คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1821/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 ในขณะนั้นได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลของรอบปีบัญชี 2539 จำนวน 18,779 บาท ซึ่งต่ำกว่าการประเมินของพนักงานโจทก์ถึง 8,000,000 บาทเศษ จำเลยที่ 1 ต้องชำระภาษีเพิ่มเติมไม่รวมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มเป็นเงินจำนวน 2,817,028.21 บาท จำนวนเงินได้และเงินค่าภาษีที่แตกต่างกันมากเช่นนี้ย่อมชี้ให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ต่ำกว่าเป็นจริงโดยมีเจตนาหลีกเลี่ยงการชำระภาษีให้ถูกต้อง เมื่อโจทก์มีหมายเรียกวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2532 ให้จำเลยที่ 1 ไปให้ถ้อยคำพร้อมส่งมอบบัญชีและเอกสารหลักฐานต่างๆ เพื่อการไต่สวนตรวจสอบ จำเลยที่ 1 จึงต้องทราบแล้วว่าเจ้าพนักงานจะต้องประเมินภาษีของจำเลยที่ 1 ที่ยื่นไว้ไม่ถูกต้องใหม่ และจำเลยที่ 1 ต้องมีหนี้ค่าภาษีอากรที่ต้องชำระเพิ่มเติมต่อโจทก์ การที่จำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมโอนขายที่ดินแก่จำเลยที่ 2 ภายหลังจากทราบว่ามีหนี้ค่าภาษีอากรที่จะต้องถูกประเมินใหม่ชำระเพิ่มเติมต่อโจทก์ แม้หนี้ดังกล่าวจะยังไม่ทราบจำนวนที่แน่นอนจากการประเมินของเจ้าพนักงาน ก็ชี้ให้เห็นว่าเป็นการกระทำเพื่อหลีกเลี่ยงให้ที่ดินดังกล่าวพ้นจากการถูกยึดบังคับชำระหนี้ค่าภาษีอากรแก่โจทก์ อันเป็นการกระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ และเมื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีให้จำเลยที่ 1 จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ทราบอยู่ว่าจำเลยที่ 1 มีหนี้ค่าภาษีอากรที่ต้องชำระเพิ่มเติมต่อโจทก์ แม้ต่อมาจำเลยที่ 2 จะออกจากการเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 แล้ว แต่การที่จำเลยที่ 2 ได้ทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินกับจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 ได้รับหมายเรียกตรวจสอบภาษีจากโจทก์ โดยได้ซื้อขายที่ดินในราคาเพียง 2,990,000 บาท ทั้งๆ ที่ที่ดินมีราคาประเมินรวม 7,960,000 บาท ย่อมชี้ให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 ได้ทราบถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้โจทก์ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย
โจทก์เป็นนิติบุคคลโดยเป็นกรมในรัฐบาล ผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์หรือฟ้องคดีแทนโจทก์คืออธิบดี พนักงานเจ้าหน้าที่อื่นของโจทก์ทุกระดับแม้จะมีหน้าที่ปฏิบัติงานให้แก่โจทก์ แต่ก็ไม่มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์หรือฟ้องคดีแทนโจทก์ได้ เมื่อ น. นิติกรของโจทก์ได้ทำบันทึกข้อความเสนอให้อธิบดีโจทก์ทราบรายละเอียดข้อเท็จจริงเรื่องการโอนที่ดินเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2540 จึงถือได้ว่าโจทก์ได้รู้ถึงการฉ้อฉลการโอนขายที่ดินระหว่างจำเลยทั้งสองในวันที่ 17 มีนาคม 2540 โจทก์ฟ้องคดีวันที่ 25 มิถุนายน 2540 ยังไม่พ้น 1 ปี นับแต่เวลาที่โจทก์รู้มูลเหตุให้เพิกถอน คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินและรายการจดทะเบียนโอนและรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 172515 และ 176472 ถึง 176476 แขวงคลองกุ่ม เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ระหว่างจำเลยที่ 1 ผู้โอน กับจำเลยที่ 2 ผู้รับโอน ตามหนังสือสัญญาขายที่ดินรวม 6 แปลง ซึ่งได้ทำขึ้นไว้ต่อเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบางกะปิ ลงวันที่ 13 มิถุนายน 2533 และตามสารบัญจดทะเบียนในโฉนดที่ดินที่ซื้อขายทั้ง 6 ฉบับ ระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ดังกล่าว
