แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยที่ 2 ได้เขียนบทความเกี่ยวกับโจทก์ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ ก.เปรียบเทียบโจทก์กับบุคคลอีกคนหนึ่งว่ามีจิตวิญญาณของครูโดยแท้ ส่วนโจทก์น่าจะเรียกว่าผู้รับจ้างสอนมากกว่า เพราะมีพฤติกรรมตรงกันข้ามกับบุคคลดังกล่าวราวฟ้ากับดินและข้อความที่ว่า อย่าไปบ้าจี้กับผู้นี้ (โจทก์) มากนักเพราะแทนที่จะส่งเสริมให้สหกรณ์เจริญก้าวหน้ากลับจะเป็นการฉุดรั้งความก้าวหน้ากับข้อความว่า โจทก์สมัครเข้าเป็นสมาชิกร้านสหกรณ์ พ. อีกแห่งหนึ่ง หลังเข้ามากวนน้ำให้ขุ่นอย่างมีวัตถุประสงค์อะไรน่าระอาเต็มทนกับพฤติกรรมของคนประเภทนี้เป็นการเปรียบเทียบและมีความหมายให้ผู้อื่นที่ได้อ่าน ได้ยินหรือได้ฟังเกิดความรู้สึกและเข้าใจต่อตัวโจทก์ว่ามีพฤติกรรมไปในทางไม่ดี ไม่เหมาะสมที่จะเป็นครูน่าจะเรียกว่าผู้รับจ้างสอนและเป็นผู้ทำลายวงการสหกรณ์ น่าระอากับพฤติกรรมของโจทก์แม้ข้อความบางตอนเป็นการชี้แจงตอบโต้ถึงเรื่องที่โจทก์กล่าวหาอันพอจะถือได้ว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรมป้องกันตนหรือส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม แต่การที่จำเลยที่ 2 อ้างว่าเป็นการตอบโต้ถึงเรื่องที่โจทก์มักจะกล่าวโจมตีผู้อื่นและร้องเรียนผู้อื่นต่อนายทะเบียนสหกรณ์ซึ่งไม่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 เป็นเรื่องของผู้ที่ถูกร้องเรียนกล่าวหาจะแสดงความคิดเห็นหรือข้อความเพื่อป้องกันส่วนได้เสียของตนเอง แม้บทความของจำเลยที่ 2 จะชี้แจงถึงระบบสหกรณ์อยู่ด้วย แต่เมื่ออ่านประกอบกันแล้วถือไม่ได้ว่าเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำการกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328, 332, 83, 84 พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2484 มาตรา 4, 48, 49 ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันโฆษณาคำพิพากษาทั้งหมดในหนังสือพิมพ์เกลียวเชือก ไทยรัฐ เดลินิวส์ มติชน ข่าวสด เดอะเนชั่น ผู้จัดการ สยามโพสต์ และกรุงเทพธุรกิจด้วยเนื้อที่ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของหนังสือพิมพ์แต่ละฉบับเป็นเวลา 15 วัน ติดต่อกัน โดยจำเลยทั้งสี่เป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีเฉพาะจำเลยที่ 2 มีมูลให้ประทับฟ้องไว้พิจารณา ส่วนจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 คดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2484 มาตรา 48ลงโทษจำคุก 1 ปี และปรับ 100,000 บาท จำเลยที่ 2 ไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อนโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56ไม่ชำระค่าปรับ จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 และให้จำเลยที่ 2โฆษณาคำพิพากษาทั้งหมดในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ด้วยเนื้อที่ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของหน้าเป็นเวลา 7 วัน ติดต่อกัน โดยให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายคำขออื่นให้ยก
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยที่ 2 มิได้โต้แย้งกันฟังได้ยุติว่า โจทก์รับราชการในตำแหน่งรองศาสตราจารย์ระดับ 9 ประจำคณะพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และเป็นรองประธานกรรมการดำเนินการร้านสหกรณ์กรุงเทพ จำกัด และรองประธานกรรมการดำเนินการชุมนุมร้านสหกรณ์แห่งประเทศไทย จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของ บรรณาธิการ ผู้พิมพ์ผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์เกลียวเชือกรวมทั้งเป็นผู้สื่อข่าวและเขียนบทความในหนังสือพิมพ์ดังกล่าวโดยใช้นามปากกา “ขุนราม” “วิกรม” และ “รุ้งกินน้ำ” และเป็นสมาชิกของร้านสหกรณ์พระนคร จำกัด และร้านสหกรณ์กรุงเทพ จำกัด ด้วย จำเลยที่ 2 ได้ลงพิมพ์บทความเกี่ยวกับโจทก์ในหนังสือพิมพ์เกลียวเชือกตามเอกสารหมาย จ.3 ถึง จ.7 มีข้อความดังที่โจทก์กล่าวในฟ้อง ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่าข้อความดังกล่าวเป็นหมิ่นประมาทโจทก์หรือไม่ ข้อเท็จจริงรับกันว่า ก่อนที่จะมีการลงพิมพ์ข้อความดังกล่าวได้มีการประชุมสามัญประจำปีของชุมนุมร้านสหกรณ์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2538 ที่โรงแรมใบหยก พัทยา เพื่อรับรองงบดุลและเลือกตั้งกรรมการชุดใหม่โจทก์เข้าร่วมประชุมในฐานะตัวแทนของร้านสหกรณ์กรุงเทพ จำกัด จำเลยที่ 2 เข้าร่วมประชุมในฐานะสื่อมวลชน โจทก์ได้อภิปรายในที่ประชุมถึงการดำเนินการของสหกรณ์ในปีดังกล่าวว่ามีการทุจริต และเมื่อมีการเลือกตั้งกรรมการดำเนินการ นายขจร อภิชาติ ซึ่งเป็นประธานชุมนุมร้านสหกรณ์แห่งประเทศไทยในขณะนั้นไม่ได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการดำเนินการ ส่วนโจทก์ได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนสูงสุด และเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2539 โจทก์ได้มีหนังสือร้องเรียนต่อนายทะเบียนสหกรณ์ขอให้ตรวจสอบร้านสหกรณ์พระนคร จำกัด และชุมนุมร้านสหกรณ์แห่งประเทศไทย ตามเอกสารหมาย จ.8 โดยมีประเด็นการตรวจสอบหลายข้อเฉพาะในข้อ 1.4 นั้น กล่าวหาว่านายขจรได้จ่ายเงินของสหกรณ์จำนวนหลายหมื่นบาทให้แก่สิ่งพิมพ์ที่ไร้จรรยาบรรณชื่อเกลียวเชือกอ้างว่าเพื่อส่งเสริมการขาย แต่สิ่งพิมพ์ดังกล่าวมิได้เพิ่มยอดขายแก่ร้านสหกรณ์เลย นอกจากทำหน้าที่โฆษณาชวนเชื่อสร้างภาพแก่นายขจรเป็นส่วนตัว และโจมตีด่าทอทำลายศัตรูของนายขจร ซึ่งต่อมาจากการตรวจสอบเป็นผลให้กรรมการดำเนินการร้านสหกรณ์พระนคร จำกัด งดซื้อและงดจ่ายค่าโฆษณาให้แก่หนังสือพิมพ์เกลียวเชือกอีกต่อไป หลังจากการอภิปรายและมีหนังสือร้องเรียนของโจทก์ดังกล่าวแล้ว จำเลยได้เขียนบทความเกี่ยวกับโจทก์ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์เกลียวเชือกตามเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.7 จำเลยที่ 2 นำสืบว่า เหตุที่เขียนบทความเปรียบเทียบโจทก์กับครูสมบูรณ์เสรีเวสารัตน์ ว่ามีจิตวิญญาณของครูโดยแท้ ส่วนโจทก์น่าจะเรียกว่าผู้รับจ้างสอนมากกว่าเพราะมีพฤติกรรมตรงกันข้ามกับครูสมบูรณ์ราวฟ้ากับดิน เนื่องจากได้เห็นโจทก์ในฐานะเป็นผู้นำสหกรณ์ในระดับชาติแต่งกายเข้าร่วมการประชุมไม่สุภาพและมักจะอภิปรายโจมตีผู้อื่น ทั้งขณะนั้นได้มีการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับชีวิตของครูสมบูรณ์ว่า หลังจากสำเร็จการศึกษาแล้ว ได้อาสาออกไปสอนเด็กในชนบททุรกันดารเป็นเวลาถึง 30 ปี ส่วนข้อความที่ว่า อย่าไปบ้าจี้กับผู้นี้มากนัก เพราะแทนที่จะส่งเสริมให้สหกรณ์เจริญก้าวหน้า กลับจะเป็นตัวฉุดรั้งความก้าวหน้าเสียเอง และข้อความที่ว่า การที่นายฉายศิลป์ สมัครเข้ามาเป็นสมาชิกร้านสหกรณ์พระนครอีกแห่งหนึ่ง หลังเข้ามากวนน้ำให้ขุ่นอย่างมีวัตถุประสงค์อะไร น่าระอาเต็มทนกับพฤติกรรมของคนประเภทนี้ก็เพราะโจทก์ร้องเรียนบุคคลต่าง ๆ ต่อนายทะเบียนเป็นประจำนั้นเห็นว่า ข้อความดังกล่าวข้างต้นเป็นการเปรียบเทียบและมีความหมายให้ผู้อื่นที่ได้อ่านได้ยิน หรือได้ฟังเกิดความรู้สึกและเข้าใจต่อตัวโจทก์ว่ามีพฤติกรรมไปในทางไม่ดีไม่เหมาะสมที่จะเป็นครู น่าจะเรียกว่าผู้รับจ้างสอนและเป็นผู้ทำลายวงการสหกรณ์น่าระอากับพฤติกรรมของโจทก์ แม้ข้อความบางตอนเป็นการชี้แจงตอบโต้ถึงเรื่องที่โจทก์กล่าวหาว่านายขจรจ่ายเงินให้กับหนังสือพิมพ์เกลียวเชือกเพื่อโฆษณาสร้างภาพให้ตัวเองอันพอจะถือได้ว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรมป้องกันตนหรือส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม แต่การที่จำเลยที่ 2 อ้างว่าเป็นการตอบโต้ถึงเรื่องที่โจทก์มักจะกล่าวโจมตีผู้อื่นและร้องเรียนนายขจรต่อนายทะเบียนสหกรณ์ถึงการเปิดสาขากิ่งแก้ว ที่หมู่บ้านบางพลีนิเวศน์ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ว่านายขจรอ้างอย่างสับสนว่า เป็นการร่วมทุนแต่ที่แท้จริงเป็นการจงใจให้ผู้อื่นใช้ชื่อสหกรณ์เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีการค้าและเงินได้นิติบุคคล เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายนั้นไม่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 เป็นเรื่องของผู้ที่ถูกร้องเรียนกล่าวหาจะแสดงความคิดเห็นหรือข้อความเพื่อป้องกันส่วนได้เสียของตนเองแม้บทความของจำเลยที่ 2 จะชี้แจงถึงระบบสหกรณ์อยู่ด้วย แต่เมื่ออ่านประกอบกันแล้วถือไม่ได้ว่าเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำการกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์ตามฟ้อง”
พิพากษากลับว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 พระราชบัญญัติการพิมพ์ พุทธศักราช 2484 มาตรา 48 วรรคสอง จำคุก 1 ปี ปรับ 30,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เคยรับโทษจำคุกมาก่อน เมื่อพิเคราะห์ประกอบกับพฤติการณ์แห่งคดีแล้วสมควรให้โอกาสจำเลยที่ 2 สักครั้งหนึ่งโทษจำคุก จึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 และให้จำเลยที่ 2 โฆษณาคำพิพากษาโดยย่อพอได้ใจความในหนังสือพิมพ์เกลียวเชือกด้วยเนื้อที่ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของหน้าเป็นเวลาติดต่อกัน 7 วัน โดยให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด