คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4499/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสาม ให้อำนาจจำเลยที่จะฟ้องโจทก์มาในคำให้การได้หากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับฟ้องเดิม และอำนาจในการฟ้องแย้งของจำเลยดังกล่าวนำมาใช้ในคดีแรงงานด้วยโดยอนุโลมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 31 เมื่อปรากฏว่าจำเลยฟ้องแย้งมาในคำให้การและศาลแรงงานกลางมีคำสั่งรับคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยแล้ว โจทก์ย่อมตกเป็นจำเลยตามฟ้องแย้ง คดีตามฟ้องแย้งจึงมีคู่ความครบถ้วนที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปได้ ดังนั้น การที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งจำหน่ายคดีโจทก์คงมีผลทำให้ไม่มีฟ้องเดิมที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปเท่านั้น หามีผลให้ฟ้องแย้งของจำเลยตกไปด้วยไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ประกอบกิจการรับประกันวินาศภัยต่าง ๆ จำเลยเป็นลูกจ้างของโจทก์ตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน 2532 ครั้งสุดท้ายมีตำแหน่งเป็นผู้จัดการภาคศูนย์บริการลำปางมีหน้าที่ติดต่อลูกค้าของโจทก์ที่มีความประสงค์จะทำประกันวินาศภัยและประกันภัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ในการรับประกันภัยดังกล่าวจำเลยมีหน้าที่นำเงินค่าเบี้ยประกันภัยชำระให้แก่โจทก์ภายใน 45 วัน นับแต่วันที่จำเลยแจ้งให้โจทก์ทราบถึงการเอาประกันภัยของลูกค้าแต่ละราย นอกจากนี้ในการรับประกันภัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประกันภัยจากรถ พ.ศ. 2535 นั้น เมื่อจำเลยนำตารางกรมธรรม์จากโจทก์ไปรับประกันภัยให้แก่เจ้าของรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์แล้ว จำเลยจะต้องแจ้งการรับประกันภัยให้โจทก์ทราบ หากจำเลยไม่แจ้งการรับประกันภัยและไม่นำส่งตารางกรมธรรม์เปล่าคืนโจทก์หรือทำตารางกรมธรรม์เปล่าสูญหายจำเลยต้องชำระเงินให้แก่โจทก์ตารางกรมธรรม์ละ 1,500 บาท เมื่อระหว่างปี 2541 ถึงปี 2542 จำเลยได้กระทำทุจริตและปฏิบัติผิดหน้าที่โดยจำเลยได้แจ้งการนำรถยนต์มาประกันวินาศภัยกับโจทก์และโจทก์ได้รับประกันภัยโดยออกกรมธรรม์ให้แก่ผู้เอาประกันภัยแล้ว แต่จำเลยไม่นำส่งเบี้ยประกันภัยหลังหักค่าตอบแทนแล้วให้แก่โจทก์รวม 206 กรมธรรม์เป็นเงิน 1,347,491.04 บาท และจำเลยได้นำตารางกรมธรรม์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ไปรับประกันภัยรถยนต์และรถจักรยานยนต์ แต่ไม่รายงานการรับประกันภัยและไม่ส่งคืนตารางกรมธรรม์ รวมทั้งไม่นำส่งเบี้ยประกันภัย รวมค่าเสียหายและเบี้ยประกันภัยหลังจากหักค่าตอบแทนแล้วเป็นเงิน 5,619,203 บาท รวมเป็นเงินที่จำเลยจะต้องชำระให้แก่โจทก์เป็นเงิน 6,966,694.04 บาท โจทก์ขอคิดค่าเสียหายเท่ากับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินค่าเบี้ยประกันภัยจำนวน 1,347,491.04 บาท นับจากวันสุดท้ายของแต่ละเดือนที่จำเลยแจ้งทำสัญญาประกันภัยกับโจทก์ไปอีก 45 วัน จนถึงวันฟ้องคิดเป็นดอกเบี้ยจำนวน 99,077.84 บาท รวมเป็นเงินที่จำเลยจะต้องชำระแก่โจทก์โดยรวมดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 7,065,771.88 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน7,065,771.88 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 6,966,694.04 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การและฟ้องแย้งและแก้ไขคำให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยเป็นลูกจ้างโจทก์ตำแหน่งผู้จัดการศูนย์บริการลำปาง ได้รับอัตราค่าจ้างสุดท้ายเดือนละ 11,270 บาทจำเลยไม่เคยตกลงกับโจทก์ว่าเมื่อจำเลยได้แจ้งให้โจทก์รับประกันวินาศภัยรถยนต์แล้วจำเลยจะต้องนำส่งเบี้ยประกันภัยให้แก่จำเลยภายใน 45 วัน แต่อย่างใด และจำเลยไม่เคยตกลงว่าหากจำเลยนำกรมธรรม์ประกันภัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ไปจำหน่ายแล้ว ถ้าจำเลยไม่แจ้งการรับประกันภัยและไม่นำส่งตารางกรมธรรม์ประกันภัย รวมทั้งตารางกรมธรรม์เปล่าคืนแก่โจทก์ หรือทำตารางกรมธรรม์เปล่าสูญหาย จำเลยจะต้องชำระเงินให้แก่โจทก์ตารางกรมธรรม์ละ 1,500 บาท ในระหว่างเดือนตุลาคม 2542 ถึงเดือนพฤษภาคม 2543 มีกรมธรรม์ประกันภัยที่ศูนย์บริการลำปางรับผิดชอบมากกว่าเดือนละ 400 กรมธรรม์จำเลยได้ส่งเบี้ยประกันภัยให้แก่โจทก์ครบถ้วนไม่มีค้างชำระ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเนื่องจากจำเลยไม่อาจทราบได้ว่า คำฟ้องหมายถึงรถคันใด เบี้ยประกันจำนวนเท่าใดวันเริ่มต้นประกันภัยและวันสิ้นสุดกรมธรรม์เมื่อใด ต่อมาเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2543 โจทก์เลิกจ้างจำเลยโดยจำเลยไม่มีความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่จำเลยไม่น้อยกว่า 300 วัน เป็นเงิน 112,700 บาท จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 16,905 บาท และค่าจ้างค้างจ่ายเป็นเงิน 39,445 บาท ขอให้ยกฟ้องและบังคับให้โจทก์จ่ายค่าชดเชย ค่าจ้างค้างจ่าย เงินเพิ่มตามกฎหมายและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็น 1,313,341 บาทแก่จำเลยและให้โจทก์ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงินค่าชดเชย 112,700 บาท ค่าจ้างค้างจ่าย 39,445 บาท และเงินเพิ่มตามกฎหมายนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย

