แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์มีตั๋วสัญญาใช้เงินไว้ในครอบครองเนื่องจาก บริษัท อ. สลักหลังตั๋วสัญญาใช้เงินนั้นกลับมาให้โจทก์เพราะโจทก์ใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่บริษัทนั้นแล้ว โจทก์ย่อมเป็นผู้ทรงตั๋วสัญญาใช้เงินโดยชอบด้วยกฎหมาย แม้โจทก์จะรับโอนตั๋วสัญญาใช้เงินและใช้เงินให้แก่บริษัท อ. หลังจากกระทรวงการคลังมีคำสั่งให้โจทก์ระงับการดำเนินกิจการ แต่ก็ได้ความจาก พ. ผู้รับมอบอำนาจช่วงโจทก์ว่า หลังจากกระทรวงการคลังมีคำสั่งให้โจทก์ระงับการดำเนินกิจการ องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน แต่งตั้ง ช. เป็นประธานกรรมการของโจทก์ ซึ่งเป็นการดำเนินการโดยคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินตามมาตรา 30 แห่ง พ.ร.ก.การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 และหลังจากนั้นองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินเคยมีหนังสือแจ้งไปยังประธานกรรมการโจทก์ให้ถือปฏิบัติเกี่ยวกับการคิดดอกเบี้ยแก่ลูกหนี้ของโจทก์ การดำเนินกิจการของโจทก์หลังจากกระทรวงการคลังมีคำสั่งให้ระงับการดำเนินกิจการจึงเป็นการเข้าดำเนินการโดยองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน การดำเนินกิจการของโจทก์ดังกล่าวจึงหาเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งกระทรวงการคลังไม่
คำสั่งกระทรวงการคลังให้โจทก์ระงับการดำเนินกิจการ เป็นคำสั่งที่ใช้บังคับแก่โจทก์โดยเฉพาะมิได้ใช้บังคับแก่บุคคลทั่วไป การดำเนินการของโจทก์เป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับบริษัท อ. และกระทรวงการคลังที่จะต้องว่ากล่าวกัน หาได้กระทบกระเทือนต่อฐานะความเป็นคู่สัญญาผู้ขายลดตั๋วเงินของจำเลยที่ 1 และฐานะความเป็นผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินของจำเลยที่ 2 ไม่ กล่าวอีกนัยหนึ่ง หาทำให้สัญญาขายลดตั๋วเงินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 หรือตั๋วสัญญาใช้เงินที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้ออกตั๋วระงับหรือสิ้นสุดไปด้วยไม่ ทั้งไม่ได้ความว่าการโอนตั๋วสัญญาใช้เงินระหว่างโจทก์กับบริษัท อ. มีขึ้นด้วยคบคิดกันฉ้อฉล เท่ากับการใช้สิทธิฟ้องคดีของโจทก์เป็นไปโดยสุจริต ดังนั้น เมื่อตั๋วสัญญาใช้เงินถึงกำหนดจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้ใช้เงินตามตั๋ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินได้
สัญญาขายลดตั๋วเงิน มีข้อตกลงว่า หากจำเลยที่ 1 ผิดนัด จำเลยที่ 1 ยอมรับผิดชำระดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดตามที่โจทก์ประกาศกำหนด โดยโจทก์อ้างส่งประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง อัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมและส่วนลดสูงสุด และอัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากลูกค้าชั้นดีของโจทก์ และหนังสือขององค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน แสดงให้เห็นว่า ขณะจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาขายลดตั๋วเงิน โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ซึ่งไม่เกินอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่โจทก์ประกาศกำหนด จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวแก่โจทก์
จำเลยที่ 2 ไม่ได้เขียนข้อความกำหนดให้เรียกดอกเบี้ยไว้ แต่ ป.พ.พ. มาตรา 968 (2) ประกอบมาตรา 985 บัญญัติให้มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้อัตราร้อยละ 5 ต่อปี แม้โจทก์จะไม่ได้ฎีกา แต่เรื่องดังกล่าวเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชำระเงินจำนวน 132,946,210.98 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 96,316,800 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสาม ให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์โจทก์เด็ดขาด เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าดำเนินคดีแทนโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนายกฤษณะ ทายาทจำเลยที่ 1 เข้าเป็นคู่ความแทน และโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 3 ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 96,316,800 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 96,316,800 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 5 ต่อปีนับแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ทั้งนี้โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้เกินกว่าสิทธิที่มี กับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนด ค่าทนายความ 50,000 บาท
โจทก์และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งในชั้นนี้ว่า เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2537 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาขายลดตั๋วเงินกับโจทก์ โดยจำเลยที่ 1 นำตั๋วสัญญาใช้เงินเลขที่ 006/2537 ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2537 จำนวนเงิน 96,316,800 บาท สัญญาจะใช้เงินในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2540 ซึ่งจำเลยที่ 2 เป็นผู้ออกตั๋ว และมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้อาวัล มาขายลดให้แก่โจทก์ ตามสัญญาขายลดตั๋วเงินและตั๋วสัญญาใช้เงิน ต่อมาโจทก์สลักหลังตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวให้แก่บริษัทเอเชี่ยน แบงค์กิ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด ครั้นวันที่ 5 สิงหาคม 2540 กระทรวงการคลังมีคำสั่งให้ระงับการดำเนินกิจการของโจทก์ชั่วคราว และในวันที่ 8 ธันวาคม 2540 กระทรวงการคลังมีคำสั่งให้ระงับการดำเนินกิจการของโจทก์เป็นการถาวร ตามคำสั่งกระทรวงการคลัง หลังจากนั้นวันที่ 31 สิงหาคม 2541 บริษัทเอเชี่ยน แบงค์กิ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด สลักหลังตั๋วสัญญาใช้เงินนั้นกลับคืนมาให้โจทก์ เนื่องจากโจทก์ใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวให้แก่บริษัทนั้นแล้ว มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 904 บัญญัติว่า “อันว่าผู้ทรงนั้นหมายความว่า บุคคลผู้มีตั๋วเงินไว้ในครอบครอง โดยฐานเป็นผู้รับเงินหรือเป็นผู้รับสลักหลัง…” ดังนั้น เมื่อโจทก์มีตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวไว้ในครอบครองเนื่องจากบริษัทเอเชี่ยน แบงค์กิ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด สลักหลังตั๋วสัญญาใช้เงินนั้นกลับคืนมาให้โจทก์เพราะโจทก์ใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวให้แก่บริษัทนั้นแล้ว โจทก์ย่อมเป็นผู้ทรงตั๋วสัญญาใช้เงินนี้โดยชอบด้วยกฎหมาย แม้โจทก์จะรับโอนตั๋วสัญญาใช้เงินมาจากบริษัทเอเชี่ยน แบงค์กิ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด และใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่บริษัทดังกล่าวหลังจากกระทรวงการคลังมีคำสั่งให้โจทก์ระงับการดำเนินกิจการ แต่ได้ความจากนายอำพล ผู้รับมอบอำนาจช่วงโจทก์ว่า เดิมโจทก์เคยมีกรรมการประมาณ 15 คน หลังจากกระทรวงการคลังมีคำสั่งให้โจทก์ระงับการดำเนินกิจการ องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินแต่งตั้งร้อยเอกชาญชัย เป็นประธานกรรมการของโจทก์ซึ่งสอดคล้องกับหนังสือรับรอง ที่ปรากฏรายชื่อประธานกรรมการและกรรมการของโจทก์เหลือเพียง 5 คน โดยระบุว่ามีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงรายการกรรมการ อำนาจกรรมการ และข้อจำกัดอำนาจกรรมการซึ่งเป็นการดำเนินการโดยคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน ตามมาตรา 30 แห่งพระราชกำหนด การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 และหลังจากนั้นองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินยังเคยมีหนังสือแจ้งไปยังประธานกรรมการโจทก์ให้ถือปฏิบัติเกี่ยวกับการคิดดอกเบี้ยย้อนหลังแก่ลูกหนี้ของโจทก์ การดำเนินกิจการของโจทก์หลังจากกระทรวงการคลังมีคำสั่งให้ระงับการดำเนินกิจการดังกล่าว จึงถือเป็นการเข้าดำเนินกิจการโดยองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน ตามอำนาจที่ระบุไว้ในพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 ดังนั้น การดำเนินกิจการของโจทก์ดังกล่าวข้างต้น จึงหาเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งกระทรวงการคลังไม่ ประกอบกับคำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งที่ใช้บังคับแก่โจทก์โดยเฉพาะ มิได้ใช้บังคับแก่บุคคลทั่วไป การดำเนินการดังกล่าวนั้นย่อมเป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับบริษัทเอเชี่ยน แบงค์กิ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด และกระทรวงการคลังที่จะต้องว่ากล่าวกัน หาได้กระทบกระเทือนต่อฐานะความเป็นคู่สัญญาผู้ขายลดตั๋วเงินของจำเลยที่ 1 และฐานะความเป็นผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินของจำเลยที่ 