แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องจำเลยเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากมูลละเมิดจากการที่จำเลยขออายัดที่ดินของโจทก์ไว้ มูลละเมิดจึงเกิดจากการกระทำของจำเลยที่ขออายัดที่ดินโจทก์ไว้เท่านั้น หาใช่การกระทำโดยละเมิดต่อโจทก์ต่อเนื่องกันตลอดมาจนถึงวันที่จำเลยถอนอายัดไม่ ฟ้องโจทก์จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์ไม่สามารถขายที่ดินได้เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2537 ย่อมแสดงว่าโจทก์รู้เหตุละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนนับแต่นั้น โจทก์นำคดีมาฟ้องเกินกำหนด 1 ปี คดีจึงขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากการที่จำเลยอายัดที่ดินของโจทก์จำนวน 1,217,497 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายจำนวน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งสอง นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่า ฟ้องโจทก์ทั้งสองขาดอายุความแล้วหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า อายุความละเมิดในกรณีนี้เริ่มนับแต่วันที่โจทก์ทราบถึงการอายัด มิใช่วันที่จำเลยถอนการอายัด ฟ้องโจทก์ทั้งสองจึงขาดอายุความ เห็นว่า โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากมูลละเมิดจากการที่จำเลยขออายัดที่ดินของโจทก์ทั้งสองไว้ เป็นที่เห็นได้ว่ามูลละเมิดเกิดจากการกระทำของจำเลยที่ขออายัดที่ดินโจทก์ทั้งสองไว้เท่านั้น กรณีหาใช่การกระทำโดยละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองต่อเนื่องกันตลอดมา จนถึงวันที่จำเลยถอนอายัดไม่ ฟ้องโจทก์ทั้งสองจึงต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า “สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดนั้น ท่านว่าขาดอายุความเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน…” เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2537 โจทก์ทั้งสองไม่สามารถขายที่ดินได้เพราะจำเลยขออายัดที่ดินดังกล่าวไว้ ย่อมแสดงว่าโจทก์ทั้งสองรู้เหตุละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนนับแต่นั้น โจทก์ทั้งสองนำคดีนี้มาฟ้องเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2542 เกินกำหนด 1 ปี คดีโจทก์ทั้งสองจึงขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาว่าคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง