คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12551/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตามคำฟ้องของโจทก์ โจทก์บรรยายถึงการกระทำความผิดของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวตาม ป.อ. มาตรา 80, 288 แต่ฎีกาของโจทก์กลับโต้เถียงข้อเท็จจริงว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรม เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่าโจทก์มีอำนาจฟ้อง จึงมีผลอย่างเดียวกับการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อข้อเท็จจริงตามที่โจทก์กล่าวอ้างในฎีกาดังกล่าว นอกจากโจทก์มิได้บรรยายไว้ในคำฟ้องแล้ว ยังขัดแย้งกับข้อเท็จจริงตามคำฟ้องอีกด้วย จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 288
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว วินิจฉัยว่า พยานโจทก์ยังไม่มีมูลพอให้รับฟังได้ว่า จำเลยมีเจตนาฆ่าโจทก์ และศาลชั้นต้นสอบถามโจทก์แล้วได้ความว่า โจทก์ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน และพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องจำเลยในความผิดฐานพยายามฆ่า โดยฟ้องจำเลยในความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ศาลแขวงธนบุรีพิพากษาลงโทษจำเลย คดีถึงที่สุดแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) เห็นว่าคดีไม่มีมูลพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คดีศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยได้วินิจฉัยทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ซึ่งในปัญหาข้อเท็จจริงได้วินิจฉัยว่าพยานโจทก์ยังไม่มีมูลพอให้รับฟังได้ว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าโจทก์ ส่วนในข้อกฎหมายวินิจฉัยว่าคดีนี้โจทก์ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องในความผิดฐานพยายามฆ่า แต่ยื่นฟ้องจำเลยในความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ศาลแขวงธนบุรีมีคำพิพากษาลงโทษจำเลย คดีถึงที่สุดแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) คดีของโจทก์จึงไม่มีมูลที่จะรับประทับฟ้องไว้พิจารณา ซึ่งคำวินิจฉัยดังกล่าวไม่ว่าในส่วนของข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายอย่างใดอย่างหนึ่งก็เป็นเหตุให้ศาลพิพากษายกฟ้องได้ อุทธรณ์ของโจทก์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้นอันเป็นปัญหาข้อเท็จจริงมาเพียงประการเดียว มิได้โต้แย้งคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในปัญหาข้อกฎหมายเรื่องอำนาจฟ้องที่ว่าสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ยังไม่ระงับไปมาด้วยไม่ ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องจึงยุติไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและเท่ากับโจทก์ยอมรับแล้วว่าโจทก์ฟ้องคดีนี้อีกไม่ได้เพราะเป็นฟ้องซ้ำต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) เมื่อปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องยุติดังกล่าวแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ในปัญหาข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าโจทก์หรือไม่ ย่อมไม่เป็นประโยชน์แก่คดีของโจทก์ เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง อุทธรณ์ของโจทก์จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ต้องห้ามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยให้ และพิพากษายกอุทธรณ์โจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จะยกขึ้นอ้างในการยื่นฎีกานั้น คู่ความจะต้องกล่าวไว้โดยชัดแจ้งในฎีกาและต้องเป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 การที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน โดยจำเลยใช้อาวุธปืนสั้นจ้องเล็งไปทางโจทก์และยิงโจทก์แต่กระสุนปืนไม่ถูกเพราะโจทก์เอี้ยวตัวหลบ จากนั้นจำเลยจะยิงโจทก์อีก แต่นายสมพงษ์พูดโน้มน้าวถึงปัญหาของลูก เป็นผลให้จำเลยหยุดกระทำการที่จะยิงโจทก์อีกพฤติกรรมของจำเลยดังกล่าวเป็นความผิดฐานพยายามฆ่ากรรมหนึ่ง หลังจากนั้นจำเลยใช้อาวุธปืนสั้นตบที่ศีรษะของโจทก์ ทำให้ศีรษะแตกมีโลหิตไหล แล้วจำเลยหลบหนีไปซึ่งเป็นความผิดต่อร่างกายอีกกรรมหนึ่ง แม้พนักงานอัยการจะฟ้องจำเลยในความผิดต่อร่างกายและศาลพิพากษาลงโทษจำเลยคดีถึงที่สุดแล้ว แต่จำเลยยังไม่ถูกลงโทษในความผิดฐานพยายามฆ่า สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงยังไม่ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) นั้น เมื่อพิเคราะห์คำฟ้องของโจทก์ โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2541 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง จำเลยใช้อาวุธปืนสั้นยิงประทุษร้ายโจทก์โดยเจตนาฆ่า และได้ลงมือกระทำความผิดไปโดยตลอดแล้ว แต่การกระทำไม่บรรลุผล เนื่องจากกระสุนปืนไม่ถูกโจทก์ โจทก์จึงไม่ถึงแก่ความตายสมดังเจตนาของจำเลย แล้วจำเลยเดินตรงเข้าหาโจทก์ใช้มือขวาที่ถืออาวุธปืนสั้นตบที่บริเวณขมับศีรษะข้างซ้ายของโจทก์จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายได้รับบาดเจ็บมีบาดแผลโลหิตไหลออกมา และทันใดนั้นจำเลยใช้มือขวาถืออาวุธปืนสั้นโดยหันปลายกระบอกปืนไปที่ตัวโจทก์อีกครั้ง แล้วใช้นิ้วหัวแม่มือขวาง้างนกอาวุธปืนสั้นออกโดยเจตนาจะยิงโจทก์ให้ตาย แต่นายสมพงษ์เดินมาทางด้านหลังจำเลยและใช้มือจับมือข้างขวาของจำเลยที่ถืออาวุธปืนสั้นกดลงกับพื้น เป็นเหตุให้จำเลยซึ่งลงมือกระทำความผิดไปโดยตลอดแล้ว แต่การกระทำไม่บรรลุผล และจำเลยได้หลบหนีไป โจทก์จึงรอดพ้นจากความตาย และได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลบางขุนเทียน เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2541 การกระทำของจำเลยดังกล่าวถือเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 288 ขอให้ศาลออกหมายนัดไต่สวนมูลฟ้องจำเลยมาพิจารณาลงโทษตามกฎหมาย เห็นได้ว่า ตามคำฟ้องของโจทก์ โจทก์บรรยายถึงการกระทำความผิดของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 288 แต่ฎีกาของโจทก์กลับโต้เถียงข้อเท็จจริงว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรม เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่าโจทก์มีอำนาจฟ้อง จึงมีผลอย่างเดียวกับการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อข้อเท็จจริงตามที่โจทก์กล่าวอ้างในฎีกาดังกล่าว นอกจากโจทก์มิได้บรรยายไว้ในคำฟ้องแล้ว ยังขัดแย้งกับข้อเท็จจริงตามคำฟ้องอีกด้วย จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษายกฎีกาของโจทก์

Share