2 ไม่ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือหาทำให้สัญญาขายลดตั๋วเงินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 หรือตั๋วสัญญาใช้เงินที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้ออกตั๋วระงับหรือสิ้นสุดไปด้วยไม่ ทั้งข้อเท็จจริงก็ไม่ได้ความว่า การโอนตั๋วสัญญาใช้เงินระหว่างโจทก์กับบริษัทเอเชี่ยน แบงค์กิ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด นี้เป็นการโอนซึ่งมีขึ้นด้วยคบคิดกันฉ้อฉล เท่ากับการใช้สิทธิฟ้องคดีของโจทก์เป็นไปโดยสุจริต แม้ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น ศาลล้มละลายกลางจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์โจทก์เด็ดขาด แต่ก็มีเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าดำเนินคดีแทนเพื่อดูแลจัดการทรัพย์สินของโจทก์แล้ว ดังนั้น เมื่อการกระทำของโจทก์ไม่เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งกระทรวงการคลังตาม และตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวถึงกำหนดใช้เงินแล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้ใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินนี้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 1 ผู้ทำสัญญาขายลดตั๋วเงิน และจำเลยที่ 2 ผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้รับผิดชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 96,316,800 บาท ดังกล่าวได้ ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องแล้วพิพากษายกฟ้องมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น และเมื่อคดีขึ้นสู่ศาลฎีกาโดยคู่ความทั้งสองฝ่ายสืบพยานมาจนสิ้นกระแสความแล้ว ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยปัญหาความรับผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปเสียทีเดียวโดยไม่จำต้องย้อนสำนวน เห็นว่า โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 รับผิดตามสัญญาขายลดตั๋วเงิน ซึ่งมีข้อตกลงว่า หากจำเลยที่ 1 ผิดนัด จำเลยที่ 1 ยอมรับผิดชำระดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดตามที่โจทก์ประกาศกำหนดนับแต่ตั๋วสัญญาใช้เงินถึงกำหนดใช้เงินเป็นต้นไปจนกว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้เต็มจำนวน โดยโจทก์นำสืบอ้างส่งประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืม และส่วนลดสูงสุดและอัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากลูกค้าชั้นดีของโจทก์ และหนังสือขององค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินเป็นพยาน แสดงให้เห็นว่าในขณะที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาขายลดตั๋วเงินนี้ โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัดจากจำเลยที่ 1 ในอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ได้ ซึ่งไม่เกินอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่โจทก์ประกาศกำหนด จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวให้แก่โจทก์ด้วย ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นั้น เป็นการไม่ชอบ ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น แต่สำหรับจำเลยที่ 2 ผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินนั้น เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ได้เขียนข้อความกำหนดให้เรียกดอกเบี้ยไว้ แต่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 968 (2) ประกอบมาตรา 985 บัญญัติให้มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้อัตราร้อยละ 5 ต่อปี แม้โจทก์จะไม่ได้ฎีกา แต่เรื่องดังกล่าวเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247
อนึ่ง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ถอนฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 โดยไม่ได้สั่งค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนนี้ ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรสั่งให้ถูกต้อง
พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระเงินจำนวน 96,316,800 บาทแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 2 รับผิดชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่10 พฤษภาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 100,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 3 ให้เป็นพับ