ 1 ใช้ฉบับที่และเล่มที่ซ้ำกับใบเสร็จที่แท้จริงในขณะที่จำเลยที่ 1 ให้นางสาวนิตยาเขียนใบเสร็จฉบับที่และเล่มที่ปลอม จำเลยที่ 2 อาจเข้าใจว่า จำเลยที่ 1 ออกใบเสร็จฉบับที่และเล่มที่ตามความเป็นจริง แล้วยักยอกเงินค่าภาษีไว้ไม่นำส่งต่อจำเลยที่ 2 ดังที่จำเลยถูกกล่าวหาในคดีอื่น หรือมารู้ความจริงภายหลังที่จำเลยที่ 1 กระทำผิดปลอมใบเสร็จนั้นไปแล้ว จำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิดฐานนี้ด้วย

พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 161, 265, 253 ซึ่งเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตาม มาตรา 161 ซึ่งเป็นบทหนัก อีกกระทงหนึ่ง จำคุกสามปี รวมเป็นโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนดเก้าปี จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 352, 83 กระทงหนึ่ง ให้ลงโทษตาม มาตรา 147 ซึ่งเป็นบทหนักจำคุกหกปี และผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 253 อีกกระทงหนึ่งจำคุกหนึ่งปี รวมเป็นโทษจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนดเจ็ดปี ริบใบรับเงินของกลาง ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้เงิน 58,300 บาทแก่กรมตำรวจ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share