คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8382/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง บัญญัติว่า “นับแต่เวลาที่ได้ยื่นคำฟ้องแล้วคดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณาและผลแห่งการนี้ (1) ห้ามไม่ให้โจทก์ยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกันหรือต่อศาลอื่น” ความมุ่งหมายของบทบัญญัติดังกล่าวก็คือ คดีเรื่องเดียวกันโจทก์ควรจะฟ้องร้องว่ากล่าวกันไปเสียให้เสร็จสิ้นในคราวเดียวกัน คดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยกล่าวอ้างว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม โดยอ้างเหตุว่าจำเลยกล่าวหาว่าโจทก์ร่วมมือกับ ฉ. ว่าจ้างให้ บ. กับพวก ขุดดินวางสายเคเบิ้ลแล้วไม่จ่ายค่าจ้างส่วนที่เหลือและนำอุปกรณ์สื่อสัญญาณเชื่อมต่อสัญญาณโทรศัพท์ไปใช้นอกพื้นที่บริการให้บริการโทรศัพท์พื้นฐานของจำเลยเรียกรับและแสวงหาผลประโยชน์จากผู้ขอติดตั้ง แล้วมีคำสั่งลงโทษไล่โจทก์ออกจากการทำงาน โดยเรียกร้องค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม คดีนี้โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์โดยเหตุเดียวกันกับเหตุที่ฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมคดีก่อน และเรียกร้องสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยจากจำเลยในขณะที่คดีก่อนยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลแรงงานกลาง การฟ้องคดีทั้งสองเรื่องต่อศาลแรงงานกลางเป็นการเรียกร้องสิทธิในมูลหนี้หรือสิทธิเรียกอันเกี่ยวกับการเลิกจ้างในคราวเดียวกัน ซึ่งโจทก์มีสิทธิฟ้องจำเลยเพื่อเรียกร้องสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชยและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมในคราวเดียวกันได้หรือขอแก้ไขคำฟ้องในคดีเดิมภายในกำหนดเวลาตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ดังนั้น เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้ต่อศาลแรงงานกลางในระหว่างคดีก่อนอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลแรงงานกลางจึงเป็นการยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกัน จึงเป็นฟ้องซ้อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 31

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นพนักงานของจำเลย โจทก์ได้รับคำสั่งจากจำเลยลงโทษไล่ออกให้เหตุผลว่าโจทก์กระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรง โดยร่วมกับนายฉลาด ทองหยัด ว่าจ้างให้นางบุญพา ศรีทองกุล กับพวก ขุดดินเพื่อวางสายเคเบิ้ล แล้วไม่จ่ายค่าจ้างในส่วนที่เหลือ และมีส่วนร่วมเหลือรู้เห็นในการนำอุปกรณ์สื่อสัญญาณมาเชื่อมต่อสัญญาณโทรศัพท์ไปใช้นอกพื้นที่บริการให้บริการโทรศัพท์พื้นฐาน และโจทก์เรียกร้องและแสวงหาผลประโยชน์จากผู้ขอติดตั้งทำให้เกิดความเสียหายแก่จำเลย โจทก์ไม่ได้กระทำความผิดตามที่จำเลยกล่าวหา โจทก์ไม่ได้กระทำการใดๆ ให้จำเลยเสียชื่อเสียงและภาพพจน์ การกระทำของจำเลยเป็นการเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าให้ถูกต้อง จำเลยจึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์จำนวน 41,211 บาท โจทก์ทำงานติดต่อกันเกินกว่า 3 ปี จำเลยเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์เท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน เป็นเงินจำนวน 130,140 บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 41,211 บาท และค่าชดเชยจำนวน 130,140 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 171,351 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2546 (วันเลิกจ้าง) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์เคยเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของจำเลย โจทก์ถูกร้องเรียนว่าร่วมกับนายฉลาด ทองหยัด ว่าจ้างให้นางบุญพา ศรีทองกุล กับพวก ทำการขุดดินเพื่อวางสายเคเบิ้ลแล้วไม่จ่ายค่าจ้างในส่วนที่เหลือ และมีส่วนร่วมรู้เห็นในการนำอุปกรณ์สื่อสัญญาณโทรศัพท์ไปใช้นอกเขตพื้นที่บริการ จำเลยจึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงและคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงสอบสวนแล้วเห็นว่า กรณีมีมูลรับฟังได้ดังข้อร้องเรียน ซึ่งการกระทำของโจทก์เข้าข่ายเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ตามข้อ 33 ข้อ 38 ข้อ 52 ของข้อบังคับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยว่าด้วยการพนักงาน พ.