แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ที่ดินของจำเลยและที่ดินของมารดาและยายจำเลยตั้งอยู่ในละแวกเดียวกันเป็นแปลงใหญ่ จำเลยทราบดีว่า ท. ยายจำเลยขายฝากที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินส่วนหนึ่งของที่ดินแปลงใหญ่และเป็นที่ดินที่จำเลยได้ครอบครองทำกินอยู่ด้วยไว้แก่โจทก์ แต่จำเลยคงทำกินอยู่ในที่ดินพิพาทต่อมา ภายหลังจำเลยทราบด้วยว่า ท. ไม่ไถ่คืน กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทจึงตกเป็นของโจทก์ จำเลยก็ยังทำกินอยู่ในที่ดินพิพาทตลอดมา จึงต้องถือว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์ ตราบใดที่จำเลยมิได้แสดงเจตนาเปลี่ยนแปลงการยึดถือโดยบอกกล่าวต่อโจทก์ว่าจำเลยไม่มีเจตนาจะยึดถือที่ดินพิพาทแทนโจทก์อีกต่อไป ดังที่บัญญัติไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 ฐานะการครอบครอบที่ดินพิพาทของจำเลยก็คงมีตามเดิมไม่อาจจะถือได้ว่าจำเลยครอบครองเพื่อตนอันจะเป็นเหตุให้จำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ จนเมื่อโจทก์นำเจ้าพนักงานที่ดินไปรังวัดสอบเขตที่ดินพิพาทและจำเลยคัดค้านการรังวัด อ้างว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2537 จึงจะพอถือได้ว่าจำเลยได้แสดงเจตนาเปลี่ยนแปลงการยึดถือที่ดินพิพาทนั้นแล้ว แต่เมื่อคำนวณถึงวันฟ้องยังไม่ครบ 10 ปี จำเลยจึงยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างไม่มีเลขที่ออกจากที่ดินของโจทก์และให้ชำระค่าเสียหายเดือนละ 15,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างไม่มีเลขที่ออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 30505 ตำบลหนองค้างพลู (หลักสอง) อำเภอหนองแขม (ภาษีเจริญ) กรุงเทพมหานคร และให้จำเลยชำระค่าเสียหายเดือนละ 2,000 บาท แก่โจทก์นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดิน
จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติได้ว่า เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2524 โจทก์รับซื้อฝากที่ดินโฉนดเลขที่ 30505 ตำบลหนองค้างพลู (หลักสอง) อำเภอหนองแขม (ภาษีเจริญ) กรุงเทพมหานคร จากนางทองย้อยซึ่งเป็นยายจำเลยในราคา 150,000 บาท กำหนดไถ่คืนภายใน 1 ปี เมื่อครบกำหนดขายฝากแล้วไม่มีการไถ่คืนที่ดินพิพาทแปลงนี้แต่เดิมจำเลยเข้าไปขุดบ่อเลี้ยงปลา ปลูกผักกระเฉด เลี้ยงบัว และผลไม้อื่น ๆ เพื่อเป็นอาชีพของจำเลยอยู่ก่อนแล้ว ครั้นต่อมาเมื่อครบกำหนดขายฝากไม่มีการไถ่คืน จำเลยทำกินอยู่ในที่ดินพิพาทเรื่อยมา จนเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2537 โจทก์นำเจ้าพนักงานที่ดินไปรังวัดสอบเขตที่ดินพิพาทจำเลยโต้แย้งคัดค้านว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยโดยการครอบครองปรปักษ์หมดทั้งแปลง คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการแรกว่า จำเลยครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทจนได้กรรมสิทธิ์แล้วหรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่าที่ดินของจำเลยและที่ดินของมารดาและยายจำเลยตั้งอยู่ในละแวกเดียวกันเป็นแปลงใหญ่ และจำเลยก็ทราบดีว่านางทองย้อยยายจำเลยขายฝากที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินส่วนหนึ่งของที่ดินแปลงใหญ่และเป็นที่ดินที่จำเลยได้ครอบครองทำกินอยู่ด้วยไว้แก่โจทก์ แต่จำเลยคงทำกินอยู่ในที่ดินพิพาทต่อมา ภายหลังจำเลยทราบด้วยว่านางทองย้อยไม่ไถ่คืนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทจึงตกเป็นของโจทก์จำเลยก็ยังทำกินอยู่ในที่ดินพิพาทตลอดมา ดังนี้ จึงต้องถือว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์ ตราบใดที่จำเลยมิได้แสดงเจตนาเปลี่ยนแปลงการยึดถือโดยบอกกล่าวต่อโจทก์ว่าจำเลยไม่มีเจตนาจะยึดถือที่ดินพิพาทแทนโจทก์อีกต่อไป ดังที่บัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381 แล้ว ฐานะการครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยก็คงมีตามเดิม ไม่อาจจะถือได้ว่าจำเลยครอบครองเพื่อตนอันจะเป็นเหตุให้จำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ดังจำเลยอ้างจนเมื่อโจทก์นำเจ้าพนักงานที่ดินไปรังวัดสอบเขตที่ดินพิพาทและจำเลยคัดค้านการรังวัด อ้างว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2537 จึงจะพอถือได้ว่าจำเลยได้แสดงเจตนาเปลี่ยนแปลงการยึดถือที่ดินพิพาทนั้นแล้วแต่เมื่อคำนวณถึงวันฟ้องยังไม่ครบ 10 ปี จำเลยจึงยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382
ปัญหาวินิจฉัยประการสุดท้ายมีว่า จำเลยต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์หรือไม่เพียงใด เห็นว่า การที่จำเลยเข้าไปทำกินอยู่ในที่ดินพิพาทของโจทก์โดยไม่มีสิทธินั้น เมื่อโจทก์สามารถหาผลประโยชน์โดยทำสวนกล้วยไม้ในที่ดินพิพาท และที่ดินพิพาทของโจทก์มีเนื่อที่ถึง 1 ไร่เศษ นับว่าเป็นที่ดินแปลงใหญ่พอสมควร ที่ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจกำหนดค่าเสียหายแก่โจทก์มานั้น เหมาะสมแก่รูปคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลียนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน