คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8897/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กรมธรรม์ประกันภัยซึ่งจำเลยที่ 1 ทำไว้ต่อจำเลยที่ 4 ผู้รับประกันภัยระบุว่า ในกรณีที่มีความสูญหายหรือความเสียหายที่มิอาจซ่อมได้ จำเลยที่ 4 จะใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ผู้รับประโยชน์ตามส่วนได้เสียก่อนนั้นเป็นสัญญาประกันภัยซึ่งจำเลยที่ 4 กับจำเลยที่ 1 ตกลงกันว่าจะให้บุคคลภายนอกได้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ผู้เอาประกันภัยควรได้รับ อันเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอก ตามความใน ป.พ.พ. มาตรา 374 เมื่อมาตรา 374 วรรคสอง บัญญัติว่า… สิทธิของบุคคลภายนอกย่อมเกิดมีขึ้นตั้งแต่เวลาที่แสดงเจตนาแก่ลูกหนี้ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้น แต่ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้แสดงเจตนาแก่จำเลยที่ 4 ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญาดังกล่าวเลย สิทธิของโจทก์จึงยังไม่เกิดขึ้นตามมาตรา 374 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกร้องให้จำเลยที่ 4 ใช้ค่าสินไหมทดแทนในกรณีคืนทุนหรือกรณีที่รถยนต์เสียหายโดยสิ้นเชิงแก่โจทก์ได้ เรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ราคารถยนต์ ๑,๔๕๓,๓๖๔.๕๕ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่สัญญาเลิกจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน ๑๕๗,๓๘๑.๔๖ บาท แก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๓ ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ราคารถยนต์เป็นเงิน ๑,๑๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ ๕๐,๐๐๐ บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกเสีย
จำเลยที่ ๔ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ยกฟ้องจำเลยที่ ๔ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลยที่ ๔ โดยกำหนดค่าทนายความรวม ๒๒,๐๐๐ บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ ๑ ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์กับโจทก์ จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม และจำเลยที่ ๑ ประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าวไว้ต่อจำเลยที่ ๔ โดยจำกัดความรับผิดเป็นเงิน ๑,๘๐๐,๐๐๐ บาท กรมธรรม์ประกันภัยระบุข้อตกลงระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๔ ไว้ว่า ในกรณีมีความสูญหายหรือความเสียหายที่มิอาจซ่อมได้ จำเลยที่ ๔ จะใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ตามส่วนได้เสียก่อน ต่อมารถยนต์คันดังกล่าวประสบอุบัติเหตุเสียหาย และจำเลยที่ ๔ จ่ายเงินจำนวน ๑,๘๐๐,๐๐๐ บาท เต็มตามความรับผิดในสัญญาประกันภัยแก่จำเลยที่ ๑ ไปแล้ว ในส่วนของจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ร่วมกันใช้ราคารถยนต์แก่โจทก์เป็นเงิน ๑,๑๐๐,๐๐๐ บาท
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ ๔ ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ชำระราคารถยนต์ดังกล่าวแก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า กรมธรรม์ประกันภัยซึ่งจำเลยที่ ๑ ผู้เอาประกันภัยทำไว้ต่อจำเลยที่ ๔ ผู้รับประกันภัย ระบุว่า ในกรณีที่มีความสูญหายหรือความเสียหายที่มิอาจซ่อมได้ จำเลยที่ ๔ จะใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ผู้รับประโยชน์ตามส่วนได้เสียก่อนนั้น เป็นสัญญาประกันภัยซึ่งจำเลยที่ ๔ กับจำเลยที่ ๑ ตกลงกันว่าจะให้บุคคลภายนอกได้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ผู้เอาประกันภัยควรได้รับ อันเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอก ตามความใน ป.พ.พ. มาตรา ๓๗๔ เมื่อมาตรา ๓๗๔ วรรคสอง บัญญัติว่า… สิทธิของบุคคลภายนอกย่อมเกิดมีขึ้นตั้งแต่เวลาที่แสดงเจตนาแก่ลูกหนี้ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้น แต่ตามทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้แสดงเจตนาแก่จำเลยที่ ๔ ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญาดังกล่าวเลย ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ก็เบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยที่ ๔ ตอนหนึ่งว่า ในวันที่จำเลยที่ ๔ มอบเช็คชำระค่าสินไหมทดแทนให้แก่จำเลยที่ ๑ พยานมิได้คัดค้านว่าจะต้องชำระให้แก่พยานในฐานะผู้รับประโยชน์ และก่อนหน้านี้โจทก์ก็มิได้มีหนังสือแสดงเจตนาที่จะใช้สิทธิในฐานะเป็นผู้รับประโยชน์ไปยังจำเลยที่ ๔ ด้วย ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ยุติว่า โจทก์มิได้แสดงเจตนาที่จะถือเอาประโยชน์จากกรมธรรม์ประกันภัย สิทธิของโจทก์จึงยังไม่เกิดขึ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา ๓๗๔ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกร้องให้จำเลยที่ ๔ ใช้ค่าสินไหมทดแทนในกรณีคืนทุน หรือกรณีที่รถยนต์เสียหายโดยสิ้นเชิงแก่โจทก์ ตามกรมธรรม์ประกันภัยได้ เรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้
พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา ๑๐,๐๐๐ บาท แทนจำเลยที่ ๔ ให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาส่วนที่เกินจากทุนทรัพย์ ๑,๑๐๐,๐๐๐ บาท แก่โจทก์.

Share