แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (4) บัญญัติว่า สิทธิเรียกร้องเงินค้างจ่าย คือ เงินเดือน เงินปี เงินบำนาญ ค่าอุปการะเลี้ยงดู และเงินอื่นๆ ในลักษณะทำนองเดียวกับที่มีการกำหนดจ่ายเป็นระยะเวลา ให้มีกำหนดอายุความ 5 ปี ดังนั้น การที่โจทก์เรียกร้องให้จำเลยจ่ายเงินสงเคราะห์รายเดือนหรือเงินบำนาญจึงมีอายุความ 5 ปี ซึ่งไม่อาจนำอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 มาใช้บังคับได้เพราะมีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว โจทก์จึงต้องยื่นเรื่องราวขอรับเงินสงเคราะห์รายเดือน (บำนาญ) ภายในกำหนด 5 ปี นับแต่วันที่อาจใช้สิทธิเรียกร้องขอรับเงินได้ แต่เมื่อโจทก์ยื่นเรื่องราวขอรับเงินสงเคราะห์รายเดือน (บำนาญ) เกินกำหนดระยะเวลาดังกล่าว จึงขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินสงเคราะห์รายเดือน (บำนาญ) จำนวน 642,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินสงเคราะห์รายเดือน (บำนาญ) ที่จำเลยจะต้องจ่ายให้แก่โจทก์ในแต่ละงวดในทุกสิ้นเดือน จนกว่าจะชำระให้แก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อน จำเลยให้โจทก์ออกจากงานเพราะมีมลทินหรือมัวหมอง โจทก์มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์รายเดือน (บำนาญ) เป็นเงิน 632,600 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี แต่ข้อบังคับของจำเลยฉบับที่ 4.9 ว่าด้วยกองทุนผู้ปฏิบัติงานตามเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 17 ระบุว่า กรณีจะถือว่าออกจากงานด้วยเหตุอย่างใดตามข้อ 14 การนับเวลาทำงานตลอดจนวิธีการคำนวณเงินสงเคราะห์ และวิธีการจ่ายเงินให้ถือปฏิบัติตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการโดยอนุโลม และพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 มาตรา 10 ระบุว่า สิทธิในการขอบำเหน็จบำนาญปกติพระราชบัญญัตินี้ให้มีอายุความ 3 ปี เป็นกรณีที่ได้มีกฎหมายบัญญัติในเรื่องอายุความใช้สิทธิเรียกร้องเงินสงเคราะห์รายเดือน (บำนาญ) ไว้โดยเฉพาะ ผู้มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์รายเดือน (บำนาญ) จึงต้องยื่นเรื่องราวขอรับเงินดังกล่าวภายในกำหนด 3 ปี นับแต่วันมีสิทธิ โจทก์ถูกให้ออกจากงานมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์รายเดือน (บำนาญ) จากจำเลยตั้งแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2536 แต่เพิ่งยื่นเรื่องราวขอรับเงินดังกล่าวเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2541 พ้นกำหนด 3 ปี นับแต่วันที่มีสิทธิ โจทก์จึงหมดสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์รายเดือน (บำนาญ) พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า คดีขาดอายุความหรือไม่ ซึ่งโจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์ไม่ใช่ข้าราชการ ไม่อาจนำอายุความ 3 ปี ตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 มาตรา 10 มาใช้บังคับแก่โจทก์ได้ และข้อบังคับของจำเลยฉบับที่ 4.9 ข้อ 17 เพียงแต่ให้นำวิธีการนับเวลาทำงาน วิธีการคำนวณเงินสงเคราะห์และวิธีการจ่ายเงินในพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 มาใช้เท่านั้น มิได้รวมถึงวิธีการยื่นแบบขอรับเงินสงเคราะห์ และอายุความ 3 ปี ตามที่บัญญัติในพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 มาตรา 10 ด้วย กรณีของโจทก์ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 บังคับ จำเลยจะกำหนดระยะเวลาการใช้สิทธิเรียกร้องขอรับเงินสงเคราะห์รายเดือน (บำนาญ) ของโจทก์ให้น้อยลงไม่ได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/11 โจทก์จึงสามารถยื่นเรื่องราวขอรับเงินสงเคราะห์รายเดือน (บำนาญ) ได้ภายใน 10 ปี และโจทก์ได้ยื่นแล้วเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2541 จำเลยจึงต้องจ่ายเงินดังกล่าวให้โจทก์
พิเคราะห์แล้ว ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า เงินสงเคราะห์รายเดือน (บำนาญ) ที่โจทก์เรียกร้องให้จำเลยจ่ายนั้น โจทก์ได้ยื่นเรื่องราวขอรับเงินดังกล่าวเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2541 ตามเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งตามเอกสารดังกล่าวข้อ 10 โจทก์ได้แสดงความประสงค์ขอรับเงินสงเคราะห์รายเดือนเดือนแรกที่กองการเงิน รฟ. เดือนต่อไป ขอให้จ่ายผ่านธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาสระบุรี บัญชีเลขที่ 270 0887710 ซึ่งตามข้อบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 4.9 ข้อ 16 ระบุว่า “ผู้ปฏิบัติงานที่มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์เป็นรายเดือน โดยคำนวณตามวิธีจ่ายเงินบำนาญข้าราชการจะเลือกขอรับเงินสงเคราะห์ครั้งเดียว โดยคำนวณตามวิธีจ่ายเงินบำเหน็จข้าราชการได้” แสดงว่าโจทก์มิได้เลือกขอรับเงินสงเคราะห์ครั้งเดียวแต่โจทก์ได้แสดงความประสงค์ขอรับเงินสงเคราะห์รายเดือน (บำนาญ) จากจำเลยอันเป็นการเรียกร้องเงินในลักษณะทำนองเดียวกับที่มีการกำหนดจ่ายเป็นระยะเวลา เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (4) บัญญัติว่า สิทธิเรียกร้องเงินค้างจ่าย คือ เงินเดือน เงินปี เงินบำนาญ ค่าอุปการะเลี้ยงดู และเงินอื่นๆ ในลักษณะทำนองเดียวกับที่มีการกำหนดจ่ายเป็นระยะเวลาให้มีกำหนดอายุความ 5 ปี เมื่อโจทก์เรียกร้องให้จำเลยจ่ายเงินสงเคราะห์รายเดือนหรือเงินบำนาญ จึงมีกำหนดอายุความ 5 ปี กรณีไม่อาจนำอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 มาใช้บังคับได้เพราะมีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว โจทก์จึงต้องยื่นเรื่องราวขอรังเงินสงเคราะห์รายเดือน (บำนาญ) ภายในกำหนด 5 ปี นับแต่วันที่อาจใช้สิทธิเรียกร้องขอรับเงินดังกล่าวได้ซึ่งก็คือวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2536 แต่โจทก์ยื่นเรื่องราวขอรับเงินสงเคราะห์รายเดือน (บำนาญ) เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2541 จึงขาดอายุความ กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยว่าข้อบังคับของจำเลย ฉบับที่ 4.9 ข้อ 17 ทำให้ต้องใช้อายุความ 3 ปี ตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 มาตรา 10 หรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน