คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4565/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 โจทก์มิได้อุทธรณ์ แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะลงชื่อมาในท้ายอุทธรณ์ แต่ก็ไม่ได้อุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นคดีสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาต่อมา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
แม้โจทก์มิได้ส่งสำเนาคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องให้แก่จำเลยไม่น้อยกว่า 3 วันตามกำหนด แต่เมื่อจำเลยได้รับสำเนาคำร้องดังกล่าวแล้ว จำเลยไม่ได้คัดค้านที่โจทก์ไม่ส่งสำเนาคำร้อง และเมื่อศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมฟ้องแล้ว จำเลยยังขอให้ศาลชั้นต้นเลื่อนการชี้สองสถานไปเพื่อจำเลยจะได้แก้ไขเพิ่มเติมคำให้การเกี่ยวกับที่โจทก์ขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องด้วย เช่นนี้เท่ากับจำเลยให้สัตยาบันแก่การพิจารณาที่ผิดระเบียบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 27 แล้ว จำเลยจะยกเอาเหตุนี้ขึ้นมาคัดค้านในภายหลังอีกไม่ได้
แม้ที่ดินที่โจทก์ปลูกอ้อยจะเป็นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่โจทก์เข้าไปยึดถือครอบครองโดยไม่ชอบก็ตาม แต่อ้อยดังกล่าวก็ยังเป็นทรัพย์ของโจทก์ เมื่อมีบุคคลอื่นมาทำให้อ้อยที่โจทก์ปลูกไว้เสียหาย ย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากผู้มาทำละเมิดได้
การปลูกป่าจำเป็นต้องแผ้วถางก่อน เมื่อแผ้วถางแล้วก็ต้องเผาหญ้าและต้นไม้ที่แผ้วถาง เพื่อให้พื้นที่เตียนจะได้ปลูกป่าต่อไป การที่คนงานปลูกป่าของจำเลยจุดไฟเผาหญ้าและต้นไม้ที่แผ้วถางไว้ จึงเป็นงานในทางการที่จ้าง จำเลยจะยกเอาเหตุดังกล่าวมาปัดความรับผิดหาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าพนักงานป่าไม้ ๕ สำนักงานป่าไม้เขตอุดรธานีจำเลยที่ ๒ เป็นป่าไม้เขตอุดรธานี จำเลยที่ ๓ เป็นผู้สั่งให้จำเลยที่ ๒ และที่ ๑ ทำการแผ้วถางป่าเผาป่าที่แผ้วถางและปลูกป่าตามนโยบายของจำเลยที่ ๓ ในเขตท้องที่ตำบลแสงสว่าง กิ่งอำเภอหนองแสง จังหวัดอุดรธานี เมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๖ เวลากลางวัน จำเลยที่ ๑ ได้ใช้ให้นายหนูเจน โสภี กับพวกซึ่งเป็นลูกจ้างถางป่า ทำการเผาป่าที่แผ้วถางเพื่อปลูกป่าตามคำสั่งของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ตามอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ นายหนูเจนกับพวกได้กระทำโดยประมาทจุดไฟเผาป่าที่แผ้วถางไว้ ทำให้ไฟเกิดลุกลามไหม้ไร่อ้อยของโจทก์ ขอให้ จำเลยทั้งสามใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสามให้การต่อสู้คดี
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๓ ชำระเงิน ๘๒,๘๐๐ บาทแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย ส่วนจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ให้ยกฟ้อง
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ ๑ และที่ ๒โจทก์มิได้อุทธรณ์ แม้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ จะลงชื่อมาในท้ายอุทธรณ์ แต่ก็ไม่ได้อุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น คดีสำหรับจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ที่จำเลยที่ ๓ ฎีกาว่า โจทก์มิได้ส่งสำเนาคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องให้แก่จำเลยที่ ๓ ตามกำหนด ศาลชั้นต้นจึงไม่ควรอนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมฟ้องนั้น ก็ได้ความตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นฉบับลงวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๒๗ ว่า เมื่อจำเลยที่ ๓ได้รับสำเนาคำร้องดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ ๓ แถลงคัดค้านเฉพาะการแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องข้อ ๑ ว่าเป็นการเพิ่มเติมตัวจำเลยที่ ๒ ขึ้นมาเท่านั้น ส่วนที่ขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องข้ออื่น ๆ ตลอดจนเรื่องไม่ส่งสำเนาคำร้องจำเลยที่ ๓ ไม่ได้คัดค้าน ศาลชั้นต้นจึงสั่งไม่อนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมฟ้องเฉพาะข้อ ๑ ที่จำเลยที่ ๓ คัดค้านเท่านั้น นอกนั้นอนุญาตให้แก้ไขเพิ่มเติมทั้งหมด นอกจากจำเลยที่ ๓ จะไม่คัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้นเสียในตอนนั้นแล้ว จำเลยที่ ๓ ยังขอให้ศาลชั้นต้นเลื่อนการชี้สองสถานไปเพื่อจำเลยที่ ๓ จะได้แก้ไขเพิ่มเติมคำให้การเกี่ยวกับการที่โจทก์ขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องด้วย ดังนี้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๓ มิได้คัดค้านว่าโจทก์มิได้ส่งสำเนาคำร้องแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องให้แก่จำเลยที่ ๓ ตามกำหนดเสียในตอนนั้น เท่ากับจำเลยที่ ๓ ให้สัตยาบันแก่การพิจารณาที่ผิดระเบียบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๗ ชอบแล้ว จำเลยที่ ๓ยกเอาเหตุนี้ขึ้นมาคัดค้านในภายหลังอีกไม่ได้
ที่จำเลยที่ ๓ ฎีกาว่า โจขทก์เข้าไปยึดถือครอบครองก่นสร้างในที่ดินป่าสงวนแห่งชาติโดยมิชอบ จึงไม่มีสิทธิเรียกเอาผลประโยชน์หรือค่าเสียหายอันเกิดแก่พืชไร่ที่โจทก์ปลูกไว้ในที่ดินดังกล่าว เห็นว่า แม้ที่ดินที่โจทก์ปลูกอ้อยจะเป็นป่าสงวนแห่งชาติที่โจทก์เข้าไปยึดถือครอบครองโดยไม่ชอบก็ตาม อ้อยดังกล่าวก็ยังเป็นทรัพย์ของโจทก์ เมื่อมีบุคคลอื่นมาทำให้อ้อยที่โจทก์ปลูกไว้เสียหายย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากผู้มาทำละเมิดได้
ที่จำเลยที่ ๓ ฎีกาว่า จำเลยที่ ๓ จ้างคนงานมาให้ปลูกป่า มิได้ให้มาเผาป่าการที่คนงานจุดไฟเผาป่าจึงมิใช่การกระทำในทางการที่จ้าง เห็นว่า การปลูกป่าจำเป็นต้องแผ้วถางก่อน เมื่อแผ้วถางแล้วก็ต้องเผาหญ้าและต้นไม้ที่แผ้วถาง เพื่อให้พื้นที่เตียนจะได้ปลูกป่าต่อไป การที่คนงานของจำเลยที่ ๓ จุดไฟเผาหญ้าและต้นไม้ที่แผ้วถางไว้ จึงเป็นงานในทางการที่จ้าง จำเลยที่ ๓ จะยกเอาเหตุดังกล่าวมาปัดความรับผิดหาได้ไม่
พิพากษายืน.

Share