ศ.2536 จำเลยจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยแก่โจทก์ และจากการสอบสวนทางวินัยคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยจึงมีความเห็นลงโทษทางวินัยโจทก์สถานหนักและไม่มีเหตุอันควรปรานีใดๆ จึงเห็นควรลงโทษโจทก์โดยไล่ออก ก่อนการลงโทษโจทก์ จำเลยได้ให้คณะทำงานพิจารณากลั่นกรองการลงโทษทางวินัยพิจารณาเพื่อความเป็นธรรมของพนักงาน คณะกรรมการกลั่นกรองมีมติว่าโจทก์กระทำความผิดวนัยอย่างร้ายแรงตามข้อบังคับของจำเลยว่าด้วยการพนักงาน พ.ศ.2536 ข้อ 33 ข้อ 38 ข้อ 52 เห็นควรลงโทษโจทก์โดยการไล่ออก จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ และไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยตามฟ้อง ข้อเท็จจริงที่โจทก์นำมาเป็นฐานในการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยในคดีนี้ โจทก์ได้นำไปฟ้องจำเลยเป็นคดีต่อศาลนี้ตามคดีหมายเลขดำที่ 3209/2546 คดีดังกล่าวนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาล เมื่อโจทก์นำข้อเท็จจริงมาฟ้องเป็นคดีนี้อีก จึงถือว่าเป็นการฟ้องซ้อน ขอให้ยกฟ้อง
คู่ความแถลงขอให้นำพยานหลักฐานในคดีหมายเลขดำที่ 3209/2546 และหมายเลขแดงที่ 9279/2547 ของศาลแรงงานกลางมาฟังในคดีนี้ ศาลอนุญาตและคู่ความแถลงไม่ติดใจสืบพยาน
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เคยนำคดีมาฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลางเป็นคดีหมายเลขดำที่ 3209/2546 ว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมและเรียกร้องค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ระหว่างพิจารณาคดีดังกล่าวในศาลแรงงานกลางโจทก์ได้ฟ้องคดีนี้ต่อศาลแรงงานกลางว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิด และขอให้จำเลยจ่ายค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยแก่โจทก์ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการเดียวว่า การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เรียกร้องสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยต่อศาลแรงงานกลางในระหว่างที่โจทก์ฟ้องจำเลยคดีหมายเลขดำที่ 3209/2546 ต่อศาลแรงงานกลาง เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม เป็นฟ้องซ้อนหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง บัญญัติว่า “นับแต่เวลาที่ได้ยื่นคำฟ้องแล้ว คดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณาและผลแห่งการนี้ (1) ห้ามไม่ให้โจทก์ยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกันหรือต่อศาลอื่น” ความมุ่งหมายของบทบัญญัติดังกล่าวก็คือคดีเรื่องเดียวกันโจทก์ควรจะฟ้องร้องว่ากล่าวกันไปเสียให้เสร็จสิ้นในคราวเดียวกัน คดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยกล่าวอ้างว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม โดยอ้างเหตุว่าจำเลยกล่าวหาว่าโจทก์ร่วมมือกับนายฉลาด ทองหยัด ว่าจ้างให้นางบุญพา ศรีทองกุล กับพวกขุดดินวางสายเคเบิ้ลแล้วไม่จ่ายค่าจ้างส่วนที่เหลือและนำอุปกรณ์สื่อสัญญาณเชื่อมต่อสัญญาณโทรศัพท์ไปใช้นอกพื้นที่บริการให้บริการโทรศัพท์พื้นฐานของจำเลย เรียกรับและแสวงหาผลประโยชน์จากผู้ขอติดตั้ง แล้วมีคำสั่งลงโทษไล่โจทก์ออกจากการทำงาน โดยเรียกร้องค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม คดีนี้โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์โดยเหตุเดียวกันกับเหตุที่ฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมคดีก่อนและเรียกร้องสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยจากจำเลยในขณะที่คดีก่อนยังอยู่ในระหว่างพิจารณาคดีของศาลแรงงานกลาง การฟ้องคดีทั้งสองเรื่องต่อศาลแรงงานกลางเป็นการเรียกร้องสิทธิในมูลหนี้หรือสิทธิเรียกร้องอันเกี่ยวกับการเลิกจ้างในคราวเดียวกัน ซึ่งโจทก์มีสิทธิฟ้องจำเลยเพื่อเรียกร้องสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าค่าชดเชยและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมในคราวเดียวกันได้หรือขอแก้ไขคำฟ้องในคดีเดิมภายในกำหนดเวลาตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ดังนั้น เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้ต่อศาลแรงงานกลางในระหว่างคดีหมายเลขดำที่ 3209/2546 อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลแรงงานกลางจึงเป็นการยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกัน จึงเป็นฟ้องซ้อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นชอบแล้วอุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share