แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ผู้ร้องเช่าซื้อที่พิพาท เมื่อชำระค่าเช่าซื้อครบได้รับโอนกรรมสิทธิ์มาเป็นของผู้ร้อง โดยใส่ชื่อ ลูกหนี้ที่ 1 ไว้ในโฉนด แทนเพื่อให้ลูกหนี้ที่ 1 นำโฉนด ไปเป็นหลักประกันในการหาเงินมาทำการค้าโดยลูกหนี้ที่ 1 ทำหนังสือยืนยันมอบไว้แก่ผู้ร้องว่ากรรมสิทธิ์ในที่พิพาทเป็นของผู้ร้อง และจะไถ่ถอนจำนองโอนคืนผู้ร้องภายใน 1 ปีจึงถือได้ว่า ที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง ลูกหนี้ที่ 1 เป็นเพียงผู้มีชื่อ ในโฉนด ในฐานะผู้ถือกรรมสิทธิ์แทน แม้ลูกหนี้ที่ 1 จะเอาที่พิพาทไปจำนองแล้วไม่ไถ่ถอน ผู้ร้องในฐานะเจ้าของทรัพย์สินที่จำนองก็มีสิทธิจะไถ่ถอนจำนองเองได้ หากไถ่ถอนจำนองเองก็ชอบจะเรียกให้ลูกหนี้ที่ 1 ชดใช้ค่าไถ่ถอนจำนองได้ เมื่อผู้ร้องไถ่ถอนจำนองแล้วจำนองก็ย่อมระงับไปจะบังคับให้ลูกหนี้ที่ 1 ทำการไถ่ถอนจำนองซ้ำอีกไม่ได้.
ย่อยาว
คดีนี้สืบเนื่องมาจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้(จำเลย) ทั้งสองเด็ดขาดเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2528 และพิพากษาให้ลูกหนี้ (จำเลย) ทั้งสองเป็นบุคคลล้มละลาย เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม2528
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2528 ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ได้ยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่า ผู้ร้องเป็นผู้เช่าซื้อที่ดินจำนวน 2 แปลง โดยให้ลูกหนี้ที่ 1ดำเนินการแทน แต่ลูกหนี้ที่ 1 กลับโอนที่ดินใส่ชื่อลูกหนี้ที่ 1เป็นผู้ถือกรรมสิทธิเสียเอง แล้วนำไปจำนองไว้กับธนาคารกรุงศรีอยุธยาจำกัด เพื่อนำเงินมาทำการค้าและจะไถ่ถอนจำนองและโอนกรรมสิทธิที่ดินทั้งสองแปลงให้แก่ผู้ร้องภายใน 1 ปี ผู้ร้องได้แจ้งให้ลูกหนี้ที่ 1ดำเนินการไถ่ถอนจำนองและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่ผู้ร้องแต่ลูกหนี้ที่ 1 บ่างเบี่ยงตลอดมา ผู้ร้องจึงฟ้องคดีต่อศาลแพ่งเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2528 ต่อมาลูกหนี้ที่ 1 ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดศาลสั่งจำหน่ายคดีแพ่งดังกล่าว ผู้ร้องจึงขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ปฏิบัติตามหนังสือยืนยันการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อันแท้จริงโดยทำการไถ่ถอนจำนองและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินนั้นให้แก่ผู้ร้อง นอกจากนั้น ผู้ร้องยังได้นำมูลหนี้การเช่าซื้อที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไว้ด้วย เจ้าพนักงานพิทัพษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้อง คำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายขอให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ปฏิบัติตามหนังสือยืนยันการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อันแท้จริง โดยให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือผู้ร้องทำการไถ่ถอนจำนองที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวและโอนใส่ชื่อผู้ร้องเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ต่อไป หากผู้ร้องเป็นผู้ไถ่ถอนจำนองเอง ขอให้กองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 ชดใช้ค่าไถ่ถอนจำนอง หรือใช้ราคาที่ดินพร้อมดอกเบี้ยแก่ผู้ร้อง
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำคัดค้านว่า หนังสือยืนยันการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อันแก้จริงนั้น จะเป็นหนังสือที่ลูกหนี้ที่ 1 ได้กระทำขึ้นจริงหรือไม่ก็ไม่อาจที่จะทราบได้ และก็มิได้รับการยืนยันจากลูกหนี้ที่ 1 ว่าเป็นหนังสือที่ได้กระทำขึ้นเองจริงไม่อาจที่จะรับฟังได้ว่าที่ดินทั้งสองแปลงที่ลูกหนี้ที่ 1 มีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ได้ถือไว้แทนผู้ร้อง จึงต้องฟังว่าที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของลูกหนี้ที่ 1 ขอให้ยกคำร้องของผู้ร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งแก้คำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นว่า ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือผู้ร้องทำการไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาท และโอนใส่ชื่อผู้ร้องเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ต่อไปหากผู้ร้องเป็นผู้ไถ่ถอนจำนองเองก็ให้กองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1ชดใช้ค่าไถ่ถอนจำนองนั้นหรือชดใช้ราคาที่ดินจำนวน 94,050 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โอนที่ดินพิพาทใส่ชื่อผู้ร้องเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ต่อไป โดยไม่ต้องไถ่ถอนจำนองหหรือชดใช้ค่าไถ่ถอนจำนองหรือใช้ราคาที่ดินพร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่ผู้ร้อง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น
ผู้ร้องและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พยานหลักฐานของผู้ร้องจึงมีน้ำหนักฟังได้ว่า ผู้ร้องได้เช่าซื้อที่พิพาทจากสหกรณ์ออมทรัพย์ข้าราชการกรมการปกครอง จำกัด โดยรับโอนสิทธิเช่าซื้อมาจากลูกหนี้ที่ 1และเมื่อผู้ร้องชำระค่าเช่าซื้อครบแล้วได้รับโอนกรรมสิทธิ์มาเป็นของผู้ร้องโดยให้ใส่ชื่อลูกหนี้ที่ 1 ไว้ในโฉนดแทนเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ 1 ให้นำโฉนดไปเป็นหลักประกันในการหาเงินมาทำการค้าทั้งนี้โดยลูกหนี้ที่ 1 ได้ทำหนังสือยืนยันมอบไว้แก่ผู้ร้องว่ากรรมสิทธิ์ในที่พิพาทเป็นของผู้ร้อง และจะไถ่ถอนจำนองแล้วโอนคืนให้แก่ผู้ร้องภายใน 1 ปี ฎีกาของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่ว่าลูกหนี้ที่ 1 เป็นเจ้าของที่พิพาทโดยมิได้ถือกรรมสิทธิ์ไว้แทนผู้ร้องนั้นฟังไม่ขึ้นส่วนฎีกาของผู้ร้องที่ขอให้บังคับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไถ่ถอนจำนองนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง ลูกหนี้ที่ 1 เป็นเพียงผู้มีชื่อในโฉนดในฐานะผู้ถือกรรมสิทธิ์แทนเช่นนี้ แม้ลูกหนี้ที่ 1 จะเอาที่พิพาทไปจำนองแล้วไม่ยอมไถ่ถอนก็ตาม ผู้ร้องในฐานะเจ้าของทรัพย์สินที่จำนองก็มีสิทธ ที่จะไถ่ถอนจำนองเองได้ ซึ่งหากได้ไถ่ถอนจำนองเองแล้วก็ชอบที่จะเรียกให้ลูกหนี้ที่ 1 ชดใช้ค่าไถ่ถอนได้และในเมื่อผู้ร้องได้ไถ่ถอนเองเสร็จแล้ว จำนองก็ย่อมระงับไปจะบังคับให้ลูกหนี้ที่ 1ทำการไถ่ถอนจำนองซ้ำอีกย่อมไม่ได้ กรณีเรื่องนี้ปรากฏว่าผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้ได้ขอรับชำระหนี้ค่าไถ่ถอนจำนองที่พิพาทไว้แล้วในสาขาคดีขอรับชำระหนี้ ดังปรากฏตามคดีหมายเลขดำำที่ ล.71/2532 ของศาลฎีกาแสดงว่าผู้ร้องมีเจตนาจะใช้สิทธิไถ่ถอนจำนองเอง และในสาขาคดีดังกล่าวศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาแล้วว่า หากผู้ร้องไถ่ถอนจำนองที่พิพาทเป็นเงินจำนวนเท่าใด ก็ให้ได้รับชำระหนี้ค่าไถ่ถอนจำนองจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 เป็นเงินจำนวนเท่านั้น ซึ่งเท่ากับเป็นการพิพากษาให้ผู้ร้องเป็นผู้ไถ่ถอนจำนองเอง แต่ให้ได้รับชดใช้ค่าไถ่ถอนจำนองคืนจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 นั่นเอง หากศาลฎีกาจะมีคำพิพากษาในสาขาคดีนี้ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นผู้ไถ่ถอนจำนองที่พิพาทหรือชดใช้ค่าไถ่ถอนจำนอง คำพิพากษาในสาขาคดีทั้งสองนี้ก็จะขัดกัน จึงไม่ชอบที่ผู้ร้องจะขอให้พิพากษาเช่นนั้นฎีกาของผู้ร้องในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้เจ้าพนักงานพิทัพษ์ทรัพย์โอนที่ดินโฉนดเลขที่ 80197 ตำบลลาดยาวอำเภอบางเขน (บางซื้อ) กรุงเทพมหานคร ใส่ชื่อผู้ร้องเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ โดยไม่ต้องไถ่ถอนจำนองหรือชดใช้ค่าไถ่ถอนจำนองหรือใช้ราคาที่ดินพร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่ผู้ร้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล”
พิพากษายืน.