แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดีไปเพื่อสืบพยานจำเลยที่จำเลยเคยแถลงไว้ในวันนัดสืบพยานจำเลยนัดก่อนว่า ถ้าพยานไม่มาศาลในนัดหน้าก็ไม่ติดใจสืบนั้นเป็นกรณีที่ศาลสั่งไปตามเงื่อนไขในคำแถลงของจำเลย จึงเป็นคำสั่งที่ขอบด้วยกฎหมาย ไม่มีเหตุที่จะต้องไปไต่สวนอีกว่าพยานจำเลยไม่มาศาลเพราะเหตุใด โจทก์ส่งสำเนาใบมอบอำนาจเป็นเอกสารท้ายฟ้องผิดไป ก่อนสืบพยานโจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องขอส่งฉบับใหม่ที่ถูกต้อง ศาลอนุญาตและโจทก์นำสืบว่าโจทก์มอบอำนาจให้ผู้รับมอบอำนาจฟ้องคดีตามใบมอบอำนาจให้ผู้รับมอบอำนาจฟ้องคดีตามใบมอบอำนาจฉบับใหม่มาตั้งแต่ต้น จำเลยจะอ้างเอาใบมอบอำนาจที่โจทก์ส่งผิดมาโดยที่โจทก์ได้แก้ไขแล้วมาเป็นเหตุให้ฟังว่าผู้รับมอบอำนาจไม่มีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์นั้นเป็นการไม่ชอบ หนังสือของโจทก์ที่มีไปถึงผู้จัดการสาขาของโจทก์ แจ้งให้ทราบว่าหัวหน้ากลุ่มเกษตรกรจะต้องทำสัญญาค้ำประกันเป็นการส่วนตัวสัญญาค้ำประกันก็ระบุว่าค้ำประกันเป็นการส่วนตัวไม่มีข้อความใดให้เห็นว่าเป็นการค้ำประกันในนามกลุ่มเกษตรกร ภูมิลำเนาของผู้ค้ำประกันที่ระบุในสัญญาก็เป็นภูมิลำเนาของจำเลย มิได้ระบุว่าอยู่ที่ที่ทำการของกลุ่มเกษตรกร และในช่องลายมือชื่อของจำเลยก็มิได้มีข้อความให้เห็นว่าลงชื่อไปในฐานะที่เป็นประธานกลุ่มเกษตรกร จำเลยจะถือเอาผลของสัญญาตามความคิดที่มีอยู่ในใจไม่ได้ ต้องผูกพันตามเจตนาที่แสดงออกมาในขณะทำสัญญาค้ำประกันกับโจทก์ จึงต้องฟังว่าจำเลยค้ำประกันเป็นการส่วนตัว ค่าอ้างเอกสารเป็นค่าธรรมเนียมอื่น ๆ เมื่อโจทก์มิได้จงใจจะไม่ชำระค่าธรรมเนียมก็ไม่มีบทกฎหมายให้ถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์อ้างเอกสารเป็นพยาน ดังนั้น เมื่อเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี ศาลจึงรับฟังได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์มอบอำนาจให้นายธารินทร์นิมมานเหมินท์ เป็นผู้ดำเนินคดี จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายประเภทสมาคม จำเลยที่ 1 ได้เปิดบัญชีเดินสะพัดประเภทเงินฝากกระแสรายวันไว้กับโจทก์ โดยจำเลยที่ 1 ได้ขอกู้เบิกเงินเกินบัญชีจากโจทก์ในวงเงิน 1,800,000 บาท ในการกู้เบิกเงินเกินบัญชีดังกล่าวจำเลยที่ 2 ถึงที่ 12 ได้เข้าเป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์และยอมรับผิดในฐานะลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ต่อมาปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ไม่นำเงินเข้าหักทอนบัญชีเป็นเหตุให้มียอดหนี้ตามบัญชีเดินสะพัดเพิ่มมากขึ้นจนเกินวงเงินที่โจทก์ได้อนุญาตไว้ โจทก์จึงบอกกล่าวให้จำเลยทั้งสิบสองร่วมกันชำระหนี้ตามบัญชีเดินสะพัด แต่จำเลยทั้งสิบสองเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 ชำระเงินจำนวน 2,453,523.10 บาทกับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 13 ต่อปี ในต้นเงิน 2,388,860.28 บาทนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 ที่ 7 