โจทก์มิได้ให้การแก้ฟ้องแย้ง

หลังจากศาลแรงงานกลางมีคำสั่งรับคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยแล้วปรากฏว่าในวันนัดพิจารณาและสืบพยานโจทก์ โจทก์ไม่ไปศาลตามกำหนดนัดศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่า ถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีต่อไป ให้จำหน่ายคดีโจทก์ออกจากสารบบความ และเนื่องจากศาลแรงงานกลางจำหน่ายคดีของโจทก์แล้ว จึงไม่มีตัวโจทก์ที่จะให้จำเลยฟ้องแย้งอีก จึงให้จำหน่ายฟ้องแย้งของจำเลยออกจากสารบบความด้วย

จำเลยอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า มีเหตุที่จะเพิกถอนคำสั่งของศาลแรงงานกลางที่ให้จำหน่ายฟ้องแย้งของจำเลยหรือไม่เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสาม บัญญัติว่า “จำเลยจะฟ้องแย้งมาในคำให้การก็ได้ แต่ถ้าฟ้องแย้งนั้นเป็นเรื่องอื่นไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิมแล้วให้ศาลสั่งให้จำเลยฟ้องเป็นคดีต่างหาก” บทบัญญัติดังกล่าวให้อำนาจจำเลยที่จะฟ้องโจทก์มาในคำให้การได้ถ้าหากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับฟ้องเดิม และอำนาจในการฟ้องแย้งของจำเลยดังกล่าวนำมาใช้ในคดีแรงงานด้วยโดยอนุโลมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ฉะนั้น เมื่อจำเลยฟ้องแย้งเข้ามาในคำให้การและศาลแรงงานกลางมีคำสั่งรับคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยแล้วโจทก์ก็คือจำเลยตามฟ้องแย้ง คดีตามฟ้องแย้งจึงมีคู่ความครบถ้วนที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปได้ การที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีของโจทก์ก็คงมีผลทำให้ไม่มีคำฟ้องเดิมที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปเท่านั้น หามีผลให้ฟ้องแย้งของจำเลยตกไปด้วยไม่ การที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งจำหน่ายฟ้องแย้งของจำเลยด้วยนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาอุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น”

พิพากษายกคำสั่งของศาลแรงงานกลางเฉพาะในส่วนที่ให้จำหน่ายฟ้องแย้งของจำเลย ให้ศาลแรงงานกลางดำเนินกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับฟ้องแย้งของจำเลยต่อไปและมีคำพิพากษาตามรูปคดี

Share