แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยเป็นสามีของ ส. บุตรของผู้เสียหายโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน จำเลยและ ส. ทำนาขายข้าวได้เงิน 7,500บาท ส. นำเงินดังกล่าวใส่ไว้ในกระเป๋าถือฝากเก็บไว้ในหีบของผู้เสียหาย เช่นนี้ การที่จำเลยไขกุญแจเปิดหีบของผู้เสียหายแล้วเอาเงินดังกล่าวไปโดยเข้าใจว่าเป็นเงินของจำเลย จำเลยมีสิทธิเอาไปได้ จึงเป็นการกระทำที่ขาดเจตนาทุจริต ไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335 และขอให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 30,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335 ให้จำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 ให้ลดโทษหนึ่งในสาม คงจำคุก 2 ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 30,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยเป็นสามีของนางสายชู ชื่นโพธิ์ บุตรของผู้เสียหาย แต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส ได้อยู่กินด้วยกันที่บ้านของผู้เสียหายก่อนเกิดเหตุ1 ปีเศษ ในวันเกิดเหตุจำเลยไขกุญแจหีบใส่เงินในห้องเก็บของเอาเงินในหีบไป แล้วจำเลยกลับไปอยู่บ้านบิดามารดาของจำเลยโดยไม่กลับมาอยู่กินกับนางสายชูอีก มีปัญหาว่า เงินในหีบที่จำเลยเอาไปนั้น มีจำนวน 30,000 บาท โดยเป็นของผู้เสียหายจำนวน 20,000 บาทของนางสายชูจำนวน 10,000 บาท ดังโจทก์นำสืบหรือจำนวน 7,500 บาทซึ่งเป็นของจำเลยดังจำเลยนำสืบ เห็นว่า สำหรับเงินจำนวน 20,000 บาทแม้โจทก์จะมีผู้เสียหายมาเบิกความยืนยันว่า เป็นเงินที่ได้จากการขายข้าวเปลือกและมีใบเสร็จรับเงินมาแสดง ก็ปรากฏว่า ใบเสร็จรับเงินระบุว่าบุญเนตรเจริญเป็นผู้ขาย ไม่ใช่ชื่อของพยาน แม้พยานจะเบิกความอีกว่า ผู้ซื้อออกใบเสร็จรับเงินเป็นชื่อของรถยนต์ ก็ไม่มีพยานอื่นมาเบิกความสนับสนุน จึงเป็นที่สงสัยทั้งจำนวนเงินในใบเสร็จรับเงินทั้งสองฉบับเมื่อรวมกันแล้วเป็นจำนวนเงิน 27,098 บาทมิใช่จำนวน 20,000 บาทถ้วน ตามใบเสร็จรับเงินระบุว่าเพิ่งขายเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2528 ก่อนเกิดเหตุเพียง 15 วัน แต่ก็ไม่ได้ความว่าส่วนที่เกิน 20,000 บาท คือจำนวน 7,098 บาท พยานเอาเก็บไว้ที่ไหนหรือเอาไปใช้จ่ายอะไรจึงเหลืออยู่ 20,000 