ที่ 8 ที่ 9 ที่ 10 และที่ 12 ให้การทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 10 และที่ 12 ได้ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์จริง แต่ได้กระทำในฐานะตัวแทนกลุ่มเกษตรกร จำเลยทั้งหมดมิได้เข้าทำสัญญาค้ำประกันในฐานะส่วนตัว จึงไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว เพราะกลุ่มเกษตรกรต่าง ๆ มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย ในวันทำสัญญาค้ำประกันโจทก์ให้จำเลยลงชื่อในสัญญาค้ำประกันตามแบบของธนาคารโจทก์ โดยยังไม่ได้กรอกข้อความหรือพิมพ์รายละเอียดลงไป แล้วโจทก์ไปพิมพ์กรอกข้อความเปลี่ยนเจตนาไปจากความจริง และหนี้ที่โจทก์ฟ้องได้มีการคิดบัญชีโดยไม่ถูกต้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 และที่ 11 ให้การว่า จำเลยที่ 3 และที่ 11 ไม่เคยทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ ลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกันดังกล่าวมิใช่ของจำเลยที่ 3 และที่ 11 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 ชำระหนี้จำนวน2,453,523.10 บาท กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13 ต่อปี ในต้นเงิน2,388,860.28 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 9 ที่ 11 และที่ 12 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 9 ที่ 11 และที่ 12 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว จำเลยฎีกาในข้อ 1 ว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดีเป็นการไม่ชอบ ซึ่งข้อที่จำเลยอ้างว่าไม่ชอบนั้นคือการที่ศาลไม่อนุญาตให้จำเลยเลื่อนไปสืบตัวจำเลยที่ 11 และนายสันต์ ขันแก้ว ซึ่งพยานจำเลยทั้งสองคนนี้นั้นตามรายงานกระบวนพิจารณา ลงวันที่ 20 มิถุนายน 2526ซึ่งเป็นวันนัดสืบพยานจำเลย เมื่อสืบพยานจำเลยไปได้ 1 คน แล้วจำเลยแถลงขอเลื่อนไปสืบพยาน 2 คนนี้ในนัดต่อไป โดยได้แถลงไว้ด้วยว่า ถ้านัดหน้าไม่ได้พยาน 2 คน นี้มาสืบก็จะไม่ติดใจสืบพยานทั้ง 2 คนนี้ จะขอส่งประเด็นไปสืบพยานคนอื่น ศาลจึงอนุญาตให้เลื่อนคดีไปสืบพยานจำเลยในวันที่ 8 สิงหาคม 2526 ครั้นถึงวันนัดที่เลื่อนไป ทนายจำเลยแถลงว่าพยาน 2 คน ดังกล่าวไม่มาศาลโดยไม่ทราบสาเหตุ ขอให้ส่งประเด็นไปสืบพยานปากอื่นที่ศาลแพ่งเมื่อสืบพยานจำเลยที่ศาลแพ่งเสร็จแล้ว ในวันนัดฟังประเด็นจำเลยกลับแถลงขอนัดสืบพยานจำเลยต่อ ศาลจังหวัดเชียงใหม่ให้นัดสืบพยานจำเลยในวันที่ 26 มีนาคม 2527 ถึงวันนัดไม่มีพยานจำเลยมาศาลทนายจำเลยขอเลื่อนไปสืบพยานจำเลย 2 คน ที่กล่าวข้างต้น โจทก์คัดค้าน ศาลไม่อนุญาตให้เลื่อน เห็นว่า พยานจำเลยทั้ง 2 คน ที่จำเลยจะเลื่อนไปเพื่อขอสืบนั้นเป็นพยานที่จำเลยเคยแถลงไว้ว่าถ้าไม่มาศาลก็ไม่ติดใจสืบ ดังนั้น การที่ศาลไม่อนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดีเพื่อสืบพยาน 2 คน นี้ จึงเป็นกรณีที่ศาลสั่งไปตามเงื่อนไขในคำแถลงของจำเลย เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีเหตุที่จะต้องไปไต่สวนอีกว่าพยานจำเลยทั้ง 2 คน นี้ ไม่มาศาลเพราะเหตุใดทั้งไม่มีเหตุที่จะให้จำเลยที่ 11 สืบพยานอีก ตามที่ขอมาในฎีกาได้ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยฎีกาในข้อ 2 ว่า นายธารินทร์ นิมมานเหมินท์ ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ คดีได้ความว่า ในชั้นที่โจทก์ยื่นฟ้องนั้นได้ส่งสำเนาใบมอบอำนาจเป็นเอกสารท้ายฟ้องฉบับหนึ่ง ซึ่งต่อมาก่อนลงมือสืบพยาน โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องว่าสำเนาใบมอบอำนาจที่โจทก์ส่งท้ายฟ้องนั้น โจทก์ส่งผิดไป ขอส่งฉบับใหม่ตามเอกสารหมาย ป.จ.1 ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตซึ่งในชั้นที่มีการสืบพยานโจทก์ก็นำสืบว่า โจทก์มอบอำนาจให้นายธารินทร์ฟ้องคดีนี้ตามใบมอบอำนาจเอกสารหมาย ป.จ.1 ซึ่งจำเลยก็มิได้นำสืบหักล้างว่า ไม่มีการมอบอำนาจตามเอกสารหมาย ป.จ.1 ข้อเท็จจริงต้องฟังว่า โจทก์ได้มอบอำนาจให้นายธารินทร์ฟ้องคดีนี้ตามใบมอบอำนาจเอกสารหมายป.จ.1 มาตั้งแต่ต้น ซึ่งความที่ปรากฏในใบมอบอำนาจเอกสารหมาย ป.จ.1 นั้น ระบุให้เห็นว่า นายธารินทร์มีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ได้ จำเลยจะอ้างเอาใบมอบอำนาจที่โจทก์ส่งผิดมาโดยที่โจทก์ก็ได้แก้ไขแล้ว และจำเลยก็มิได้นำสืบว่า โจทก์มอบอำนาจให้นายธารินทร์ฟ้องคดีนี้ตามใบมอบอำนาจที่โจทก์ส่งผิดมาแต่ต้นมาเป็นเหตุให้ฟังว่านายธารินทร์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์นั้น เป็นการไม่ชอบ ที่ศาลอุทธรณ์ฟังว่า นายธารินทร์มีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ได้นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยฎีกาในข้อ 3 ว่า จำเลยที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 9 และที่ 12ทำสัญญาค้ำประกันในฐานะตัวแทนของกลุ่มเกษตรกรจึงไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว ได้พิจารณาสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีที่จำเลยที่ 1ทำกับโจทก์ตามเอกสารหมาย ป.จ.4 ข้อ 7 ระบุว่า “เพื่อเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญานี้ ผู้กู้ยอมมอบ… 2. หนังสือสัญญาค้ำประกันเป็นการส่วนตัวของหัวหน้ากลุ่มเกษตรกร 15 กลุ่ม”และตามหนังสือจากสำนักงานใหญ่ของโจทก์ที่มีไปถึงผู้จัดการสาขาของโจทก์ที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งได้มีการกู้เบิกเงินเกินบัญชีลงวันที่ 16 มิถุนายน 2519 เอกสารหมาย ป.จ.17 แจ้งให้ทราบว่าหัวหน้ากลุ่มเกษตรกรจะต้องทำสัญญาค้ำประกันเป็นการส่วนตัวโดยแจ้งให้ทราบก่อนที่จะมีการทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี ตามเอกสารหมาย ป.จ.4 และในสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย ป.จ.5, ป.จ.7,ป.จ.8, ป.จ.13 และ ป.จ.16 ก็ไม่ปรากฏข้อความใด ๆ ที่จะทำให้เห็นได้ว่า จะเป็นการค้ำประกันในนามกลุ่มเกษตรกรที่จำเลยแต่ละคนเป็นประธานอยู่ ภูมิลำเนาของผู้ค้ำประกันที่ระบุไว้ในสัญญาค้ำประกันก็ตรงกับคำให้การของจำเลยว่าเป็นภูมิลำเนาของจำเลยแต่ละคนต่างกันไป มิได้ระบุว่าแต่ละคนอยู่ที่ที่ทำการของกลุ่มเกษตรกรอันจะมีข้อที่พอให้เห็นได้ว่าจะมีการค้ำประกันในนามของกลุ่มเกษตรกรและในช่องลายมือชื่อของจำเลยก็มิได้มีข้อความให้เห็นว่าจะลงชื่อไปในฐานะที่เป็นประธานกลุ่มเกษตรกร ซึ่งถ้าจำเลยต้องการจะทำสัญญาค้ำประกันในนามของกลุ่มเกษตรกรจริงก็น่าจะระบุฐานะดังกล่าวนั้นไว้ในสัญญาค้ำประกัน จริงอยู่ในความคิดของจำเลยอาจจะคิดว่าตนทำในฐานะเช่นนั้น แต่ในเมื่อการที่จำเลยแสดงเจตนาออกให้ปรากฏด้วยการทำสัญญามิได้แสดงเจตนาตามความคิดของตน จะถือผลของสัญญาตามความคิดที่มีอยู่ในใจไม่ได้ ต้องผูกพันตามเจตนาที่แสดงออกมาในขณะที่ทำสัญญาค้ำประกันกับโจทก์ ส่วนข้อที่จำเลยนำสืบว่าโจทก์พิมพ์ข้อความในสัญญาขึ้นภายหลังไม่ตรงตามที่ตกลงกันนั้นก็มีแต่คำเบิกความของจำเลยลอย ๆ เมื่อระลึกถึงว่าเจ้าหน้าที่ของโจทก์ผู้จัดทำเอกสารนั้น เป็นการทำในระบบของธนาคารที่ต้องมีการตรวจสอบตามขั้นตอน จึงไม่น่าจะมีกรณีที่ให้ผู้เกี่ยวข้องลงชื่อไว้โดยไม่มีการกรอกข้อความให้ครบถ้วนก่อนแล้วมาเพิ่มเติมข้อความภายหลังในกรณีที่จะมีการฟ้องคดี เพราะเจ้าหน้าที่ของธนาคารก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลไปตามกาลเวลา ผู้ที่มาทีหลังจะรู้เรื่องการทำการได้อย่างไร จึงไม่มีเหตุที่จะให้เชื่อได้ดังที่จำเลยเบิกความ ทำให้เชื่อได้ว่า จะต้องมีการทำสัญญาค้ำประกันตามข้อความที่ปรากฏในเอกสารที่โจทก์อ้างจริง จึงต้องฟังว่าจำเลยที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 9 และที่ 12 ค้ำประกันเป็นการส่วนตัวฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยฎีกาในปัญหาสุดท้ายว่า โจทก์มิได้เสียค่าอ้างเอกสารในศาลชั้นต้นจึงรับฟังพยานเอกสารที่โจทก์อ้างไม่ได้นั้น คดีได้ความว่า ที่โจทก์มิได้เสียค่าอ้างเอกสารนั้นมิใช่เรื่องที่โจทก์จงใจจะไม่ชำระค่าอ้างเอกสารตามคำสั่งศาล ค่าอ้างเอกสารนั้นเป็นค่าธรรมเนียมอื่น ๆ เมื่อโจทก์มิได้จงใจจะไม่ชำระค่าธรรมเนียมเช่นนี้ก็ไม่มีบทกฎหมายจะให้ถือว่าโจทก์จะไม่ประสงค์อ้างเอกสารเป็นพยาน ตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87นั้นบัญญัติไว้แต่เพียงว่า ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานที่คู่ความมิได้แสดงความจำนงที่จะอ้างอิงเท่านั้น และในบทบัญญัติในมาตรานี้ยังมีบัญญัติไว้เป็นการยกเว้นด้วยว่าถ้าเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี แม้จะฝ่าฝืนบทบัญญัติในอนุมาตรานี้ก็ให้อำนาจศาลที่จะรับฟังพยานหลักฐานเช่นว่านั้นได้ดังนั้นการที่ศาลล่างทั้งสองรับฟังพยานเอกสารดังกล่าว โดยที่เป็นเอกสารซึ่งเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี จึงไม่เป็นเรื่องที่ศาลรับฟังพยานหลักฐานที่ไม่ชอบทั้งได้ความต่อมาว่าเมื่อศาลอุทธรณ์ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้โจทก์เสียค่าอ้างเอกสาร โจทก์ก็ได้เสียค่าอ้างเอกสารครบถ้วนแล้วจึงไม่มีกรณีที่ศาลฎีกาจะไม่รับฟังพยานเอกสารของโจทก์ที่อ้างมาอีกได้ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ 4 ที่ 5ที่ 9 ที่ 11 และที่ 12 ทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน