คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12460/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

เวลาเช้าตรู่ของวันเกิดเหตุ เจ้าพนักงานตำรวจท้องที่หลายคนแต่งกายนอกเครื่องแบบไปขอค้นบ้านจำเลยเพื่อพบและจับน้องชายของจำเลยในคดีเช็ค ส่วนโจทก์ไม่ใช่เจ้าพนักงานตำรวจท้องที่ แต่ได้แต่งเครื่องแบบเจ้าพนักงานตำรวจไปที่บ้านของจำเลยด้วยในฐานะที่เป็นบิดาของผู้เสียหายในคดีเช็คที่น้องชายของจำเลยสั่งจ่ายเช็คชำระหนี้ค่าสินค้าให้ แล้วธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค เมื่อคำนึงถึงเหตุการณ์และพฤติการณ์เกี่ยวกับการทวงหนี้ของโจทก์ที่แต่งเครื่องแบบไปขอค้นบ้านของจำเลยซึ่งเป็นผู้หญิงและมีบุตรผู้เยาว์ 2 คน จนจำเลยเกิดความเกรงกลัวต่อโจทก์จนต้องยอมใช้หนี้แทนน้องชายให้แก่โจทก์ จำเลยมีสิทธิที่จะเข้าใจได้โดยสุจริตว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการประพฤติตนของโจทก์และมีสิทธิที่จะร้องเรียนโดยสุจริตได้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจประพฤติตนไม่เหมาะสม ดังนั้น การที่จำเลยส่งโทรสารไปลงหนังสือพิมพ์โดยมีใจความเป็นการแสดงความเสียใจ น้อยใจของจำเลยและเกรงกลัวจากการกระทำของโจทก์จนต้องชำระหนี้แทนน้องชายให้แก่โจทก์ไป เป็นทำนองขอให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติสอดส่องตักเตือนเจ้าพนักงานตำรวจให้เป็นมิตรกับประชาชน จึงเป็นการติชมโจทก์ด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนเยี่ยงจำเลยที่ต้องประสบเหตุการณ์เช่นนั้นพึงกระทำได้ และการที่จำเลยระบุชื่อนามสกุลจริงของโจทก์และจำเลย ตลอดจนที่อยู่ของจำเลยไว้แจ้งชัดในโทรสารด้วยย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยเขียนข้อความในโทรสารนั้นด้วยเจตนาสุจริตตามเรื่องที่เกิดขึ้นแก่จำเลย กรณีต้องด้วย ป.อ. มาตรา 329 จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ส่งโทรสารหมิ่นประมาทโจทก์ในคอลัมน์ของหนังสือพิมพ์กล่าวหาว่าโจทก์ใช้ตำแหน่งหน้าที่ข่มขู่จำเลยขอค้นบ้านเพื่อจับนายเอกพจน์น้องชายของจำเลยในคดีความผิดเกี่ยวกับเช็ค ด้วยความกลัวจำเลยจึงต้องหาเงินมาชำระหนี้แทนจำนวน 49,952 บาท รายละเอียดปรากฏตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 ซึ่งข้อความทั้งหมดไม่เป็นความจริง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียงเกียรติยศและวงศ์ตระกูล ถูกดูหมิ่นเกลียดชังจากผู้บังคับบัญชา ผู้ใดบังคับบัญชาและบุคคลทั่วไป อันเป็นการขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยชอบและเป็นการหมิ่นประมาทใส่ความเจ้าพนักงานซึ่งได้กระทำการตามหน้าที่โดยการโฆษณาด้วยเอกสารหนังสือพิมพ์รายวัน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136, 326, 328
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ให้ลงโทษจำคุก 1 เดือน และปรับ 10,000 บาท จำเลยเป็นข้าราชการมีบุตรต้องดูแล และไม่ปรากฏว่าได้รับโทษจำคุกมาก่อน เห็นสมควรให้โอกาสปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดีต่อไป จึงให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 คำขออื่นของโจทก์ให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ยุติว่า จำเลยได้ส่งโทรสารไปยังหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ต่อมาวันที่ 13 ธันวาคม 2539 หนังสือพิมพ์มติชนรายวันได้ตีพิมพ์บทความที่จำเลยร้องเรียนเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์เผยแพร่แก่ผู้อ่าน ซึ่งอ่านแล้วได้ความว่า เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2539 เวลาใกล้รุ่ง ขณะที่จำเลยนอนพักผ่อนกับบุตรสาวผู้เยาว์ 2 คน อยู่ในบ้าน มีชายอ้างว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาลพหลโยธินโทรศัพท์ถึงจำเลย ใช้เสียงวางอำนาจสั่งให้จำเลยลงไปข้างล่างเดี๋ยวนี้ จำเลยรีบเปลี่ยนเสื้อผ้า ทำธุระส่วนตัว แต่ไม่ทันใจชายคนดังกล่าวจึงมีเสียงโทรศัพท์อีกครั้ง บุตรคนเล็กอายุ 6 ขวบ ของจำเลยรับโทรศัพท์แล้วถึงกับร้องไห้ จำเลยแย่งโทรศัพท์จากบุตรมาพูด ได้ยินเสียงกระโชกบอกให้ลงมาเร็ว ๆ หน่อย เจ้าพนักงานตำรวจล้อมบ้านไว้หมดแล้ว ชายคนดังกล่าวอ้างว่าเป็นร้อยตำรวจเอก จำได้ว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจคนเดียวกับที่พูดจากระโชกโฮกฮากกับจำเลยไปแล้ว ชายคนดังกล่าวบอกว่าจะมาค้นบ้านเพื่อจับนายเอกพจน์ผู้ต้องหาคดีเช็ค จำเลยพยายามชี้แจงว่าอยู่กันแต่ผู้หญิงสามคนแม่ลูกมีอะไรไว้พูดกันที่สถานีตำรวจ ชายคนดังกล่าวยืนยันจะค้นบ้าน จะจับกุม เจ้าพนักงานตำรวจมาถึงบ้านไม่ให้เข้าไม่ได้ ถ้าไม่ยอมจะเรียกสายตรวจมา จำเลยถึงกับเข่าอ่อนร้องไห้โฮ กลัวจนลนลานกลัวว่าเมื่อเจ้าพนักงานตำรวจค้นบ้านจะพกพายาบ้า กัญชาเข้ามาแล้วจับเจ้าของบ้านนึกเลยไปถึงวิสามัญฆาตกรรม ถ้าไม่ยอมให้ค้นจะใช้กำลังข่มขู่ หรือถ้านุ่มนวลหน่อยก็คงปักหลักรออยู่ที่นี่ น้องชายของจำเลยกลับมาคงถูกจับใส่กุญแจมือ เข้าห้องขัง ถูกซ้อมยับเยิน ความกลัวทำให้ จำเลยถามว่าจำนวนเงินในเช็คเท่าไร เมื่อได้รับคำตอบว่า 49,952 บาท จึงหาเงินมาให้ เจ้าพนักงานตำรวจคนนั้นรับเงินและทอนเงินโดยเจ้าทุกข์ยืนอยู่เฉย ๆ ป้ายชื่อที่เครื่องแบบของชายคนดังกล่าวระบุชื่อโจทก์ ข้อความดังกล่าวเกิดจากการที่จำเลยส่งโทรสารร้องเรียนการกระทำของโจทก์ไปยังหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ซึ่งมีสาระสำคัญตรงกับหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 หรือไม่ ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าฎีกาของโจทก์จะไม่ได้ระบุคำขอในฎีกาให้ชัดแจ้งว่าโจทก์ประสงค์จะให้ศาลฎีกาพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 โดยโจทก์กล่าวในฎีกาในทำนองว่าขอคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในประเด็นต่าง ๆ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย แต่ก็พออนุโลมได้ว่าโจทก์ประสงค์จะขอให้ลงโทษจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงอันนำไปสู่หนังสือร้องเรียนตามโทรสารและการตีพิมพ์บทความในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน เกิดขึ้นจากการที่ในวันเกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาลพหลโยธินแต่งกายนอกเครื่องแบบไปที่บ้านจำเลยหลายคน ส่วนโจทก์ไม่ใช่เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาลพหลโยธิน แต่ไปในฐานะบิดาของนางสาวพรรณพิมลซึ่งเป็นผู้เสียหายในคดีเช็คที่น้องชายของจำเลยสั่งจ่ายเช็คชำระค่าสินค้าให้ แล้วธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค การที่โจทก์แต่งกายในเครื่องแบบซึ่งทำได้แต่ไม่สมควรเพราะอาจทำให้จำเลยซึ่งเป็นผู้หญิงและมีบุตรสาวผู้เยาว์อายุ 7 ขวบ และ 5 ขวบ อยู่ในบ้านเพียง 3 คน เกิดความเกรงกลัวโจทก์ ทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่เรื่องหนี้สินของจำเลย และการที่โจทก์พาเจ้าพนักงานตำรวจไปขอตรวจค้นบ้านจำเลยในเวลาเช้าตรู่ ทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่คดีอุกฉกรรจ์ร้ายแรงแต่อย่างใด และการที่โจทก์ได้โทรศัพท์เข้าไปในบ้านจำเลยถึงสองครั้งเนื่องจากจำเลยลงมาเปิดประตูบ้านล่าช้าทำให้โจทก์ต้องคอยนานนั้น จึงเป็นไปได้ที่โจทก์อาจมีอารมณ์โกรธเคืองจำเลยจึงพูดจาไม่ดีต่อจำเลย ดังนั้น ที่จำเลยกล่าวในหนังสือร้องเรียนการกระทำของโจทก์ต่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติผ่านคอลัมน์ ตู้ ปณ.113 บางซื่อ ของหนังสือพิมพ์มติชนรายวันว่าโจทก์แสดงบารมีพูดจากระโชกโฮกฮากต่อจำเลย ทำให้เกิดความกลัว ซึ่งมีเนื้อหาตรงกับบทความที่เจ้าของคอลัมน์ ตู้ ปณ.113 บางซื่อ ได้เรียบเรียงขึ้นใหม่ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวันตามที่โจทก์กล่าวหาจึงมีมูลความจริงที่เป็นไปได้ตามที่จำเลยนำสืบหักล้าง เมื่อคำนึงถึงเหตุการณ์และพฤติการณ์เกี่ยวกับการทวงหนี้ของโจทก์ที่แต่งเครื่องแบบไปขอค้นบ้านของจำเลยซึ่งเป็นผู้หญิงและมีบุตรผู้เยาว์ 2 คน จนจำเลยเกิดความเกรงกลัวต่อโจทก์จนต้องยอมใช้หนี้แทนน้องชายให้แก่โจทก์ จำเลยมีสิทธิที่จะเข้าใจได้โดยสุจริตว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการประพฤติตนของโจทก์ และมีสิทธิที่จะร้องเรียนโดยสุจริตได้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจประพฤติตนไม่เหมาะสม ดังนั้น การที่จำเลยส่งโทรสารไปลงหนังสือพิมพ์มติชนรายวันถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของโจทก์โดยมีใจความเป็นการแสดงความเสียใจ น้อยใจของจำเลยและเกรงกลัวจากการกระทำของโจทก์จนต้องชำระหนี้แทนน้องชายให้แก่โจทก์ไป เป็นทำนองขอให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติสอดส่องตักเตือนเจ้าพนักงานตำรวจให้เป็นมิตรกับประชาชน พูดจาแนะนำประชาชนอย่างสุภาพ เพื่อให้นโยบายของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่ประสงค์ให้เจ้าพนักงานตำรวจเข้ากับประชาชนบรรลุผลได้นั้น จึงเป็นการติชมโจทก์ด้วยความเป็นธรรม อันเป็นวิสัยของประชาชนเยี่ยงจำเลยที่ต้องประสบเหตุการณ์เช่นนั้นพึงกระทำได้ และการที่จำเลยระบุชื่อจริงนามสกุลจริงของโจทก์และของจำเลย ตลอดจนที่อยู่ของจำเลยไว้แจ้งชัดในโทรสารด้วย ย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยเขียนข้อความในโทรสารนั้นด้วยเจตนาสุจริตตามเรื่องที่เกิดขึ้นแก่จำเลย กรณีต้องด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานนี้ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share