คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8268/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่าจำเลยกับพวกร่วมกันพยายามฆ่าผู้เสียหายซึ่งเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 และ 83 แม้โจทก์จะอ้างมาตรา 289 มาในคำขอท้ายฟ้องด้วย แต่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยพยายามฆ่าผู้เสียหายอย่างไร จึงมีลักษณะเป็นเหตุฉกรรจ์ตามมาตรา 289 ศาลจึงลงโทษจำเลยตามมาตรา 289 ไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องนอกเหนือไปจากที่โจทก์ฟ้องและไม่ใช่เรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษ คงลงโทษจำเลยได้เพียงฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้เสียหายเท่านั้นตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 และ 192 วรรคสี่ ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวฯ มาตรา 6
ความผิดฐานมีอาวุธปืนและฐานพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาตโจทก์มิได้นำสืบว่า อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนที่พวกของจำเลยใช้ในการพยายามฆ่าผู้เสียหายนั้น เป็นอาวุธปืนที่จำเลยมิได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ให้มีและให้พาติดตัวไปตามกฎหมาย ทั้งโจทก์ก็มิได้อาวุธปืนดังกล่าวมาเป็นของกลาง ในชั้นสอบสวนก็ไม่ปรากฏว่าพนักงานสอบสวนได้สอบคำให้การจำเลยเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้เลย จึงไม่อาจลงโทษจำเลยฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ ได้ คงลงโทษได้เพียงในความผิดฐานพาอาวุธติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะตาม ป.อ. มาตรา 371 เท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2546 เวลากลางวันจำเลยกับพวกอีก 3 คน ร่วมกันมีอาวุธปืนไม่ทราบชนิด ขนาด .22 ไม่มีเครื่องหมายทะเบียนอาวุธปืนของเจ้าพนักงานประทับ และมีกระสุนปืนลูกกรดขนาด .22 จำนวน 4 นัด อันเป็นอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนตามกฎหมาย ซึ่งใช้ยิงได้ไว้ในครอบครองของจำเลยกับพวกโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ตามกฎหมาย และจำเลยกับพวกได้ร่วมกันพาอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนดังกล่าวติดตัวไปบริเวณหน้าบ้านเลขที่ 110 หมู่ที่ 8 ตำบลปากท่อ อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นเขตเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะ โดยไม่มีเหตุสมควร โดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว และไม่เป็นกรณีที่ต้องมีอาวุธปืนติดตัวเมื่อมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ แล้วจำเลยกับพวกได้ร่วมกันใช้อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนที่ร่วมกันมีและติดตัวไปดังกล่าวยิงประทุษร้ายนายสมชาย แน่วแน่ ผู้เสียหาย 4 นัด ติดต่อกันโดยมีเจตนาฆ่า ทั้งนี้จำเลยกับพวกได้ลงมือกระทำไปตลอดแล้ว แต่การกระทำไม่บรรลุผลเนื่องจากผู้เสียหายหลบหนีวิถีกระสุนได้ทัน และกระสุนปืนไม่ถูกร่างกายของผู้เสียหายผู้เสียหายจึงไม่ถึงแก่ความตาย เจ้าพนักงานยึดหัวกระสุนปืนลูกกรดขนาด .22 จำนวน 4 หัว ซึ่งเป็นทรัพย์ที่จำเลยกับพวกใช้ในการกระทำความผิดได้จากบริเวณที่เกิดเหตุเป็นของกลาง ก่อนกระทำความผิดคดีนี้ จำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2545 และของศาลจังหวัดเพชรบุรีแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2545 ให้ลงโทษจำคุกมีกำหนด 3 เดือน ทั้งสองคดี โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ภายในกำหนด 1 ปีและ 2 ปี ตามลำดับ ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 592/2545 และ 191/2545 ภายในระยะเวลาที่ศาลรอการลงโทษจำเลยกลับมากระทำความผิดในคดีนี้อีกอันไม่ใช่ความผิดที่กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหโทษ ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 58, 80, 83, 91, 289, 371 ริบหัวกระสุนปืนของกลาง และนำโทษของจำเลยที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 592/2545 ของศาลชั้นต้น และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 191/2545 ของศาลจังหวัดเพชรบุรีแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวบวกเข้ากับโทษในคดีนี้
