คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12479/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เบิกความว่า ผู้ตรวจสอบบัญชีสหกรณ์ได้แจ้งให้ผู้เสียหายทราบว่า น่าจะมีการทุจริตเกิดขึ้นในสหกรณ์ของผู้เสียหาย ผู้เสียหายได้เรียกประชุมคณะกรรมการและได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง ผลการตรวจสอบพบว่ามีการทุจริตเกี่ยวกับสินค้าของผู้เสียหายจริง และได้สรุปความเห็นว่าโจทก์ทุจริตในการปฏิบัติหน้าที่ เห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 เบิกความไปตามข้อเท็จจริงตามลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และตามผลการตรวจสอบที่คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของผู้เสียหายให้ความเห็นไว้ โดยโจทก์ยอมรับว่าได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ยอมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายสำหรับสินค้าของผู้เสียหายที่ขาดหายไปบางส่วนด้วย พฤติการณ์ของโจทก์ดังกล่าวย่อมทำให้บุคคลทั่วไปไม่เฉพาะจำเลยที่ 1 มีความเข้าใจว่าโจทก์เป็นผู้ยักยอกสินค้าและเงินของผู้เสียหายกับปลอมเอกสารต่าง ๆ คำเบิกความของจำเลยที่ 1 จึงมีลักษณะเป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นตามข้อเท็จจริงมิใช่เป็นกรณียืนยันข้อเท็จจริงว่าโจทก์กระทำความผิดแต่อย่างใด ส่วนคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ก็เป็นเพียงการแสดงความเห็นตามข้อเท็จจริงมิใช่เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงว่าโจทก์กระทำผิดเช่นกัน เพราะจำเลยที่ 2 เบิกความโดยใช้ถ้อยคำว่า จึงเชื่อว่าโจทก์เป็นผู้ปลอมลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 เบิกความอธิบายถึงเหตุที่เชื่อเช่นนั้นว่า เพราะเอกสารใบเบิกเงินอยู่ในความครอบครองของโจทก์โดยตลอด ซึ่งโจทก์ยอมรับว่าโจทก์มีหน้าที่รับผิดชอบเอกสารทางบัญชีต่าง ๆ ของผู้เสียหายจริง จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองเบิกความอันเป็นเท็จ จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 177

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177, 83
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 วรรคสอง ประกอบมาตรา 83 จำคุกคนละ 3 ปี
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้ฎีกาโต้เถียงกันฟังได้ว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของสหกรณ์โคนมดงเย็น จำกัด ผู้เสียหาย ตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการ ทำหน้าที่ผู้จัดการของผู้เสียหาย จำเลยที่ 1 เป็นประธานกรรมการผู้เสียหาย ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นอดีตประธานกรรมการผู้เสียหาย เมื่อประมาณเดือนมกราคม 2540 เจ้าพนักงานสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์มุกดาหารได้ตรวจบัญชีผู้เสียหาย พบว่าสินค้าปุ๋ยขาดบัญชี ส่วนสินค้าอื่นตรวจสอบไม่ได้เพราะบัญชีจัดทำไม่เรียบร้อย ได้แจ้งผู้เสียหายให้จัดทำบัญชีให้เรียบร้อย คณะกรรมการผู้เสียหายเรียกประชุมกรรมการเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและจัดทำทะเบียนคุมสินค้าจึงพบว่านอกจากสินค้าปุ๋ยที่ขาดบัญชีแล้วยังมีสินค้ามันเส้น มันสด น้ำมันดีเซล ปอ สินค้าเบ็ดเตล็ดขาดบัญชีอีก 6 รายการ และยังพบว่ามีการปลอมใบเบิกเงินมาขอเบิกเงินไปจากผู้เสียหาย โจทก์ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้ไว้แก่ผู้เสียหายโดยยอมชำระหนี้เงินยืมทดรองจ่ายซื้อวิทยุสื่อสารจำนวน 4,500 บาท ค่าปอที่หายไปจำนวน 1,620 บาท และค่าสินค้าในร้านค้าของผู้เสียหายที่หายไปอีกจำนวน 11,324 บาท แต่โจทก์ไม่ยอมชำระเงินตามที่ทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้ ผู้เสียหายจึงร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่โจทก์ พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องโจทก์เป็นจำเลยเป็นคดีอาญาต่อศาลชั้นต้นในข้อหายักยอกและความผิดเกี่ยวกับเอกสารตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3130/2542 จำเลยทั้งสองเบิกความเป็นพยานโจทก์ในคดีดังกล่าว โดยจำเลยที่ 1 เบิกความในส่วนที่โจทก์อ้างว่าเป็นความเท็จว่า การตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบโดยอาศัยบัญชีควบคุมสินค้าที่ผู้เสียหายสั่งซื้อเข้ามาและมีการจำหน่ายออกไปตามเอกสารหมาย จ.11 ถึง จ.16 โดยโจทก์เบียดบังยักยอกเอาสินค้าและเงินของผู้เสียหายซึ่งอยู่ในความครอบครอบดูแลรักษาผิดชอบของโจทก์เป็นประโยชน์ของตนเองโดยทุจริต และเบิกความต่อไปว่า โจทก์ปลอมใบเบิกเงินเอกสารหมาย จ.20 ถึง จ.22 จ.24 จ.26 ถึง จ.28 ลงลายมือชื่อปลอมในใบเบิกเงินเอกสารหมาย จ.26 ส่วนจำเลยที่ 2 เบิกความในส่วนที่โจทก์อ้างว่าเป็นความเท็จว่า จำเลยที่ 2 ไม่เคยนำสินค้าหรือผลิตผลทางการเกษตรจำหน่ายให้แก่ผู้เสียหาย ลายมือชื่อในเอกสารหมาย จ.20 และ จ.21 ไม่ใช่ของจำเลยที่ 2 และเนื่องจากเอกสารหมาย จ.20 และ จ.21 อยู่ในความครอบครองของโจทก์โดยตลอด จึงเชื่อว่าโจทก์เป็นผู้ปลอมลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 ลงในเอกสารทั้งสองฉบับนั้นคดีดังกล่าวศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องคดีถึงที่สุด มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า เมื่อพิจารณาคำเบิกความของจำเลยทั้งสองในคดีดังกล่าวโดยตลอดแล้ว สำหรับในส่วนคำเบิกความของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ได้เบิกความไว้ก่อนหน้าข้อความไว้ก่อนหน้าข้อความที่โจทก์อ้างว่าเป็นความเท็จว่าผู้ตรวจสอบบัญชีสหกรณ์ได้แจ้งให้ผู้เสียหายทราบว่า น่าจะมีการทุจริตเกิดขึ้นในสหกรณ์ของผู้เสียหาย ผู้เสียหายได้เรียกประชุมคณะกรรมการและได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง ผลการตรวจสอบพบว่ามีการทุจริตเกี่ยวกับสินค้าของผู้เสียหายจริง และได้สรุปความเห็นว่าโจทก์ทุจริตในการปฏิบัติหน้าที่ จึงเห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 เบิกความไปตามข้อเท็จจริงตามลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและตามผลการตรวจสอบที่คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของผู้เสียหายให้ความเห็นไว้ โดยโจทก์เองก็ยอมรับว่าได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ยอมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายสำหรับสินค้าของผู้เสียหายที่ขาดหายไปบางส่วนด้วย พฤติการณ์ของโจทก์ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวย่อมทำให้บุคคลทั่วไปไม่ใช่เฉพาะจำเลยที่ 1 มีความเข้าใจเช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 ว่าโจทก์เป็นผู้ยักยอกสินค้าและเงินของผู้เสียหายกับปลอมเอกสารต่าง ๆ คำเบิกความของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นเพียงการแสดงความเห็นตามข้อเท็จจริงมิใช่เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงว่าโจทก์กระทำความผิดแต่อย่างใดในส่วนคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ที่โจทก์อ้างว่าเป็นการเบิกความเท็จก็เห็นได้ว่าเป็นเพียงการแสดงความเห็นตามข้อเท็จจริงมิใช่เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงว่าโจทก์กระทำความผิดเช่นกัน เพราะจำเลยที่ 2 เบิกความโดยใช้ถ้อยคำว่า จึงเชื่อว่าโจทก์เป็นผู้ปลอมลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 เบิกความอธิบายถึงเหตุที่เชื่อเช่นนั้นว่า เพราะเอกสารดังกล่าวอยู่ในความครอบครองของโจทก์โดยตลอดซึ่งตามที่โจทก์นำสืบมาโจทก์ก็ยอมรับว่า โจทก์มีหน้าที่รับผิดชอบเอกสารทางบัญชีต่าง ๆ ของผู้เสียหายจริง กรณียังถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองเบิกความอันเป็นเท็จจำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกฟ้องมานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share