บาทถ้วนเป็นที่สงสัยอีกเช่นกัน ส่วนเงินจำนวน 10,000 บาท ที่ว่าเป็นของนางสายชูฝากไว้ แม้โจทก์จะมีนางสายชูมาเบิกความยืนยันว่า เงินจำนวนนี้เป็นเงินส่วนตัวของพยานได้จากการรับจ้างทำงาน เก็บมาได้2 ปีแล้ว ก็ปรากฏว่าพยานมีอายุเพียง 21 ปี อาศัยอยู่กับผู้เสียหายได้หนีตามจำเลยไปก่อนที่ผู้เสียหายจะให้กลับมาอยู่ที่บ้านโดยให้จำเลยมาอยู่ด้วย และปรากฏว่าพยานกับจำเลยอยู่กินเป็นสามีภรรยากันมาได้เพียง 1 ปีเศษ หากพยานมีเงินจำนวน 10,000 บาท ก่อนอยู่กินกับจำเลย ตอนพยานหนีตามจำเลยไปก็คงนำเงินจำนวนนี้ติดตัวไปด้วยและอาจจะใช้จ่ายไปหมดแล้วก็ได้ พยานเบิกความรับว่า ก่อนเกิดเหตุจำเลยได้ขายข้าวเปลือกที่พยานกับจำเลยทำนาร่วมกัน เพียงแต่บ่ายเบี่ยงว่า จำเลยไม่บอกว่าได้เงินมาเท่าไร ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าพยานซึ่งเป็นภรรยาจำเลยจะไม่รู้ว่าจำเลยขายข้าวเปลือกได้เงินเท่าไรผู้เสียหายก็เบิกความรับว่า จำเลยนำข้าวเปลือกไปขายได้เงินมา3,000 บาทถึง 4,000 บาท แต่บ่ายเบี่ยงว่า จำเลยไม่เคยเอาเงินมาเก็บไว้ในหีบเก็บเงินของผู้เสียหาย อย่างไรก็ตาม ฟังได้แน่ชัดว่าก่อนเกิดเหตุจำเลยได้ขายข้าวเปลือกได้เงินมาจำนวนหนึ่ง จึงเจือสมกับที่จำเลยนำสืบว่า ขายข้าวเปลือกได้ครั้งแรกเป็นเงินสุทธิ 7,500 บาทได้ฝากให้นายสายชูภรรยาเก็บไว้ น่าเชื่อว่า เงินที่นางสายชูฝากผู้เสียหายเก็บไว้ในกระเป๋าถือสตรีสีขาวซึ่งอยู่ในหีบอีกชั้นหนึ่งมีจำนวนเพียง 7,500 บาท และเป็นเงินที่จำเลยขายข้าวเปลือกได้ไม่ใช่จำนวน 10,000 บาท ที่เป็นเงินส่วนตัวของนางสายชู ส่วนเงินจำนวน 20,000 บาท ที่ผู้เสียหายอ้างว่ามีอยู่ในหีบและใส่ไว้ในถุงกระดาษต่างหากนั้นก็ยังเป็นที่สงสัยอยู่ว่าจะมีจริงหรือไม่ ปัญหาว่าจำเลยเอาเงินในหีบไปเมื่อเวลา 11 นาฬิกา ขณะผู้เสียหายและนางสายชูไม่อยู่บ้านดังที่โจทก์นำสืบ หรือเอาไปเมื่อเวลา 6 นาฬิกาหลังจากถูกผู้เสียหายด่าและไล่จำเลยออกจากบ้านดังจำเลยนำสืบในข้อนี้ แม้โจทก์จะมีเด็กชายนเรษฐ์ ชื่นโพธิ์ อายุ 12 ปี บุตรของผู้เสียหายซึ่งเป็นนักเรียนชั้น ป.6 โรงเรียนมรรครังสฤษดิ์มาเบิกความว่า วันเกิดเหตุพยานไม่ได้ไปโรงเรียนเนื่องจากบิดาให้เฝ้าบ้านและฝนตกน้ำท่วม บิดามารดาและพี่สาวไปทำนาตั้งแต่เวลา8 นาฬิกา จำเลยไม่ได้ไป เวลา 11 นาฬิกา เห็นจำเลยหยิบลูกกุญแจจากเสาแล้วเข้าไปในห้องเก็บสตางค์ใช้ลูกกุญแจไขหีบ หลังจากนั้นเห็นจำเลยเดินออกมามีอะไรตุง ๆ อยู่ที่กระเป๋ากางเกง พยานคิดว่าจำเลยเอาเงินของบิดาไป แต่ไม่กล้าเอะอะโวยวายเพราะกลัว เมื่อบิดากลับมาบ้านเวลา 18 นาฬิกา พยานจึงเล่าให้บิดาฟัง บิดาเข้าไปตรวจดูเงินแล้วกลับออกมาบอกว่าจำเลยลักเอาเงินไปทั้งหมด 30,000 บาทและมีร้อยตำรวจเอกไพโรจน์ เคี้ยนสมบูรณ์ พนักงานสอบสวนมาเบิกความว่า เมื่อจำเลยไปร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อนายอำเภอเก้าเลี้ยวพยานได้ไปสอบปากคำเด็กนักเรียนชั้นเดียวกับเด็กชายนเรษฐ์จำนวน 10 คนต่อหน้าอาจารย์ใหญ่และครูประจำชั้นว่าวันเกิดเหตุเด็กชายนเรษฐ์ไปโรงเรียนหรือไม่ ปรากฏว่าเด็กนักเรียนทั้ง 10 คน ครูประจำชั้นและอาจารย์ใหญ่ยืนยันว่าวันเกิดเหตุเด็กชายนเรษฐ์ไม่ได้ไปโรงเรียนจึงบันทึกไว้ตามเอกสารหมาย จ.8 ก็ตาม ศาลฎีกาเห็นว่า การไปสอบปากคำตามเอกสารหมาย จ.8 ได้กระทำเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2528หลังวันเกิดเหตุแล้วเกือบ 3 เดือน ไม่น่าเชื่อว่า เด็กนักเรียนเหล่านั้นจะจำได้ ทั้งยังขัดกับบัญชีเรียกชื่อนักเรียนตามเอกสารหมายล.1 ซึ่งนายวิชัย พงษ์ไพบูลย์ อาจารย์ใหญ่โรงเรียนวัดมรรครังสฤษดิ์ได้ถ่ายภาพและรับรองสำเนาถูกต้อง ซึ่งปรากฏว่าวันเกิดเหตุเด็กชายนเรษฐ์ไปโรงเรียนทั้งเช้าและบ่ายไม่ได้ขาดโรงเรียนดังพยานโจทก์เบิกความบัญชีเรียกชื่อนักเรียนเอกสารหมาย ล.1 นี้ ทางราชการให้ทางโรงเรียนทำขึ้นเพื่อแสดงถึงเวลาเรียนของนักเรียน ต้องทำประจำทุกวัน เป็นพยานหลักฐานที่เชื่อถือได้ ศาลฎีกาไม่เชื่อว่าวันเกิดเหตุเด็กชายนเรษฐ์ได้ขาดโรงเรียนและเห็นจำเลยไขหีบเก็บเงินเอาเงินไปเมื่อเวลา 11 นาฬิกา นอกจากนี้ หากเด็กชายนเรษฐ์เห็นจำเลยเอาเงินไปจริงเมื่อจำเลยออกจากบ้านไปแล้ว เด็กชายนเรษฐ์ก็น่าจะรีบไปแจ้งให้บิดามารดาทราบในทันที ทั้งปรากฏว่าผู้เสียหายไม่ชอบจำเลยมาก่อน แม้จะชวนจำเลยและนางสายชูให้กลับมาอยู่ในบ้านผู้เสียหายก็เนื่องจากความห่วงใยนางสายชูบุตรสาวมากกว่า พยานหลักฐานโจทก์ยังมีข้อที่น่าระแวงสงสัยอยู่มาก ที่จำเลยนำสืบว่าหลังจากนำข้าวเปลือกไปขายครั้งที่ 2 กลับมาถึงบ้านเวลา 3 นาฬิกาของวันเกิดเหตุ จำเลยเข้านอน พอเวลา 6 นาฬิกา นางสายชูถามว่าขายข้าวได้เงินเท่าไร จำเลยว่าได้ประมาณ 7,000 บาท ถึง 8,000 บาทนางสายชูไม่เชื่อหาว่าจำเลยยักยอกเงินไว้ให้หญิงอื่นจึงเกิดทะเลาะกัน ผู้เสียหายได้ยินได้ลุกขึ้นมาด่าและไล่จำเลย จำเลยจึงเก็บเสื้อผ้าและเอาลูกกุญแจไปไขหีบเอาเงินที่เก็บไว้จำนวน 7,500 บาทของจำเลย กลับไปอยู่บ้านบิดามารดาจำเลย เมื่อนางสายชูและผู้เสียหายไปขอแบ่งครึ่งหนึ่งจำเลยไม่ให้ จึงเกิดเป็นเรื่องนี้ขึ้น ก็มีเหตุผลหากจำเลยไม่ถูกผู้เสียหายด่าและขับไล่ จำเลยก็คงไม่เก็บเสื้อผ้ากลับไปอยู่กับบิดามารดาจำเลยซึ่งอยู่ห่างบ้านผู้เสียหายเพียง 500เมตร และไม่กลับมาอยู่กินกับนางสายชูอีก ทั้งนางสายชูเบิกความรับว่าตอนไปทวงถามให้จำเลยคืนเงิน จำเลยบอกว่าเป็นเงินของจำเลย จำเลยเถียงบิดาพยานว่าเงินที่เอาไปเป็นเงินที่จำเลยขายข้าวได้รูปคดีน่าเชื่อว่า จำเลยทะเลาะกับนางสายชูแล้วถูกผู้เสียหายด่าและขับไล่ จำเลยจึงไขกุญแจหีบของผู้เสียหายเอาเงินจำนวน 7,500 บาทไปเมื่อเวลา 6 นาฬิกาเศษวันเกิดเหตุดังจำเลยนำสืบ ปัญหาว่าจำเลยจะมีความผิดตามฟ้องหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า เงินจำนวน 7,500 บาทที่จำเลยไขกุญแจหีบหยิบเอาไปนี้เป็นเงินที่จำเลยได้มาจากการขายข้าวเปลือกครั้งที่ 1 แล้วมอบให้นางสายชูภรรยาเก็บไว้ โดยจำเลยเข้าใจว่าเป็นของจำเลย แม้ผู้เสียหายเองที่อ้างว่าขายข้าวเปลือกได้เงินมา 20,000 บาท ผู้เสียหายก็ยืนยันว่าเป็นเงินของผู้เสียหายคนเดียว ทั้งที่ข้าวเปลือกที่ขายนั้นได้มาจากผู้เสียหายและนางแฉล้มภรรยาทำนาร่วมกัน การที่นางสายชูนำเงินจำนวน 7,500 บาทไปฝากเก็บไว้ในหีบของผู้เสียหายซึ่งเป็นบิดาก็เห็นว่าเป็นการขอเก็บไว้ในที่ปลอดภัยด้วยเท่านั้นดังจะเห็นได้ว่าเงินจำนวนนี้ได้ใส่ไว้ในกระเป๋าถือสตรีอีกชั้นหนึ่งซึ่งเชื่อว่าเป็นกระเป๋าของนางสายชูเองการที่จำเลยหยิบเอาลูกกุญแจไขหีบของผู้เสียหายแล้วหยิบเอาเฉพาะเงินจำนวน 7,500 บาท ซึ่งอยู่ในกระเป๋าถือของนางสายชูภรรยาของจำเลยไป โดยจำเลยเข้าใจว่าเป็นเงินของจำเลย มีสิทธิเอาไปได้ จึงขาดเจตนาทุจริต ไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ดังโจทก์ฟ้องและฎีกาส่วนเงินที่ผู้เสียหายอ้างว่ามีจำนวน 20,000 บาท อยู่ในถุงกระดาษ ยังเป็นที่สงสัยอยู่ว่ามีหรือไม่ หากมีจริงก็ไม่น่าเชื่อว่าจำเลยจะเอาไปด้วย ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง ศาลฎีกาเห็นด้วยในผล…”
พิพากษายืน