แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
พนักงานสอบสวนได้สอบคำให้การพยานหลายปากและรวบรวมพยานหลักฐานเกี่ยวกับความผิดแล้วกล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส แต่พนักงานอัยการเห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นและมีคำสั่งให้แจ้งข้อหาเพิ่มเติม เมื่อแจ้งข้อหาแก่จำเลยเพิ่มเติมว่าพยายามฆ่าผู้อื่น จำเลยให้การปฏิเสธ ดังนี้ ถือว่าคดีนี้ได้มีการสอบสวนในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นแล้ว พนักงานอัยการจึงมีอำนาจฟ้อง
จำเลยใช้อาวุธมีดสปาต้าปลายแหลมยาวประมาณ 1 ศอก ฟันทำร้ายผู้เสียหายหลายครั้งถูกที่ร่างกาย ใบหน้า และท้ายทอยซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญ เมื่อพิจารณาถึงบาดแผลลึกเห็นกระดูกและกระดูกแก้มแตกหักและลึกถึงกะโหลกศีรษะซึ่งแพทย์เห็นว่าเป็นการถูกฟันโดยแรง ต้องใช้เวลารักษาอย่างน้อย 45 วัน ดังนี้ แสดงว่าจำเลยกระทำโดยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย จึงเป็นความผิดฐานพยายามฆ่า
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 288
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 จำคุก 12 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยเป็นคนร้ายที่ใช้อาวุธมีดปลายแหลมฟันผู้เสียหายเป็นเหตุให้ผูเสียหายได้รับอันตรายสาหัส ปัญหาต่อไปมีว่าการที่จำเลยใช้อาวุธมีดฟันทำร้ายผู้เสียหายดังกล่าวเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า สำหรับมีดที่จำเลยใช้เป็นอาวุธฟันเสียหายนั้นได้ความตามคำเบิกความของผู้เสียหาย นางสาวจุติมา นายวิรัชและนายวิทยาพยานโจทก์ว่า เป็นมีดสปาต้าปลายแหลมยาวประมาณ 1 ศอก ซึ่งเป็นมีดขนาดใช้ทำร้ายทำให้ถึงตายได้ และปรากฏว่าจำเลยได้ใช้อาวุธมีดดังกล่าวฟันทำร้ายผู้เสียหายหลายครั้งถูกที่บริเวณใบหน้าและท้ายทอย ซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญด้วย ทั้งเมื่อพิจารณาถึงบาดแผลของผู้เสียหายตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ ปรากฏว่ามีบาดแผลฉีกขาดขอบเรียบบริเวณแก้มขวาขนาด 7×1 เซนติเมตร ลึกเห็นกระดูกและกระดูกแก้มแตกหัก มีเลือดออกมาก กับบาดแผลฉีกขาดขอบเรียบบริเวณท้ายทอยขนาด 15 x 5 x 10 เซนติเมตร ลึกถึงกะโหลกศีรษะ โดยนายสมเจตน์ ฟุ้งพงษ์ แพทย์ผู้ตรวจชันสูตรบาดแผลดังกล่าวพยานโจทก์ได้เบิกความว่าจากลักษณะบาดแผล พยานเห็นว่าเป็นการถูกฟันโดยแรง ยังปรากฏว่าผู้เสียหายต้องใช้เวลาในการรักษาอย่างน้อยถึง 45 วัน ดังนี้ แสดงว่าจำเลยใช้อาวุธมีดฟันผู้เสียหายโดยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายตามฟ้อง ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ในข้อหาพยายามฆ่าผู้อื่นตามที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลย พนักงานสอบสวนยังมิได้ทำการสอบสวนพนักงานอัยการโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดฐานนี้นั้น เห็นว่า คดีนี้ร้อยตำรวจเอกมนูญซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนได้สอบคำให้การพยานหลายปากและรวบรวมพยานหลักฐานเกี่ยวกับความผิดครั้งนี้แล้ว เพียงแต่ร้อยตำรวจเอกมนูญเห็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสจึงระบุกล่าวหาจำเลยในข้อหาดังกล่าว แต่พนักงานอัยการซึ่งได้ตรวจสำนวนการสอบสวนดังกล่าวในเวลาต่อมาเห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น ยังได้ความตามคำเบิกความของร้อยตำรวจโทกมล ศักดิ์ประไพศิริกุล ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนอีกคนหนึ่งว่า เมื่อนำตัวจำเลยส่งให้พนักงานอัยการ พนักงานอัยการได้มีคำสั่งให้แจ้งข้อหาเพิ่มเติม จากนั้นในวันที่ 22 พฤษภาคม 2546 พยานจึงแจ้งข้อหาแก่จำเลยเพิ่มเติมว่าพยายามฆ่าผู้อื่น จำเลยให้การปฏิเสธตามบันทึกการสอบสวนเพิ่มเติม ดังนี้ ถือว่าคดีนี้ได้มีการสอบสวนในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นแล้ว พนักงานอัยการโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษจำเลยนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน