แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ตาม พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ฯ มีขั้นตอนการดำเนินคดีในศาลอยู่ 3 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนแรกเป็นการตรวจคำร้อง ขั้นตอนที่สองเป็นการไต่สวนคำร้อง และขั้นตอนที่สามเป็นการพิจารณาเนื้อหาของคำร้อง โดยมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ฯ ให้ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นที่ได้พิจารณาคดีนั้น และมาตรา 16 ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม กฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญา กฎหมายว่าด้วยพิจารณาความอาญาในศาลแขวง กฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีเด็กและเยาวชน (ปัจจุบันเป็นกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว) และกฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลทหารมาใช้บังคับแก่การพิจารณาพิพากษาคดีตาม พ.ร.บ. นี้ โดยอนุโลม ดังนั้น การตรวจคำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ จึงต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ใน ป.วิ.อ. มาตรา 161 โดยคำร้องต้องอ้างเหตุตามที่ระบุไว้ในมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ฯ ซึ่งศาลชั้นต้นต้องตรวจคำร้องของจำเลย (ผู้ร้อง) ว่า ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ หากคำร้องของจำเลย (ผู้ร้อง) ไม่ปรากฏเหตุที่จะร้องขอให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่ได้จะไม่ทำการไต่สวนคำร้องก็ได้ แต่การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้อง โดยมิได้ทำความเห็นไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 1 เพื่อให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำสั่ง ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ฯ มาตรา 10 เพราะอำนาจในการมีคำสั่งตามคำร้องในคดีนี้เป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ภาค 1 และแม้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกคำสั่งของศาลชั้นต้น กับให้ศาลชั้นต้นรับคำร้องของผู้ร้อง และให้ไต่สวนคำร้องต่อไปโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ฯ ก็ตาม แต่เมื่อคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจที่จะพิจารณาคำร้องและมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลย (ผู้ร้อง) ได้โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 และศาลชั้นต้นมีคำสั่งใหม่
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลฎีกาพิพากษาว่า จำเลย (ผู้ร้อง) มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265, 268 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 265 ให้ลงโทษตามมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 265 ตามมาตรา 268 วรรคสอง จำคุก 5 ปี เพิ่มโทษกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 93 คงจำคุก 7 ปี 6 เดือน ริบของกลาง
จำเลย (ผู้ร้อง) ยื่นคำร้องว่า หลังจากศาลฎีกามีคำพิพากษาแล้ว จำเลย (ผู้ร้อง) พบพยานหลักฐานใหม่ว่า พนักงานสอบสวนไม่ได้เรียกเอาตัวอย่างลายมือชื่อของนางสาวดารุณี ถามะณี ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของบัญชีพิพาทจากธนาคารส่งไปตรวจพิสูจน์กับใบถอนเงินเอกสารหมาย จ.3 พยานหลักฐานโจทก์จึงรับฟังไม่ได้ว่าลายมือชื่อในช่องผู้มอบฉันทะและเจ้าของบัญชีในใบถอนเงินเอกสารหมาย จ.3 เป็นลายมือชื่อปลอม และจำเลย (ผู้ร้อง) มีพยานบุคคลและพยานเอกสารอันเป็นพยานหลักฐานใหม่และสำคัญแก่คดี ซึ่งถ้าได้นำมาสืบในคดีนี้แล้วจะแสดงให้เห็นว่าจำเลย (ผู้ร้อง) มิได้กระทำความผิดตามฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า คำร้องของจำเลย (ผู้ร้อง) ไม่เป็นเหตุที่อาจมีการร้องขอให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่ ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526 จึงมีคำสั่งลงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2545 ให้ยกคำร้อง แจ้งคำสั่งให้จำเลย (ผู้ร้อง) ทราบ
จำเลย (ผู้ร้อง) อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นรับคำร้องของจำเลย (ผู้ร้อง) ไว้ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า คำสั่งและคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ ตามพระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526 มีขั้นตอนการดำเนินคดีในศาลอยู่ 3 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนแรกเป็นการตรวจคำร้อง ขั้นตอนที่สองเป็นการไต่สวนคำร้อง และขั้นตอนที่สามเป็นการพิจารณาเนื้อหาของคำร้อง ซึ่งในขั้นตอนของการตรวจคำร้องขอรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ ตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ให้ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นที่ได้พิจารณาคดีนั้น โดย มาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติฉบับนี้ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม กฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญา กฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง กฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีเด็กและเยาวชน (ปัจจุบันเป็นกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว) และกฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลทหารมาใช้บังคับแก่การพิจารณาพิพากษาคดีตามพระราชบัญญัตินี้โดยอนุโลม ดังนั้น การตรวจคำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ จึงต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 161 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยคำร้องต้องอ้างเหตุตามที่ระบุไว้ในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526 ซึ่งศาลชั้นต้นต้องตรวจคำร้องของจำเลย (ผู้ร้อง) ว่า ถูกต้องกฎหมายหรือไม่ หากศาลชั้นต้นเห็นว่าคำร้องของจำเลย (ผู้ร้อง) ไม่ปรากฏเหตุที่จะร้องขอให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่ได้ จะไม่ทำการไต่สวนคำร้องก็ได้ แต่การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้อง โดยมิได้ทำความเห็นไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 1 เพื่อให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำสั่ง ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2426 มาตรา 10 เพราะอำนาจในการมีคำสั่งตามคำร้องในคดีนี้เป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ภาค 1 และแม้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกคำสั่งของศาลชั้นต้นกับให้ศาลชั้นต้นรับคำร้องของผู้ร้อง และให้ไต่สวนคำร้องดังกล่าวต่อไปโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติฉบับนี้ก็ตาม แต่เมื่อคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจที่จะพิจารณาคำร้องได้โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำสั่งใหม่ ตามคำร้องของจำเลย (ผู้ร้อง) ระบุว่า จำเลย (ผู้ร้อง) พบพยานหลักฐานใหม่ว่า พนักงานสอบสวนไม่ได้เรียกเอาตัวอย่างลายมือชื่อของนางสาวดารุณี ถามะณี ผู้เสียหาย ซึ่งเป็นเจ้าของบัญชีพิพาทจากธนาคารส่งไปตรวจพิสูจน์กับใบถอนเงินเอกสารหมาย จ.3 นั้น ไม่ปรากฏข้ออ้างโดยละเอียดชัดเจนเพื่อให้เห็นว่าพยานหลักฐานใหม่มีความเป็นมาอย่างไร เหตุใดจึงไม่นำมาพิสูจน์ว่าจำเลย (ผู้ร้อง) มิได้กระทำความผิดตั้งแต่แรก ที่สำคัญพยานหลักฐานใหม่นั้นมีความสำคัญแก่คดีมากพอที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงผลคำพิพากษาที่ได้พิพากษาลงโทษจำเลย (ผู้ร้อง) ไปแล้วได้หรือไม่ เนื่องจากอาจจะพิสูจน์แล้วยืนยันว่าใบถอนเงินเอกสารหมาย จ.3 เป็นเอกสารปลอมเช่นเดิมก็ได้ เมื่อคำร้องมิได้อ้างเหตุโดยละเอียดเช่นนี้จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลย (ผู้ร้อง) มีพยานหลักฐานอันชัดแจ้งและสำคัญแก่คดี คำร้องขอของจำเลย (ผู้ร้อง) จึงไม่มีมูล ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจที่จะมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลย (ผู้ร้อง) ได้โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 และศาลชั้นต้นมีคำสั่งใหม่”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 และคำสั่งศาลชั้นต้น และให้ยกคำร้องของผู้ร้อง (จำเลย)