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 80, 83, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 6, 72 และ 72 ทวิ (ที่ถูก มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง และ 72 ทวิ วรรคสอง) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันเรียงกระทงลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ขณะกระทำความผิดจำเลยอายุ 17 ปีเศษ (ที่ถูก 16 ปีเศษ) จึงลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 (ที่ถูก มาตรา 75) ประกอบมาตรา 52 (1) (ที่ถูก มาตรา 52 (1) (2)), 53 ประกอบมาตรา 18 วรรคสองและวรรคสาม ฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน จำคุก 25 ปี ฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 3 เดือน ฐานพาอาวุธปืนไปในที่สาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 เดือน รวมจำคุก 25 ปี 5 เดือน นำโทษจำคุก 6 เดือน ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 191/2545 ของศาลจังหวัดเพชรบุรีแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว และโทษจำคุก 3 เดือน ที่ศาลรอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 592/2545 ของศาลชั้นต้นบวกเข้ากับโทษจำคุกในคดีนี้เป็นจำคุก 25 ปี 14 เดือน (ที่ถูก ไม่บวกโทษเพราะศาลยังไม่ได้พิพากษาลงโทษจำคุก แต่เปลี่ยนเป็นส่งไปฝึกอบรม) อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 104 (2) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งจำเลยไปฝึกและอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 2 (จังหวัดราชบุรี) มีกำหนด 6 เดือน นับแต่วันมีคำพิพากษา ริบของกลาง (ที่ถูก คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก)
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุธรณ์ภาค 7 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษากลับให้ยกฟ้องริบหัวกระสุนปืนของกลาง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “…ฯลฯ… พยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าวฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยร่วมพยายามฆ่าผู้เสียหายด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ในส่วนนี้ฟังขึ้น แต่ที่โจทก์ขอให้พิพากษากลับเป็นบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่าจำเลยกับพวกร่วมกันพยายามฆ่าผู้เสียหายซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 และ 83 แม้โจทก์จะอ้างมาตรา 289 มาในคำขอท้ายฟ้องด้วย แต่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยพยายามฆ่าผู้เสียหายอย่างไรจึงมีลักษณะเป็นเหตุฉกรรจ์ตามมาตรา 289 ศาลจึงลงโทษจำเลยตามมาตรา 289 ไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องนอกเหนือไปจากที่โจทก์ฟ้องและไม่ใช่เรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษ คงลงโทษจำเลยได้เพียงฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้เสียหายเท่านั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 และ 192 วรรคสี่ ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 6 ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้เสียหายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย และความผิดฐานมีอาวุธปืนและฐานพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต โจทก์มิได้นำสืบว่า อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนที่พวกของจำเลยใช้ในการพยายามฆ่าผู้เสียหายนั้นเป็นอาวุธปืนที่จำเลยมิได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ให้มีและให้พาติดตัวไปตามกฎหมาย ทั้งโจทก์ก็มิได้อาวุธปืนดังกล่าวมาเป็นของกลาง ในชั้นสอบสวนก็ไม่ปรากฏว่าพนักงานสอบสวนได้สอบคำให้การจำเลยเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้เลย จึงไม่อาจลงโทษจำเลยฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ได้ คงลงโทษได้เพียงในความผิดฐานพาอาวุธติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 เท่านั้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดทั้งสองฐานนี้จึงไม่ถูกต้องที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 แผนกคดีเยาวชนและคอรบครัวพิพากษายกฟ้องในความผิดทั้งสองฐานนี้มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของโจทก์ส่วนนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 และ 83 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 เรียกกระทงลงโทษ ขณะกระทำผิดจำเลยอยู่ 16 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 แล้ว ฐานพยายามฆ่า จำคุก 5 ปี ฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ ปรับ 50 บาท รวมจำคุก 5 ปี และปรับ 50 บาท พิเคราะห์รายงานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับจำเลยของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดราชบุรีแล้ว เห็นว่า จำเลยประกอบอาชีพเป็นกิจจะลักษณะความประพฤติทั่วไปไม่เสียหายร้ายแรง มารดาของจำเลยยังห่วงใยและประสงค์จะรับตัวจำเลยไปอบรมดูแลโดยกวดขันความประพฤติให้มากขึ้น จึงเห็นควรให้โอกาสจำเลยกลับตนเป็นคนดีโดยรอการลงโทษจำคุกและปรับจำเลยไว้มีกำหนด 2 ปี คุมความประพฤติจำเลยไว้มีกำหนด 1 ปี ให้จำเลยรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 เดือนต่อครั้ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 106 (2) และ (3) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว

Share