คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10332/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้หนังสือบอกเลิกสัญญาจ้าง ระบุเหตุผลที่เลิกจ้างไว้ประการหนึ่งว่าโจทก์ไม่ได้มาทำงานในวันที่ 22 และ 26 มีนาคม 2547 แต่ได้ลงบันทึกข้อมูลของบริษัทจำเลยว่าโจทก์มาทำงานในวันดังกล่าว ทำให้จำเลยต้องจ่ายค่าอาหารให้โจทก์วันละ 10 บาท รวม 2 วัน เป็นเงิน 20 บาท อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ในวันที่ 22 และ 26 มีนาคม 2547 ซึ่งไม่ตรงกับที่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ไม่มาทำงานในวันที่ 24 มีนาคม 2547 แต่โจทก์แก้ไขข้อมูลว่ามาทำงานในวันดังกล่าว ทำให้โจทก์ได้รับประโยชน์เป็นเบี้ยขยันเดือนละ 300 บาท และค่าอาหาร วันละ 10 บาท อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ในวันที่ 24 มีนาคม 2547 ซึ่งเป็นการทุจริตต่อหน้าที่คนละวันกัน แต่ก็เป็นการระบุเรื่องโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่เป็นเหตุผลให้จำเลยเลิกจ้างโจทก์ไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างแล้ว เพียงแต่ระบุวันที่โจทก์ทุจริตต่อหน้าที่ผิดพลาดไปซึ่งเป็นรายละเอียดเท่านั้น จำเลยย่อมยกเหตุผลที่โจทก์ทุจริตต่อหน้าที่ขึ้นต่อสู้เพื่อไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 31,330 บาท ค่าชดเชย 102,000 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 102,000 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกมีว่า ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มาทำงานในวันที่ 24 มีนาคม 2547 แต่โจทก์เข้าไปแก้ไขข้อมูลของตนเองว่าโจทก์มาทำงานในวันดังกล่าว ทำให้โจทก์ได้รับประโยชน์เป็นค่าเบี้ยขยันเดือนละ 300 บาท และค่าอาหารกลางวัน วันละ 10 บาท อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ เป็นการวินิจฉัยเหตุเลิกจ้างที่จำเลยไม่ได้ระบุเหตุผลไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างหรือไม่ เห็นว่า แม้หนังสือบอกเลิกสัญญาจ้าง ระบุเหตุผลที่เลิกจ้างไว้ประการหนึ่งว่า โจทก์ไม่ได้มาทำงานในวันที่ 22 และ 26 มีนาคม 2547 แต่ได้ลงบันทึกข้อมูลของบริษัทจำเลยว่าโจทก์มาทำงานในวันดังกล่าวทำให้จำเลยต้องจ่ายค่าอาหารให้โจทก์วันละ 10 บาท รวม 2 วัน เป็นเงิน 20 บาท อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ในวันที่ 22 และ 26 มีนาคม 2547 ซึ่งไม่ตรงกับที่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ไม่มาทำงานในวันที่ 24 มีนาคม 2547 แต่โจทก์แก้ไขข้อมูลว่ามาทำงานในวันดังกล่าว ทำให้โจทก์ได้รับประโยชน์เป็นเบี้ยขยันเดือนละ 300 บาท และค่าอาหารวันละ 10 บาท อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ในวันที่ 24 มีนาคม 2547 ซึ่งเป็นการทุจริตต่อหน้าที่คนละวันกัน แต่ก็เป็นการระบุเรื่องโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่เป็นเหตุผลให้จำเลยเลิกจ้างโจทก์ไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างแล้ว เพียงแต่ระบุวันที่โจทก์ทุจริตต่อหน้าที่ผิดพลาดไปซึ่งเป็นเพียงรายละเอียดเท่านั้น จำเลยย่อมยกเหตุผลที่โจทก์ทุจริตต่อหน้าที่ขึ้นต่อสู้เพื่อไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยได้ ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่าในเดือนมีนาคม 2547 โจทก์มาทำงานทุกวันมิได้ขาดงานจึงมิได้ทุจริตต่อหน้าที่ เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางอันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่ จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (1) และไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 ทั้งไม่ใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์ กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ประการอื่นของโจทก์อีกต่อไป”
พิพากษายืน

Share