คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12510/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

บทบัญญัติตาม ป.อ. มาตรา 90 มิใช่บทกฎหมายที่ใช้ลงโทษตรง หากแต่เป็นเพียงบทกฎหมายที่กำหนดวิธีการลงโทษซึ่งเป็นวิธีการที่ศาลจะใช้เอง โดยโจทก์มิต้องขอมาในคำขอท้ายฟ้อง การที่ศาลล่างปรับบทลงโทษจำเลยโดยอ้างหลักเกณฑ์ตามมาตรา 90 จึงชอบแล้ว การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดหลายบท

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 72 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 และเพิ่มโทษจำเลยตามกฎหมาย
จำเลยให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 72 วรรคสอง วรรคสาม เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครอง อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด (ที่ถูก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90) จำคุก 1 ปี เพิ่มโทษจำเลย (ที่ถูก หนึ่งในสาม) ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เป็นจำคุก 1 ปี 4 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา นับเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 8 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยฎีกาว่า ฟ้องของโจทก์ไม่ได้ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ศาลจะปรับบทลงโทษจำเลยตามมาตรา 90 มิได้ เพราะเกินคำขอ เห็นว่า บทบัญญัติตามมาตรา 90 มิใช่บทกฎหมายที่ใช้ลงโทษโดยตรงหากแต่เป็นเพียงบทกฎหมายที่กำหนดวิธีการลงโทษซึ่งเป็นวิธีการที่ศาลจะใช้เองโดยโจทก์มิต้องขอมาในคำขอท้ายฟ้อง ดังนั้น การที่ศาลล่างปรับบทลงโทษจำเลยโดยอ้างหลักเกณฑ์ตามมาตรา 90 จึงชอบแล้ว ตามรูปคดีรับฟังได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดหลาบบท ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นชอบแล้วฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share