แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การจับ ส. ที่บ้านได้กระทำโดยมีหมายจับที่พันตำรวจเอก ร. ออกโดยชอบและหมายค้นของศาลจังหวัดมีนบุรี เมื่อแสดงตนว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจและแสดงหมายค้น ส. ซึ่งยืนอยู่ด้านในรั้วบ้านได้ปิดล็อกกุญแจรั้วหน้าบ้าน แล้ววิ่งหนีเข้าบ้านไปปิดล็อกกุญแจบ้านด้านในอีกชั้นหนึ่งและไม่ยอมเปิดประตูโดยอ้างว่าจะไปมอบตัวในวันหลัง แสดงว่า ส. ไม่ยอมให้เจ้าพนักงานตำรวจเข้าไปจับกุม การที่เจ้าพนักงานตำรวจเข้าไปใช้ไม้กระแทกประตูบ้านที่ปิดล็อกกุญแจด้านในไว้จนเปิดออกแล้วเข้าไปจับ ส. จึงเป็นกรณีจำเป็น ซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจผู้จัดการตามหมายค้นมีอำนาจกระทำได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 94 วรรคสอง
ตามสำเนาบันทึกประจำวันเกี่ยวกับคดี เจ้าพนักงานตำรวจไปตรวจค้นจับกุมที่บ้าน ส. เวลา 18.02 นาฬิกา แสดงว่าลงมือตรวจค้นตั้งแต่เวลา 18.02 นาฬิกาซึ่งยังเป็นเวลากลางวัน เมื่อยังไม่เสร็จจึงมีอำนาจตรวจค้นจับกุมต่อไป ในเวลากลางคืนได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 96(1)
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 104 บัญญัติให้ศาลมีอำนาจเต็มที่ในอันที่จะวินิจฉัยว่าพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบมานั้นเป็นอันเพียงพอให้เชื่อฟังเป็นยุติได้หรือไม่ แล้วพิพากษาคดีไปตามนั้น เมื่อคำเบิกความของ ส. ซึ่งแม้จะยังไม่จบคำถามค้านของทนายจำเลยประกอบพยานเอกสารที่คู่ความทั้งสองฝ่ายอ้างส่งศาลข้อเท็จจริงพอที่จะวินิจฉัยได้แล้วคดีจึงไม่จำต้องไต่สวนมูลฟ้องต่อไป
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสามฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172, 173, 174 วรรคสอง, 157, 175, 310, 83, 84และ 91 และลงโทษจำเลยที่ 2 ถึงที่ 12 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157,310, 83 และ 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสามฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสามว่าคดีโจทก์ทั้งสามมีมูลที่ศาลจะประทับฟ้องไว้พิจารณาหรือไม่ ในข้อหาความผิดว่าจำเลยที่ 1 แจ้งข้อความอันเป็นเท็จและฟ้องเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญานั้น ข้อเท็จจริงตามทางไต่สวนได้ความว่าจำเลยที่ 1 ได้ผ่อนชำระราคาที่ดินให้แก่โจทก์ที่ 1 แล้วเสร็จตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2537 โดยโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นภริยาและบุตรของโจทก์ที่ 1 ตามลำดับเป็นผู้รับชำระเงินแทนโจทก์ที่ 1 แต่จนกระทั่งวันที่ 19 ธันวาคม 2540 ซึ่งจำเลยที่ 1 ไปแจ้งความร้องทุกข์ว่าโจทก์ทั้งสามฉ้อโกงอันเป็นเวลาภายหลังจากจำเลยที่ 1ชำระราคาที่ดินเสร็จสิ้นแล้วกว่า 3 ปี โจทก์ที่ 1 ก็ยัง ไม่ได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขายให้แก่จำเลยที่ 1 เพราะมีเหตุขัดข้องที่ดินยังติดการจำนองอยู่แก่ธนาคารกสิกรไทย จำกัด ตามสัญญาจำนองฉบับลงวันที่ 27 กรกฎาคม 2533 ทั้งที่ดินดังกล่าวไม่มีชื่อโจทก์ที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แต่อย่างใด โดยขณะทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินมีชื่อนางสาววราภร เนตรน้อย เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์อยู่ ต่อมาวันที่ 24 กรกฎาคม 2533นางสาววราภรจึงได้จดทะเบียนโอนขายให้แก่ว่าที่ร้อยตรีณัฐพงศ์ นายวธัญญูและโจทก์ที่ 3 เป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์รวมตลอดมาจนถึงวันที่จำเลยที่ 1 แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ดังนี้ พฤติการณ์ของโจทก์ทั้งสามย่อมมีเหตุทำให้จำเลยที่ 1เข้าใจว่าโจทก์ทั้งสามร่วมกันหลอกลวงจำเลยที่ 1 ทั้งข้อความที่จำเลยที่ 1 แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนก็เห็นได้ว่าเป็นการแจ้งข้อความไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏการกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่มีมูลความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญา และการที่จำเลยที่ 1 เข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1387/2542 ของศาลจังหวัดมีนบุรี ซึ่งพนักงานอัยการฟ้องโจทก์ทั้งสามเป็นจำเลยในข้อหาร่วมกันฉ้อโกงทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ก็ย่อมไม่มีมูลความผิดฐานฟ้องเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาเช่นกัน สำหรับข้อหาความผิดว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบโดยจำเลยที่ 3 ในฐานะพนักงานสอบสวนรับคำร้องทุกข์ของจำเลยที่ 1 ขอออกหมายจับและทำความเห็นสมควรสั่งฟ้องโจทก์ทั้งสามกับจำเลยที่ 2 ออกหมายจับโจทก์ทั้งสามโดยไม่มีเหตุอันสมควรนั้น เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 1 แจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่โจทก์ทั้งสามในข้อหาฉ้อโกง และตามคำแจ้งความร้องทุกข์ของจำเลยที่ 1 มีพฤติการณ์ต่าง ๆ ให้เข้าใจได้ว่าโจทก์ทั้งสามร่วมกระทำความผิดฐานฉ้อโกงทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ดังได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น การที่จำเลยที่ 3 ในฐานะพนักงานสอบสวนรับคำร้องทุกข์ไว้ดำเนินการและเมื่อสอบสวนแล้วได้ทำความเห็นว่าควรสั่งฟ้อง จึงเป็นเรื่องที่อยู่ในดุลพินิจของจำเลยที่ 3 ในฐานะพนักงานสอบสวนที่จะกระทำได้โดยชอบ ส่วนการออกหมายจับโจทก์ทั้งสามนั้นได้ความว่าหลังจากรับคำร้องทุกข์แล้ว จำเลยที่ 3 ในฐานะพนักงานสอบสวนได้ออกหมายเรียกให้โจทก์ทั้งสามไปพบพนักงานสอบสวนเนื่องในการสอบสวนหลายครั้ง แต่โจทก์ทั้งสามไม่ยอมไปพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียกและมีหนังสือขอเลื่อนการไปให้ถ้อยคำตลอดมา กรณีจึงมีเหตุที่จะออกหมายจับโจทก์ทั้งสามได้ การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่มีมูลความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบสำหรับข้อหาความผิดว่าจำเลยที่ 4 ถึงที่ 12 ร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบนำหมายจับที่ออกโดยมิชอบไปขอให้ศาลออกหมายค้น แล้วเข้าตรวจค้นจับโจทก์ที่ 1 ที่บ้านโจทก์ที่ 1 ในเวลากลางคืนโดยใช้วิธีรุนแรงพังทำลายประตูบ้าน ทั้งต่อมาได้สั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโจทก์ทั้งสามล่าช้านั้น เห็นว่าการจับโจทก์ที่ 1ที่บ้านโจทก์ที่ 1 ได้กระทำโดยมีทั้งหมายจับที่จำเลยที่ 2 ออกโดยชอบดังวินิจฉัยมาแล้วข้างต้น และหมายค้นของศาลจังหวัดมีนบุรี ทั้งพฤติการณ์ในการตรวจค้นจับกุมก็ปรากฏว่า เจ้าพนักงานตำรวจไปตรวจค้นจับกุมที่บ้านโจทก์ที่ 1 เวลา 18.02 นาฬิกา เมื่อแสดงตัวว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจและแสดงหมายค้น โจทก์ที่ 1 ซึ่งยืนอยู่บริเวณด้านในรั้วบ้านได้ปิดล็อกกุญแจรั้วหน้าบ้าน แล้ววิ่งหนีเข้าบ้านไปปิดล็อกกุญแจบ้านด้านในอีกชั้นหนึ่งและไม่ยอมเปิดประตูโดยอ้างว่าจะไปมอบตัวในวันหลัง