คำวินิจฉัยที่ 36/2559

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีนี้แม้ผู้ฟ้องคดีจะฟ้องเรียกค่าเสียหายโดยกล่าวอ้างว่าการออก น.ส.ล. เลขที่ บร ๔๗๐๓ ไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ตาม แต่ผู้ฟ้องคดีก็อ้างเหตุแห่งความไม่ชอบด้วยกฎหมายประการสำคัญว่าเป็นการออก น.ส.ล. ทับที่ดินของผู้ฟ้องคดี กรณีจึงเป็นเรื่องที่ผู้ฟ้องคดีโต้แย้งว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินแต่เป็นที่ดินตาม ส.ค. ๑ ที่ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิครอบครอง การที่ศาลจะวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ออก น.ส.ล. เลขที่ บร ๔๗๐๓ เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีและกรมที่ดินผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีหรือไม่นั้น ศาลจำต้องพิจารณาว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิครอบครองหรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๓๖/๒๕๕๙

วันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๕๙

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลปกครองนครราชสีมา
ระหว่าง
ศาลจังหวัดนางรอง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองนครราชสีมาโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๕๘ นายวัชรินทร์ พรหมลักษณ์ ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องกรมที่ดิน ที่ ๑ อธิบดีกรมที่ดิน ที่ ๒ ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ ที่ ๓ นายอำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ ที่ ๔ เจ้าพนักงานที่ดินอำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ ที่ ๕ เทศบาลตำบลยายแย้มวัฒนา ที่ ๖ กำนัลตำบลยายแย้มวัฒนา ที่ ๗ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองนครราชสีมา เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๐๙/๒๕๕๘ ความว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินต่อจากบิดามารดาตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.๑) หมู่ที่ ๑ ตำบลถาวร อำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ เนื้อที่ดิน จำนวน ๑๐ ไร่ ที่ดินดังกล่าวได้มีการก่นสร้างตั้งแต่ปี ๒๔๙๓ ปัจจุบันเหลือเพียง ๖ ไร่ เนื่องจากมีการก่อสร้างชลประทาน ต่อมา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ โดยได้รับมอบอำนาจจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ บร ๔๗๐๓ ทับที่ดินตาม ส.ค. ๑ ของบิดาและมารดาของผู้ฟ้องคดีในส่วนที่เหลือทั้งหมด ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า การออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงแปลงดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากไม่เปิดโอกาสให้ผู้ฟ้องคดีโต้แย้งคัดค้านตรวจสอบก่อนการรังวัดและชี้แนวเขตและเป็นการออกทับที่ดินของผู้ฟ้องคดี ขอให้คืนสิทธิในที่ดินตาม ส.ค. ๑ และให้ผู้ฟ้องคดีทั้งเจ็ดร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดี
ศาลปกครองนครราชสีมามีคำสั่งไม่รับคำฟ้องในข้อหาที่ ๑ คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายจากการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงทับที่ดินของผู้ฟ้องคดี เนื่องจากเป็นฟ้องซ้อนกับคดีหมายเลขดำที่ ๔๕/๒๕๕๕ หมายเลขแดงที่ ๕๕/๒๕๕๘ ส่วนข้อหาที่ ๒ คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง ทับที่ดินของผู้ฟ้องคดี ศาลมีคำสั่งไม่รับฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ถึงที่ ๗ ไว้พิจารณา
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ให้การว่า ที่ดินแปลงพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ขณะออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงไม่มีผู้ใดคัดค้าน และการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง พนักงานเจ้าหน้าที่กระทำโดยถูกต้องตามระเบียบและชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นการละเมิดผู้ฟ้องคดีและไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดี ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองนครราชสีมาพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีจากการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ บร ๔๗๐๓ เนื้อที่ ๒๘ ไร่ ๒ งาน ๖ ตารางวา ทับที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) ที่ผู้ฟ้องคดีครอบครองต่อเนื่องจากบิดามารดา ซึ่งหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ บร ๔๗๐๓ เป็นหลักฐานแสดงเขตที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันหรือใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ ตามมาตรา ๘ ตรี วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน หนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง จึงเป็นคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ เมื่อผู้ฟ้องคดีฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดี จากการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงทับที่ดินตาม ส.ค. ๑ ของผู้ฟ้องคดี คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากคำสั่งทางปกครอง ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลจังหวัดนางรองพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ อ้างว่า การออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ บร ๔๗๐๓ เนื้อที่ ๒๘ ไร่ ๒ งาน ๖ ตารางวานั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากทับที่ดินตาม ส.ค. ๑ เนื้อที่ ๖ ไร่ ของผู้ฟ้องคดี ซึ่งครอบครองทำประโยชน์ต่อเนื่องจากบิดามารดา ขอให้ศาลพิพากษาคืนสิทธิที่ดินในส่วนที่ถูกทับของผู้ฟ้องคดีดังกล่าว ซึ่งแปลความว่า เป็นการขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงส่วนที่ออกทับที่ดินของผู้ฟ้องคดี และขอให้ศาลพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งเจ็ดซึ่งรวมถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ด้วยนั้นร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดี เจตนารมณ์ของผู้ฟ้องคดีจึงเป็นการประสงค์จะให้ศาลรับรองและคุ้มครองสิทธิครอบครองที่ดินตาม ส.ค. ๑ ดังกล่าวว่ามีอยู่จริง แม้ศาลปกครองนครราชสีมาจะมีคำสั่งไม่รับฟ้องในข้อหาว่าการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงชอบหรือไม่ และไม่รับฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ถึง ๗ แต่ข้อหาว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กระทำละเมิดผู้ฟ้องคดีและต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีหรือไม่นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิครอบครองตามที่กล่าวอ้าง หรือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นสำคัญ ซึ่งจะต้องเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายที่ดินและประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป ทั้งตามมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๑๑ กำหนดให้ผู้ที่มี ส.ค.๑ นำหลักฐานมาขอออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ภายใน ๒ ปี นับแต่วันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ (ใช้บังคับวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑) โดยหากพ้นกำหนดดังกล่าวจะออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ได้ต่อเมื่อศาลยุติธรรมได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุด ผู้ที่มี ส.ค. ๑ ได้ครอบครองทำประโยชน์ ในที่ดินโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ ซึ่งเห็นได้ว่ากฎหมายดังกล่าวมุ่งหมายให้ศาลยุติธรรมทำหน้าที่ตรวจสอบสิทธิครอบครองที่ดิน ส.ค. ๑ ดังนั้น เมื่อข้อพิพาทในคดีนี้เป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิครอบครองที่ดิน ส.ค. ๑ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นเอกชนยื่นฟ้องหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐอ้างว่าอธิบดีกรมที่ดิน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ บร ๔๗๐๓ ทับที่ดินตาม ส.ค. ๑ ที่ผู้ฟ้องคดีได้ครอบครองและทำประโยชน์ต่อจากบิดามารดาในส่วนที่เหลือทั้งหมด และออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงโดยไม่แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีโต้แย้งคัดค้าน ขอให้ศาลมีคำพิพากษาคืนสิทธิในที่ดินตาม ส.ค. ๑ และให้ผู้ฟ้องคดีทั้งเจ็ดร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดี ศาลปกครองนครราชสีมามีคำสั่งไม่รับคำฟ้องในข้อหาที่ ๑ คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายจากการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงทับที่ดินของผู้ฟ้องคดี เนื่องจากเป็นฟ้องซ้อนกับคดีหมายเลขดำที่ ๔๕/๒๕๕๕ หมายเลขแดงที่ ๕๕/๒๕๕๘ ส่วนข้อหาที่ ๒ คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงทับที่ดินของผู้ฟ้องคดี ศาลมีคำสั่งไม่รับฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ถึงที่ ๗ ไว้พิจารณา คดีจึงมีประเด็นที่ต้องพิจารณาในชั้นนี้เพียงประเด็นเดียวว่า ข้อหาตามคำฟ้องที่ว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีจากการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ บร ๔๗๐๓ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้นเป็นคดีพิพาทที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองหรือศาลยุติธรรม เห็นว่า คดีนี้แม้ผู้ฟ้องคดีจะฟ้องเรียกค่าเสียหายโดยกล่าวอ้างว่าการออก น.ส.ล. เลขที่ บร ๔๗๐๓ ไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ตาม แต่ผู้ฟ้องคดีก็อ้างเหตุแห่งความไม่ชอบด้วยกฎหมายประการสำคัญว่าเป็นการออก น.ส.ล. ทับที่ดินของผู้ฟ้องคดี กรณีจึงเป็นเรื่องที่ผู้ฟ้องคดีโต้แย้งว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินแต่เป็นที่ดินตาม ส.ค. ๑ ที่ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิครอบครอง การที่ศาลจะวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ออก น.ส.ล. เลขที่ บร ๔๗๐๓ เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีและกรมที่ดินผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีหรือไม่นั้น ศาลจำต้องพิจารณาว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิครอบครองหรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนายวัชรินทร์ พรหมลักษณ์ ผู้ฟ้องคดี กรมที่ดิน ที่ ๑ กับพวกรวม ๗ คน ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) วีระพล ตั้งสุวรรณ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายวีระพล ตั้งสุวรรณ) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา (ลงชื่อ) ชาญชัย แสวงศักดิ์
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายชาญชัย แสวงศักดิ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share