คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12477/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตาม ป.อ. มาตรา 52 (2) ในการลดโทษประหารชีวิตถ้าจะลดกึ่งหนึ่ง ให้ลดเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือโทษจำคุกตั้งแต่ 25 ปี ถึง 50 ปี ซึ่งศาลจะเห็นสมควรลดโทษให้เพียงใดเป็นดุลพินิจของศาล ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดว่าร้ายแรงหรือไม่เพียงใด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 58, 83, 91 ริบเมทแอมเฟตามีนและกระสอบปุ๋ยสีฟ้าของกลาง และบวกโทษจำคุกของจำเลยที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 492/2544 ของศาลจังหวัดราชบุรี เข้ากับโทษของจำเลยในคดีนี้
จำเลยให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสอง, 66 วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทซึ่งแต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากันให้ลงโทษฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ลงโทษประหารชีวิต จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (2) คงจำคุกตลอดชีวิต ริบเมทแอมเฟตามีนและกระสอบปุ๋ยสีฟ้าของกลางสำหรับคำขอให้บวกโทษนั้น เนื่องจากคดีนี้ศาลลงโทษจำคุกตลอดชีวิตแล้วจึงให้ยกคำขอในส่วนนี้
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การที่ศาลล่างทั้งสองลดโทษให้แก่จำเลยกึ่งหนึ่งจากโทษประหารชีวิตเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิตนั้นหนักเกินไปหรือไม่ โดยจำเลยขอให้ลดโทษแก่จำเลยกึ่งหนึ่งเป็นโทษจำคุก 25 ปี ถึง 50 ปี นั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 52 (2) ในการลดโทษประหารชีวิตถ้าจะลดกึ่งหนึ่ง ให้ลดเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือโทษจำคุกตั้งแต่ 25 ปี ถึง 40 ปี ซึ่งศาลจะเห็นสมควรลดโทษให้เพียงใดเป็นดุลพินิจของศาล ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดว่าร้ายแรงหรือไม่เพียงใด คดีนี้เมทแอมเฟตามีนของกลางอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 มีจำนวนมากถึง 200,000 เม็ด น้ำหนัก 19,224.4 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ถึง 3,247.83 กรัม ตามสภาพและลักษณะแห่งการกระทำความผิดนับเป็นมหันตภัย เพราะการจำหน่ายยาเสพติดให้โทษจำนวนมากออกสู่ประชาชนก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในสังคมทำให้เกิดอาชญากรรมและเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของผู้เสพเป็นอย่างมากรัฐต้องเสียงบประมาณแผ่นดินในการปราบปรามยาเสพติดให้โทษเป็นจำนวนมากจึงสมควรลงโทษรุนแรงให้สาสมแก่ความผิด ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจลดโทษให้แก่จำเลยกึ่งหนึ่งจากโทษประหารชีวิตเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิตนั้น นับว่าเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง แม้ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาจะได้มีพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 มาตรา 8 และมาตรา 19 ยกเลิกความในมาตรา 15 และมาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และให้ใช้ข้อความใหม่แทนก็ตาม แต่สำหรับคดีนี้กฎหมายที่แก้ไขใหม่มาตรา 66 วรรคสาม ไม่เป็นคุณ จึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำผิดบังคับแก่จำเลย”
พิพากษายืน

Share