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ชำระภาษีอากรถูกต้องแล้ว การซื้อขายที่ดินทั้ง 6 แปลง ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เป็นการซื้อขายโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน และจำเลยทั้งสองไม่ทราบว่ามีหนี้ค้างชำระภาษีแก่โจทก์ โจทก์เพิ่งมาฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ได้รู้เห็นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนการฉ้อฉลจึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 เคยเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลย จำเลยที่ 2 ซื้อและรับโอนที่ดินทั้ง 6 แปลง จากจำเลยที่ 1 โดยสุจริต และชำระค่าที่ดินครบถ้วน ซึ่งเป็นราคาที่ซื้อขายกันในท้องตลาดในขณะนั้น จำเลยที่ 1 เพิ่งทราบว่าต้องชำระภาษีเพิ่มเมื่อกลางปี 2536 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากที่จำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 ไปนานแล้ว และฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 172515, 176472 ถึง 176476 ตำบลคลองกุ่ม อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ระหว่างจำเลยที่ 1 ผู้โอน กับจำเลยที่ 2 ผู้รับโอน
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2529 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 ในขณะนั้นได้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีต่อโจทก์ไว้แล้ว จำเลยที่ 2 ออกจากการเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 ไปเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2531 ต่อมาวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2532 โจทก์ออกหมายเรียกให้จำเลยที่ 1 ไปให้ถ้อยคำชี้แจ้งและนำบัญชีพร้อมทั้งเอกสารหลักฐานส่งมอบแก่โจทก์เพื่อตรวจสอบการเสียภาษีของจำเลยที่ 1 และโจทก์ตรวจพบว่าจำเลยที่ 1 ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีการค้าและภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2529 ไม่ถูกต้อง โจทก์ประเมินให้จำเลยที่ 1 ต้องชำระภาษีการค้า ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย รวมเบี้ยปรับซึ่งยังไม่รวมเงินเพิ่มตามกฎหมายเป็นเงิน 9,939,980.38 บาท จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือแจ้งการประเมินของโจทก์เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2536 จำเลยที่ 1 ไม่ได้อุทธรณ์โต้แย้งการประเมินและไม่ชำระหนี้ดังกล่าวให้แก่โจทก์ เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2533 จำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมโอนขายที่ดินพิพาทรวม 6 แปลง ให้แก่จำเลยที่ 2 ในราคา 2,990,000 บาท โดยที่ดินทั้ง 6 แปลง ดังกล่าว เจ้าพนักงานที่ดินสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบึงกุ่ม ประเมินราคารวมเป็นเงิน 7,960,000 บาท มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการแรกว่า จำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมโอนขายที่ดินทั้ง 6 แปลง ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบหรือไม่ และจำเลยที่ 2 ได้รู้เท่าถึงข้อความจริงดังกล่าวหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่าเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2530 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 ในขณะนั้นได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลของรอบบัญชีปี 2529 ตามเอกสารหมาย จ.7 ระบุว่าจำเลยที่ 1 ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเงินจำนวน 18, 779 บาท แต่ปรากฏตามการประเมินของเจ้าพนักงานของโจทก์ภายหลังตรวจสอบว่าจำเลยที่ 1 ยื่นแสดงรายได้สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2529 ต่ำไปถึง 8,000,000 บาทเศษ จำเลยที่ 1 ต้องชำระภาษีเพิ่มเติมไม่รวมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มเป็นเงินจำนวน 2,817,028.21 บาท ตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลเอกสารหมาย จ.11 จำนวนเงินได้และเงินค่าภาษีที่แตกต่างกันมากเช่นนี้ย่อมชี้ให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ต่ำกว่าเป็นจริงโดยมีเจตนาหลีกเลี่ยงการชำระภาษีให้ถูกต้อง เมื่อโจทก์มีหมายเรียกตามประมวลรัษฎากรวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2532 ตามเอกสารหมาย จ.8 ให้จำเลยที่ 1 ไปให้ถ้อยคำพร้อมส่งมอบบัญชีและเอกสารหลักฐานต่างๆ เพื่อการไต่สวนตรวจสอบ จำเลยที่ 1 จึงต้องทราบแล้วว่าเจ้าพนักงานจะต้องประเมินภาษีของจำเลยที่ 1 ที่ยื่นไว้ไม่ถูกต้องใหม่ และจำเลยที่ 1 ต้องมีหนี้ค่าภาษีอากรที่ต้องชำระเพิ่มเติมต่อโจทก์ ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมโอนขายที่ดินจำนวน 6 แปลง แก่จำเลยที่ 2 ในวันที่ 13 มิถุนายน 2533 อันเป็นเวลาภายหลังจากทราบว่ามีหนี้ค่าภาษีอากรที่จะต้องถูกประเมินใหม่ชำระเพิ่มเติมต่อโจทก์ แม้หนี้ดังกล่าวจะยังไม่ทราบจำนวนที่แน่นอนจากการประเมินของเจ้าพนักงาน ก็ชี้ให้เห็นว่าเป็นการกระทำเพื่อหลีกเลี่ยงให้ที่ดินดังกล่าวพ้นจากการถูกยึดบังคับชำระหนี้ค่าภาษีอากรแก่โจทก์อันเป็นการกระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ และเมื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีให้จำเลยที่ 1 จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ทราบอยู่ว่าจำเลยที่ 1 มีหนี้ค่าภาษีอากรที่ต้องชำระเพิ่มเติมต่อโจทก์ แม้ต่อมาจำเลยที่ 2 จะออกจากการเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 แล้ว แต่การที่จำเลยที่ 2 ได้ทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินกับจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 ได้รับหมายเรียกตรวจสอบภาษีจากโจทก์ โดยจำเลยที่ 1 ขายที่ดินรวม 6 แปลง ให้แก่จำเลยที่ 2 ในราคาเพียง 2,990,000 บาท ทั้งๆ ที่ที่ดินทั้ง 6 แปลง ดังกล่าว เจ้าพนักงานที่ดินประเมินราคาไว้เป็นเงินรวม 7,960,000 บาท ย่อมชี้ให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 ได้ทราบถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้โจทก์ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย สำหรับที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า จำเลยที่ 2 รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้ง 6 แปลง โดยเสียค่าตอบแทน กับฎีกาที่ว่า ในขณะระหว่างที่มีการประเมินภาษีของโจทก์นั้น จำเลยที่ 1 ยังมีทรัพย์สินอื่นรวมมูลค่าถึง 10,000,000 บาท โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินระหว่างจำเลยทั้งสองได้นั้นล้วนมิใช่ประเด็นข้อพิพาทที่ได้กำหนดไว้ในการชี้สองสถาน จึงมิใช่เป็นข้อที่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย
คงมีปัญหาวินิจฉัยต่อไปว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ปัญหานี้จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ตามคำเบิกความของโจทก์ทุกปากที่เป็นเจ้าหน้าที่ของโจทก์ต่างเบิกความสรุปได้ว่า ในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่สรรพากรต้องถือว่ากระทำการแทนกรมสรรพากรโจทก์ เมื่อสำนักงานสรรพากรกรุงเทพมหานคร มีหนังสือลงวันที่ 25 มีนาคม 2539 ไปถึงกรมสรรพากรเพื่อให้ดำเนินคดีแก่จำเลยตามเอกสารหมาย จ.16 และเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบึงกุ่ม มีหนังสือลงวันที่ 19 ธันวาคม 2538 แจ้งต่อกรมสรรพากรว่าจำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินพิพาทคดีนี้ให้แก่จำเลยที่ 2 ตามเอกสารหมาย จ.24 จึงต้องถือว่ากรมสรรพากรโจทก์รู้เหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายระหว่างจำเลยทั้งสองตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2538 หรืออย่างช้าไม่เกินวันที่ 25 มีนาคม 2539 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2540 ซึ่งพ้นกำหนด 1 ปี แล้ว เห็นว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลโดยเป็นกรมในรัฐบาล ผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์หรือฟ้องคดีแทนโจทก์คืออธิบดี พนักงานเจ้าหนี้ที่อื่นของโจทก์ทุกระดับแม้จะมีหน้าที่ปฏิบัติงานให้แก่โจทก์ แต่ก็ไม่มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์หรือฟ้องคดีแทนโจทก์ได้ คดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายศรีณรงค์ แกล้วทะนงค์ นิติกร 5 ของโจทก์ได้ทำบันทึกข้อความลงวันที่ 13 มีนาคม 2540 ตามเอกสารหมาย จ.16 เสนอให้อธิบดีโจทก์ทราบรายละเอียดข้อเท็จจริงเรื่องการโอนที่ดินอันเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2540 จึงถือได้ว่าโจทก์ได้รู้ถึงการฉ้อฉลการโอนขายที่ดินระหว่างจำเลยทั้งสองในวันที่ 17 มีนาคม 2540 โจทก์ฟ้องคดีวันที่ 25 มิถุนายน 2540 ยังไม่พ้น 1 ปี นับแต่เวลาที่โจทก์รู้มูลเหตุให้เพิกถอน คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษามาชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share