แสดงว่าโจทก์ที่ 1 ไม่ยอมให้เจ้าพนักงานตำรวจเข้าไปจับกุม การที่เจ้าพนักงานตำรวจเข้าไปใช้ไม้กระแทกประตูบ้านที่ปิดล็อกกุญแจด้านในไว้จนเปิดออกแล้วเข้าไปจับโจทก์ที่ 1 จึงเป็นกรณีจำเป็นซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจผู้จัดการตามหมายค้นมีอำนาจกระทำได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 94 วรรคสอง ส่วนที่โจทก์ที่ 1 อ้างว่า การเข้าตรวจค้นจับกุมกระทำในเวลากลางคืนนั้นได้ความตามที่โจทก์ที่ 1 เบิกความตอบทนายโจทก์ทั้งสามในตอนแรกว่าเจ้าพนักงานตำรวจไปถึงบ้านโจทก์ที่ 1 เวลา 18 นาฬิกาเศษ แล้วเบิกความใหม่ว่าเวลา 19 นาฬิกาเศษ ขณะนั้นพระอาทิตย์ตกดินแล้ว คำเบิกความในตอนแรกจึงเจือสมกับสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีดังกล่าวข้างต้น เชื่อได้ว่าเจ้าพนักงานตำรวจไปถึงบ้านโจทก์ที่ 1 และลงมือตรวจค้นตั้งแต่เวลา 18.02 นาฬิกาซึ่งยังเป็นเวลากลางวัน เมื่อยังไม่เสร็จ จึงมีอำนาจตรวจค้นจับกุมต่อไปในเวลากลางคืนได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 96(1) ส่วนที่โจทก์ทั้งสามอ้างว่าการสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวกระทำอย่างล่าช้าเกินสมควร เป็นการใช้ดุลพินิจไม่ชอบนั้น เห็นว่า โจทก์ที่ 1 ถูกจับกุมไปที่สถานีตำรวจนครบาลร่มเกล้าเมื่อเวลา 23นาฬิกา เมื่อไปถึงพนักงานสอบสวนซึ่งรับตัวโจทก์ที่ 1 ย่อมจะต้องทำการสอบสวนและทำประวัติโจทก์ที่ 1 กับโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ซึ่งถูกจับกุมในเวลาต่อมา อีกทั้งในการสั่งคำร้องขอปล่อยชั่วคราวของโจทก์ทั้งสามยังจะต้องพิจารณาข้อกล่าวหาพยานหลักฐาน พฤติการณ์ต่าง ๆ แห่งคดีและความน่าเชื่อถือของหลักประกันด้วย ซึ่งจะต้องใช้เวลาตามสมควร การที่เจ้าพนักงานตำรวจดำเนินการต่าง ๆ ดังกล่าวโดยใช้เวลาประมาณ 6 ชั่วโมง จึงสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโจทก์ทั้งสามเช่นนี้เป็นการใช้เวลาตามสมควรแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่มีมูลความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเช่นกัน คดีของโจทก์ทั้งสามจึงไม่มีมูลที่ศาลจะประทับฟ้องไว้พิจารณา อนึ่ง ที่โจทก์ทั้งสามฎีกาด้วยว่า โจทก์ทั้งสามนำตัวโจทก์ที่ 1เข้าเบิกความยังไม่จบปาก ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดการไต่สวนมูลฟ้อง เป็นการไม่ชอบและเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้น ปัญหาดังกล่าวศาลอุทธรณ์ไม่ได้วินิจฉัยให้ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปโดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย เห็นว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 104 บัญญัติให้ศาลมีอำนาจเต็มที่ในอันที่จะวินิจฉัยว่าพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบมานั้นเป็นอันเพียงพอให้เชื่อฟังเป็นยุติได้หรือไม่ แล้วพิพากษาคดีไปตามนั้น เมื่อปรากฏว่าจากคำเบิกความของโจทก์ที่ 1 ซึ่งแม้จะเบิกความยังไม่จบคำถามค้านของทนายจำเลยประกอบพยานเอกสารที่คู่ความทั้งสองฝ่ายอ้างส่งศาล ข้อเท็จจริงพอที่จะวินิจฉัยได้แล้วคดีจึงไม่จำต้องไต่สวนมูลฟ้องอีกต่อไป ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดการไต่สวนมูลฟ้อง และศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องมานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ทั้งสามทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน