คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3981/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คดีที่โจทก์ร่วมฟ้องจำเลยต่อศาลจังหวัดสงขลา ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297,300,91 ศาลจังหวัดสงขลาไต่สวนมูลฟ้องแล้ววินิจฉัยว่าฟ้องของโจทก์ไม่มีมูลฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกทำร้ายได้รับอันตรายสาหัส คงมีมูลความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายและจิตใจกับฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 และ 300 ตามลำดับเท่านั้น ซึ่งเป็นความผิดที่อยู่ในอำนาจของศาลแขวงที่รับไว้พิจารณาได้หากโจทก์ยังติดใจจะดำเนินคดีกับจำเลยก็ให้นำไปฟ้องยังศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาต่อไป จึงไม่รับฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณาพิพากษายกฟ้อง ศาลจังหวัดสงขลามิได้ยกฟ้องของโจทก์ร่วมเพราะเหตุต่าง ๆ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185กล่าวคือยังมิได้วินิจฉัยถึงการกระทำผิดของจำเลยตามข้อกล่าวหาของโจทก์ร่วม ดังนั้นในคดีดังกล่าวจึงยังไม่มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง โจทก์และโจทก์ร่วมในคดีนี้ยังมีสิทธิฟ้องจำเลยได้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์และโจทก์ร่วมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300,390 ยังไม่ระงับ ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4) จำเลยไม่ได้ขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมได้รับอันตรายสาหัสและผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กาย จำเลยย่อมไม่มีความผิดฐานขับรถซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลแล้วไม่หยุดรถช่วยเหลือและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ใกล้เคียงทันทีตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 78,160 วรรคแรก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยขับรถยนต์โดยสารเล็กหมายเลขทะเบียนบ-4691 สงขลา ในขณะมึนเมาและหย่อนความสามารถที่จะขับโดยมีนายฮวด ตันติพงศ์ นางอุบล ตันติพงศ์ และเด็กหญิงนิดทยา เส้งคล้าย ผู้เสียหายและผู้โดยสารอื่นรวมประมาณ 20 คนโดยสารไปด้วยไปตามทางเดินรถถนนสายระโนด-หัวไทร จากทางแยกเข้าวัดหัวคุ้งมุ่งหน้าไปทางแยกเข้าหมู่บ้านท่าเข็น ถึงที่เกิดเหตุบริเวณระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 19-20 ทางแยกเข้าสถานีตำรวจภูธรตำบลคลองแดนซึ่งเป็นที่แยกและเป็นทางร่วมทางแยก จำเลยจะเลี้ยวกลับรถเพื่อจอดให้ผู้โดยสารลงที่ทางแยกเข้าหมู่บ้านท่าเข็น ซึ่งในภาวะเช่นนั้นจำเลยจะต้องใช้ความระมัดระวังไม่ขับรถด้วยความเร็วสูง และไม่กลับรถที่ทางร่วมทางแยกโดยไม่มีเครื่องหมายจราจรให้กลับรถในบริเวณดังกล่าวได้ และจอดรถได้เมื่อจำเลยเห็นว่าปลอดภัยและไม่กีดขวางทางจราจร ทั้งนี้เพื่อคำนึงถึงความปลอดภัยและความเดือดร้อนของผู้อื่น ซึ่งจำเลยอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่จำเลยหาได้ใช้ความระมัดระวังให้เพียงพอไม่ จำเลยยังคงขับรถด้วยความเร็วสูงและเลี้ยวกลับรถอย่างเร็วในบริเวณทางร่วมทางแยกและหยุดรถอย่างกะทันหันตรงทางแยกเข้าหมู่บ้านท่าเข็น ในลักษณะท้ายรถยังอยู่ในช่องทางเดินรถและกีดขวางทางจราจร ด้วยความประมาทของจำเลยดังกล่าวเป็นเหตุทำให้ใบหน้าของเด็กหญิงนิดทยากระแทกกับเก๋งหน้ารถคันที่จำเลยขับ ได้รับอันตรายแก่การบาดเจ็บที่บริเวณริมฝีปากฟันหัก 1 ซี่และในขณะที่ผู้โดยสารกำลังจากรถ จำเลยได้ขับรถเคลื่อนไปข้างหน้าโดยไม่ระวังดูว่ามีผู้โดยสารลงจากรถหมดแล้วหรือยัง ด้วยความประมาทของจำเลยดังกล่าวเป็นเหตุให้ล้อหลังของรถยนต์โดยสารทับเท้าข้างซ้ายของนายฮวด ทำให้นายฮวดได้รับอันตรายแก่กายถึงบาดเจ็บสาหัสกระดูกฝ่าเท้าชิ้นที่ 5 ด้านซ้ายหัก และนางอุบลพลัดตกจากรถขณะกำลังลงจากรถคันดังกล่าว ได้รับอันตรายแก่การบาดเจ็บที่หัวเข่าและฝ่ามือทั้งสองข้าง เมื่อจำเลยขับรถยนต์ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลดังกล่าวแล้ว จำเลยไม่ให้ความช่วยเหลือตามสมควรและไม่ไปแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ใกล้เคียงทันทีเป็นเหตุให้บุคคลอื่นได้รับอันตรายสาหัสและรับอันตรายแก่กาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300, 390, 90, 91พระราชบัญญัติ จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43, 53, 78, 157, 160
ระหว่างพิจารณา นายฮวด ตันติพงศ์ ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43, 157 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 300, 390 ลงโทษบทหนัก ฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส จำคุก 1 ปี และฐานขับรถซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลแล้วไม่หยุดช่วยเหลือและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ใกล้เคียงทันที ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522มาตรา 78, 160 วรรคแรก จำคุก 1 เดือน รวมจำคุก 1 ปี 1 เดือนจำเลยอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 อันเป็นบทหนักที่สุดนั้นให้จำคุก6 เดือน รวมกับโทษจำคุกฐานอื่นตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเป็นจำคุก 7 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คงมีปัญหาข้อกฎหมายที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์และโจทก์ร่วมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300, 390 ระงับไปแล้วหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีที่โจทก์ร่วมฟ้องจำเลยต่อศาลจังหวัดสงขลา ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297,300, 91 ศาลจังหวัดสงขลาไต่สวนมูลฟ้องแล้ววินิจฉัยว่าฟ้องของโจทก์ร่วมไม่มีมูลฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกทำร้ายได้รับอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 คงมีมูลความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายและจิตใจ กับฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 และ 300 ตามลำดับเท่านั้น ซึ่งเป็นความผิดที่อยู่ในอำนาจของศาลแขวงที่รับไว้พิจารณาได้ หากโจทก์ (หมายถึงโจทก์ร่วม) ยังติดใจจะดำเนินคดีกับจำเลยก็ให้นำไปฟ้องยังศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาต่อไป จึงไม่รับฟ้องของโจทก์ร่วมไว้พิจารณาพิพากษายกฟ้อง จึงเห็นได้ว่าศาลจังหวัดสงขลามิได้ยกฟ้องของโจทก์ร่วมเพราะเหตุต่าง ๆ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 185 กล่าวคือศาลจังหวัดสงขลายังมิได้วินิจฉัยถึงการกระทำผิดของจำเลยตามข้อกล่าวหาของโจทก์ร่วม ดังนั้นในคดีดังกล่าวจึงยังไม่มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง โจทก์และโจทก์ร่วมในคดีนี้ยังมีสิทธิฟ้องจำเลยได้ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์และโจทก์ร่วมตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 300, 390 ยังไม่ระงับ ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39(4) เมื่อได้ยกปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยแล้วแม้ฎีกาของจำเลยในข้อหาอื่นจะเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงและต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรกศาลฎีกาย่อมมีอำนาจวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 ประกอบด้วยมาตรา 215, 225…
พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่18 กรกฎาคม 2532 เวลาประมาณ 20-21 นาฬิกา จำเลยได้ขับรถยนต์โดยสารรับจ้างยี่ห้ออีซูซุ คันหมายเลขทะเบียน บ-4691สงขลาโดยมีโจทก์ร่วม นางอุบล ตันติพงศ์ ภรรยาโจทก์ร่วมพร้อมด้วยผู้โดยสารอื่น ๆ ประมาณ 20 คน จากวัดหัวคุ้งไปตามถนนสายสงขลา-ระโนดเพื่อนำไปส่งที่ทางเข้าหมู่บ้านท่าเข็น เมื่อจวนถึงสี่แยกท่าเข็นจำเลยได้หยุดรถเพื่อให้รถที่แล่นตามหลังมาผ่านพ้นไปก่อน เมื่อปลอดภัยแล้วจำเลยได้เลี้ยวรถดังกล่าวมาจอดที่ขอบถนนด้านทิศตะวันออก บริเวณทางแยกเข้าหมู่บ้านท่าเข็น ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยมีว่า จำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้องโจทก์หรือไม่…พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมจึงรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยได้ขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมได้รับอันตรายสาหัสและผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายตามฟ้อง เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้วจำเลยย่อมไม่มีความผิดฐานขับรถซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลแล้วไม่หยุดรถช่วยเหลือ และแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ใกล้เคียงทันทีตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 78, 160วรรคแรกด้วย แม้ปัญหาข้อนี้จะยุติแล้วตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 แต่ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 ประกอบมาตรา 215, 225ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยมานั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์และโจทก์ร่วมทุกข้อหา

Share