คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3196/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้การซื้อขายที่ดินมือเปล่าระหว่าง ส. บิดาโจทก์กับ ต. ไม่ได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จะเป็นโมฆะ แต่เมื่อ ต. ส่งมอบการครอบครองให้แก่ ส. ถือว่า ต. สละการครอบครองให้แก่ ส. แล้ว แม้มีข้อตกลงว่าเมื่อไถ่ถอนจำนองแล้ว จึงจะโอนที่ดินให้ ส. ก็เป็นเรื่องประสงค์ให้มีหลักฐานทางทะเบียนหลังจากที่ได้โอนสิทธิครอบครองแล้ว เพราะขณะนั้น ต. จำนองที่ดินไว้กับ พ. ไม่อาจโอนทางทะเบียนได้ มิใช่เงื่อนไขอันจะทำให้ กลายเป็นสัญญาจะซื้อขาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่า ที่ดินส่วนด้านทิศใต้ของที่ตามโฉนดเลขที่ 19072 ตำบลนาส่วง อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี เนื้อที่ประมาณ 1 ไร่เป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยทั้งสองและบริวารเข้าเกี่ยวข้องต่อไป ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายปีละไม่ต่ำกว่า 1,920 บาท แก่โจทก์ นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะเลิกเกี่ยวข้องกับที่ดินดังกล่าว

จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่ดินตามแผนที่สังเขปเอกสารท้ายฟ้องอันเป็นที่ดินเฉพาะส่วนด้านทิศใต้ของที่ดินตามโฉนดเลขที่ 19072 ตำบลนาส่วง อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี เนื้อที่ 1 ไร่ เป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยที่ 1 และบริวารเกี่ยวข้องอีกต่อไป ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ปีละ 1,920 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะเลิกเกี่ยวข้องกับที่ดิน ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ด้วย

โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้เป็นยุติว่า ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 6 ตำบลนาส่วง อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี เดิมเป็นของนายตา วนาพันธ์ นายตาจดทะเบียนจำนองแก่นายพูล สายเหลา ขณะที่ยังไม่ไถ่ถอนจำนอง นายตาแบ่งขายที่ดินพิพาทให้แก่นายสงกรานต์ ร่มเย็นบิดาโจทก์เมื่อปี 2521 นายสงกรานต์ให้โจทก์ครอบครองทำประโยชน์ตลอดมา ต่อมานายตาถึงแก่กรรม นายอำคา วนาพันธ์ รับมรดกมาและได้ขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2531 จำเลยที่ 2 ขายต่อให้จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2536 ต่อมาที่ดินตาม น.ส. 3 ก. ดังกล่าวได้ออกเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 19072 เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2537 มีจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ โดยรวมที่ดินพิพาทไว้ด้วย ตามโฉนดที่ดินเลขที่ 19072 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์ได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทหรือไม่ เห็นว่า การซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างนายสงกรานต์กับนายตาแม้ไม่ได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคแรก ก็ตาม แต่ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่าที่มีเพียงหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เป็นหลักฐาน เจ้าของที่ดินจึงมีเพียงสิทธิครอบครองเท่านั้น เมื่อนายตาได้ส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่นายสงกรานต์บิดาโจทก์ ถือว่านายตาได้สละการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่บิดาโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1377, 1378 แล้ว เมื่อโจทก์ได้เข้าครอบครองโดยบิดายกให้ โจทก์ย่อมได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท แม้นางดวงใจ ร่มเย็น และนางวนิดา ร่มเย็น พยานโจทก์ทั้งสองปากจะเบิกความว่า ขณะซื้อขายที่ดินพิพาทมีข้อตกลงว่าเมื่อไถ่ถอนจำนองแล้ว จึงจะมีการโอนที่ดินพิพาทให้แก่นายสงกรานต์ก็ตาม ก็เป็นเรื่องประสงค์จะให้มีหลักฐานทางทะเบียนภายหลังจากที่ได้โอนสิทธิครอบครองแล้วเท่านั้น เพราะในขณะที่มีการซื้อขายที่ดินพิพาทนั้น นายตาได้จำนองที่ดินดังกล่าวทั้งแปลงรวมทั้งที่ดินพิพาทไว้กับนายพูลไม่อาจทำการโอนทางทะเบียนได้ จึงมิใช่เงื่อนไขในสัญญาซื้อขายอันจะมีผลทำให้สัญญาซื้อขายดังกล่าวซึ่งเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดกลายเป็นสัญญาจะซื้อขาย ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามาไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น และเมื่อฟังว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทแล้ว การที่จำเลยที่ 1 ใช้รถแทรกเตอร์ไถที่ดินพิพาท ทำให้โจทก์ไม่อาจเข้าไปทำนาได้ ย่อมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share