แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.การพนันฯ โดยบรรยายฟ้องในตอนต้นว่าจำเลยกับพวกที่หลบหนีร่วมกันเล่นการพนันสลากกินรวบ พนันเอาทรัพยสินกันโดยไม่ได้รับอนุญาต และโจทก์บรรยายฐานะของจำเลยผู้เล่นในตอนท้ายว่า โดยจำเลยเป็นเจ้ามือรับกินรับใช้ และขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.การพนันฯ มาตรา 12 ซึ่งครบองค์ประกอบความผิดตามมาตราที่ขอให้ลงโทษจำเลยแล้ว ส่วนผู้เล่นที่หลบหนีจะเป็นคนเดินโพยหรือผู้เล่น รวมทั้งชื่อผู้เล่นที่หลบหนีว่าเป็นใคร อยู่ที่ไหน เป็นคนไทยหรือต่างด้าว มิใช่องค์ประกอบความผิดที่โจทก์จะต้องกล่าวมาในฟ้อง เมื่อจำเลยให้การับสารภาพตามฟ้อง แสดงว่าจำเลยเข้าใจข้อหาตามฟ้องได้ดีจึงมิใช่ฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิด
ข้อหาความผิดที่โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยฐานเล่นการพนันสลากกินรวบ โดยจำเลยเป็นเจ้ามือรับกินรับใช้ตาม พ.ร.บ.การพนันฯ มาตรา 12 (1) มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือน ขึ้นไปจนถึง 3 ปี และปรับตั้งแต่ 500 บาท ขึ้นไปจนถึง 5,000 บาท เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของผู้พิพากษาคนเดียวในศาลชั้นต้นเป็นองค์คณะมีอำนาจพิจารณาพิพากษาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 (5) แม้ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลจังหวัดจะต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสองคนจึงเป็นองค์คณะที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาได้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 26 แต่บทบัญญัติดังกล่าวก็อยู่ภายใต้บังคับ มาตรา 25 ด้วย ดังนั้น คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่พิจารณาพิพากษาโดยลงชื่อผู้พิพากษาคนเดียว ลงโทษจำคุกจำเลย 2 เดือน ซึ่งไม่เกิน 6 เดือน จึงเป็นคำพิพากษาที่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 (5) ประกอบมาตรา 26
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 16 สิงหาคม 2546 เวลากลางคืน ถึงวันที่ 1 กันยายน 2546 เวลากลางวัน วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยกับพวกที่หลบหนีร่วมกันเล่นการพนันสลากกินรวบอันเป็นการพนันตามบัญชี ข. ลำดับที่ 16 ท้ายพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ.2478 พนันเอาทรัพย์สินกันโดยไม่ได้รับอนุญาตโดยถือเอาเลขท้าย 2 ตัว 3 ตัว ของรางวัลที่ 1 และเลขท้าย 2 ตัว 3 ตัว ของเลขสลากกินแบ่งรัฐบาล งวดประจำวันที่ 1 กันยายน 2546 เป็นหลักพนันโดยจำเลยเป็นเจ้ามือรับกินรับใช้อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย มีผู้นำเจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมยึดสมุดฉีก 4 เล่ม เงินสด 630 บาท และกระเป๋าถือ 1 ใบ ซึ่งเป็นเครื่องมือเครื่องใช้และทรัพย์สินพนันที่ใช้ในการกระทำผิดเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ.2478 มาตรา 4, 5, 6, 10, 12, 15 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83 ริบของกลาง จ่ายสินบนนำจับตามกฎหมาย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ.2478 มาตรา 4, 5, 6, 10, 12 (ที่ถูก มาตรา 12 (1)), 15 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำคุก 4 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 เดือน ริบของกลาง เนื่องจากศาลมิได้ลงโทษปรับจำเลยจึงไม่อาจจ่ายสินบนนำจับตามกฎหมาย ยกคำขอส่วนนี้
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ว่าฟ้องโจทก์มิได้บรรยายว่าพวกที่หลบหนีเป็นคนเดินโพยหรือผู้เล่น ทั้งไม่ปรากฏว่าพวกที่หลบหนีชื่ออะไร เป็นใคร อยู่ที่ไหน เป็นคนไทยหรือคนต่างด้าว จึงเป็นฟ้องขาดองค์ประกอบความผิดทั้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลจังหวัดลงชื่อโดยผู้พิพากษาคนเดียวไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 23 (เดิม) และมาตรา 26 (ที่แก้ไขใหม่) แม้จำเลยให้การับสารภาพ ศาลก็จะลงโทษจำเลยไม่ได้ ปัญหาดังกล่าวจำเลยมิได้ยกขึ้นอ้างในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ชอบที่จำเลยจะยกขึ้นอ้างในชั้นนี้ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 เห็นว่า ฟ้องโจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ.2478 โดยบรรยายฟ้องในตอนต้นว่า จำเลยกับพวกที่หลบหนีร่วมกันเล่นการพนันสลากกินรวบ พนันเอาทรัพย์สินกันโดยไม่ได้รับอนุญาต และโจทก์บรรยายฐานะของจำเลยผู้เล่นในตอนท้ายว่า โดยจำเลยเป็นเจ้ามือรับกินรับใช้ และขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ.2478 มาตรา 12 ซึ่งครบองค์ประกอบความผิดตามมาตราที่ขอให้ลงโทษจำเลยแล้ว ส่วนผู้เล่นที่หลบหนีจะเป็นคนเดินโพยหรือผู้เล่น รวมทั้งชื่อผู้เล่นที่หลบหนีว่าเป็นใคร อยู่ที่ไหน เป็นคนไทยหรือต่างด้าว มิใช่องค์ประกอบความผิดที่โจทก์จะต้องกล่าวมาในฟ้อง เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง แสดงว่าจำเลยเข้าใจข้อหาตามฟ้องได้ดี จึงมิใช่ฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิด และเมื่อข้อหาความผิดที่โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยฐานเล่นการพนันสลากกินรวบ โดยจำเลยเป็นเจ้ามือรับกินรับใช้ซึ่งพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ.2478 มาตรา 12 (1) มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือน ขึ้นไปจนถึง 3 ปี และปรับตั้งแต่ 500 บาท ขึ้นไปจนถึง 5,000 บาท ด้วยอีกโสดหนึ่ง จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของผู้พิพากษาคนเดียวในศาลชั้นต้นเป็นองค์คณะมีอำนาจพิจารณาพิพากษาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 (5) ที่แก้ไขใหม่และใช้บังคับแล้วในวันที่โจทก์ยื่นฟ้อง แม้ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลจังหวัดจะต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสองคนจึงเป็นองค์คณะที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาได้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 26 ดังที่จำเลยฎีกา แต่บทบัญญัติดังกล่าวก็อยู่ภายใต้บังคับมาตรา 25 ด้วย ดังนั้น คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่พิจารณาพิพากษาโดยลงชื่อผู้พิพากษาคนเดียว ลงโทษจำคุกจำเลย 2 เดือน ไม่เกิน 6 เดือน จึงเป็นคำพิพากษาที่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 (5) ประกอบมาตรา 26 ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ฎีกาของจำเลยที่ขอให้รอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยนั้น เห็นว่า จำเลยมีอายุ 56 ปี นับว่ามากแล้ว ทั้งมีภาระที่จะต้องเลี้ยงดูครอบครัวหลายคน เมื่อโทษจำคุกที่จำเลยจะได้รับมีกำหนดเวลาสั้นย่อมไม่ก่อให้เกิดผลดีแก่จำเลย หากแต่จะเป็นผลเสียติดตัวจำเลยตลอดไป ประกอบกับเงินของกลางที่ยึดได้จากจำเลยมีจำนวนเพียง 630 บาท และไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน กรณีสมควรให้โอกาสจำเลยกลับตนเป็นพลเมืองดี และดูแลครอบครัวซึ่งจะต้องอาศัยจำเลยในการดำรงชีพ กรณีจึงสมควรรอการลงโทษจำคุกให้จำเลย แต่เพื่อให้จำเลยหลาบจำ สมควรลงโทษปรับจำเลยอีกสถานหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษปรับจำเลย 5,000 บาท อีกสถานหนึ่ง จำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงปรับ 2,500 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 จ่ายสินบนนำจับตามกฎหมาย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3