คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3308/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ข้อบังคับโรงงานน้ำตาล กรมโรงงานอุตสาหกรรม ว่าด้วยกองทุนบำเหน็จพ.ศ. 2527 จะกำหนดว่า ถ้าพนักงานมีข้อผูกพันในอันที่จำต้องชำระเงินให้แก่โรงงานน้ำตาล ไม่ว่ากรณีใด ๆ ให้หักเงินบำเหน็จที่จะต้องจ่ายชดใช้หนี้นั้นเสียก่อนก็ตาม แต่หนี้ที่จะนำมาหักเงินบำเหน็จนั้นต้องเป็นหนี้ที่พนักงานมิได้โต้แย้งหรือเป็นหนี้ที่ไม่มีข้อต่อสู้ และจำนวนหนี้ต้องกำหนดได้แน่นอนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 344
โจทก์นำสืบปฏิเสธมิได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลย ทั้งคดีที่จำเลย ฟ้องให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหาย ศาลยังมิได้มีคำพิพากษา จึงยังไม่แน่นอนว่า โจทก์มีข้อผูกพันในอันที่จำต้องชำระเงินให้จำเลยหรือไม่ และจำนวนเท่าใด จำเลยไม่มี สิทธิหักเงินบำเหน็จที่โจทก์มีสิทธิได้รับเพื่อชำระหนี้ค่าเสียหาย ตามข้ออ้างของจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2511 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2541 จำเลยได้จ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นพนักงานของโรงงานน้ำตาลสุพรรณบุรี ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 31,740 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างก่อนวันสิ้นเดือน 1 วันเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2541 จำเลยได้มีหนังสือบอกกล่าวเลิกจ้างโจทก์โดยให้มีผลเลิกจ้างในวันที่ 1 สิงหาคม 2541 เนื่องจากจำเลยโอนขายกิจการโรงงานน้ำตาลให้แก่บุคคลอื่น โจทก์ได้ทราบโดยชอบในวันที่ 1 กรกฎาคม 2541 จึงเป็นการบอกกล่าวที่ไม่ชอบ โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเงินบำเหน็จและเงินชดเชยพิเศษรวม 1,245,197.86 บาท แต่จำเลยจ่ายให้โจทก์เพียง 809,046.42 บาท คงค้างอีก 436,151.44 บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินจำนวน 436,151.44 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 31,740 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างก่อนวันสิ้นเดือน 1 วัน เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2541 จำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์โดยชอบ จึงมีผลเลิกสัญญากันในวันที่ 1 สิงหาคม 2541 จำเลยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า แต่จำเลยจ่ายค่าชดเชย เงินบำเหน็จและเงินชดเชยพิเศษให้โจทก์ขาดไปจำนวน 381,907.50 บาท โดยจำเลยหักเงินไว้เพื่อชำระค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยที่จำเลยฟ้องขอให้โจทก์ชดใช้เพราะเหตุโจทก์ละเมิดต่อจำเลย คดีดังกล่าวศาลยังไม่มีคำพิพากษาให้โจทก์รับผิด จำเลยไม่มีสิทธิหักเงินจำนวนดังกล่าว จึงต้องคืนให้โจทก์ พิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 381,907.50 บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยมีสิทธิอายัดหรือหักเงินที่โจทก์มีสิทธิได้รับไว้เพื่อชำระค่าเสียหายที่โจทก์ได้ก่อขึ้นในระหว่างทำงานได้ตามข้อบังคับโรงงานน้ำตาล กรมโรงงานอุตสาหกรรม ว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ. 2527 ข้อ 1 นั้น เห็นว่า แม้ข้อบังคับโรงงานน้ำตาลดังกล่าว จะกำหนดว่า ถ้าพนักงานมีข้อผูกพันในอันที่จำต้องชำระเงินให้แก่โรงงานน้ำตาลไม่ว่ากรณีใด ๆ ให้หักเงินบำเหน็จที่จะต้องจ่ายชดใช้หนี้นั้นเสียก่อนก็ตาม แต่หนี้ที่จะนำมาหักเงินบำเหน็จนั้นต้องเป็นหนี้ที่พนักงานมิได้โต้แย้งหรือเป็นหนี้ที่ไม่มีข้อต่อสู้ และจำนวนหนี้ต้องกำหนดได้แน่นอน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 344 โจทก์นำสืบในคดีนี้ปฏิเสธว่ามิได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลย ทั้งคดีที่จำเลยฟ้องให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหาย ศาลยังมิได้มีคำพิพากษา จึงยังไม่แน่นอนว่าโจทก์มีข้อผูกพันในอันที่จำต้องชำระเงินให้จำเลยหรือไม่ และจำนวนแน่นอนเท่าใด ถือไม่ได้ว่าโจทก์มีข้อผูกพันในอันที่จำต้องชำระเงินให้แก่จำเลยตามข้อบังคับดังกล่าวข้อ 15 จำเลยไม่มีสิทธิหักเงินบำเหน็จที่โจทก์มีสิทธิได้รับเพื่อชำระหนี้ดังอุทธรณ์

พิพากษายืน

Share