แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
คดีที่ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องอธิบดีกรมที่ดิน ผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ มค ๑๘๔๙ โดยอ้างว่าออกทับที่ดินซึ่งผู้ฟ้องคดีครอบครองทำประโยชน์ ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีครอบครองเป็นที่ดินของผู้มีชื่อ ซึ่งบริจาคให้ราชการและประชาชนขุดเป็นสระน้ำสาธารณประโยชน์ของหมู่บ้าน ต่อมา ผู้ฟ้องคดียื่นคำร้องขอออกโฉนดที่ดิน แต่ผู้ใหญ่บ้านซึ่งรับมอบอำนาจจากนายอำเภอ ยางสีสุราชคัดค้านการรังวัดอ้างว่าเป็นที่สาธารณประโยชน์ ผู้ฟ้องคดีจึงได้ยื่นฟ้องผู้ใหญ่บ้านและนายอำเภอต่อศาลจังหวัดมหาสารคาม ขอให้ศาลมีคำสั่งแสดงสิทธิครอบครองของผู้ฟ้องคดี ต่อมา ศาลฎีกามีคำพิพากษาที่ ๙๗๙๖/๒๕๕๖ ว่า ที่ดินดังกล่าวเป็นที่สาธารณประโยชน์ การออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงได้ปฏิบัติโดยชอบด้วยระเบียบและกฎหมาย ไม่มีเหตุต้องเพิกถอน ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า แม้คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) เลขที่ มค ๑๘๔๙ เนื่องจากออกทับที่ดินที่โจทก์ครอบครอง ซึ่งเป็นการฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) ประกอบมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่ก็อ้างเหตุแห่งการเพิกถอนว่าหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง มค ๑๘๔๙ ออกทับที่ดินของผู้ฟ้องคดี โดยมิได้กล่าวอ้างเหตุแห่งความไม่ชอบด้วยกฎหมายประการอื่น จึงเป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีโต้แย้งว่าที่ดินตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงดังกล่าวเป็นที่ดินของตน จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๓๒/๒๕๕๙
วันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๕๙
เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน
ศาลปกครองขอนแก่น
ระหว่าง
ศาลจังหวัดมหาสารคาม
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองขอนแก่นโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๗ นางปราณี ปุผาตา ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องอธิบดีกรมที่ดิน ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองขอนแก่น เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๖๕๕/๒๕๕๗ ความว่า เมื่อปี ๒๕๑๘ นายสุ่ม กันหาสียา ได้ขายที่ดินตั้งอยู่บ้านกุดตะเข้ หมู่ที่ ๔ ตำบลยางสีสุราช อำเภอยางสีสุราช จังหวัดมหาสารคาม เนื้อที่ประมาณ ๔ ไร่เศษ ให้แก่ผู้ฟ้องคดีในราคา ๑๐,๐๐๐ บาท โดยนายสุ่มได้ส่งมอบการครอบครองให้แก่ผู้ฟ้องคดี แต่มิได้มอบหลักฐานที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีด้วย เนื่องจากที่ดินพิพาทเป็นของนายโม้ ฮุยน้อย แต่นายสุ่มอ้างว่า ที่ดินเป็นของตน ผู้ฟ้องคดีได้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทและได้ปลูกต้นไม้ไว้เป็นแนวเขตของที่ดิน ต่อมา อธิบดีกรมที่ดินได้ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง มค ๑๘๔๙ เนื้อที่ ๒ ไร่ ๓๗ ตารางวา ทับที่ดินของผู้ฟ้องคดี ที่ดินดังกล่าวเป็นของผู้ฟ้องคดี เมื่อปี ๒๕๑๙ กำนันและผู้ใหญ่บ้านท้องที่ในขณะนั้นต้องการนำเงินงบประมาณมาแจกจ่ายให้แก่ชาวบ้านที่ได้ร่วมกันขุดสระ จึงได้ขอเข้าไปขุดสระน้ำในที่ดินพิพาทโดยมีข้อตกลงให้สระน้ำเป็นของผู้ฟ้องคดีเพื่อใช้ในการเลี้ยงปลา สระน้ำดังกล่าวจึงไม่มีผู้เข้าใช้ประโยชน์ ผู้ฟ้องคดีไม่เคยยกให้เป็นที่สาธารณะ การออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ มค ๑๘๔๙ ลงวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๗
ผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า มูลกรณีนี้เกิดขึ้นเนื่องจากผู้ฟ้องคดีได้ยื่นคำขอรังวัดออกโฉนดที่ดินโดยอาศัยหลักฐานตาม ส.ค. ๑ เลขที่ ๗๙ ตามคำขอฉบับที่ ๓/๔๙๕/๔๗ ลงวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๔๗ ซึ่งในวันรังวัดผู้ใหญ่บ้านซึ่งได้รับมอบอำนาจจากอำเภอยางสีสุราชได้ระวังชี้แนวเขตที่ดินและคัดค้านการรังวัดออกโฉนด เนื่องจากผู้ฟ้องคดีนำรังวัดทับที่สาธารณประโยชน์ (สระน้ำสาธารณประโยชน์) ของหมู่บ้านเต็มทั้งแปลง ซึ่งสระน้ำนี้ได้รับบริจาคจากนายสุ่ม กันหาสียา ซึ่งผู้ฟ้องคดีอ้างว่า เป็นผู้ขายที่ดินพิพาทให้ ต่อมาผู้ฟ้องคดีได้ยื่นฟ้องผู้ใหญ่บ้านและนายอำเภอยางสีสุราชต่อศาลจังหวัดมหาสารคามขอแสดงสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท โดยขอให้ศาลพิพากษาว่า ที่ดินพิพาทเนื้อที่ ๑ ไร่เศษเป็นที่ดินที่โจทก์มีสิทธิครอบครอง ไม่ใช่ที่สาธารณประโยชน์ ต่อมา ศาลฎีกามีคำพิพากษาที่ ๙๗๙๖/๒๕๕๖ ว่า นายสุ่มยกที่ดินให้เป็นที่สาธารณประโยชน์ มิได้ขายให้แก่โจทก์ โจทก์ขออนุญาตผู้ใหญ่บ้านในขณะนั้นปลูกบ้านอยู่อาศัยในที่ดินพิพาท โจทก์จึงไม่ใช่เจ้าของที่ดินพิพาท ที่ดินดังกล่าวเป็นที่สาธารณประโยชน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคามจึงได้ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงในที่ดินพิพาท เนื่องจากผู้ฟ้องคดีคัดค้านเพียงผู้เดียวและศาลฎีกามีคำพิพากษาแล้วว่าที่ดิน เป็นที่สาธารณประโยชน์ การออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงได้ปฏิบัติโดยชอบด้วยระเบียบและกฎหมาย ไม่มีเหตุต้องเพิกถอน ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดียื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองขอนแก่นพิจารณาแล้วเห็นว่า เกณฑ์การพิจารณาในเรื่องเขตอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลปกครองและศาลยุติธรรมต้องพิจารณาเขตอำนาจของศาลปกครองเป็นสำคัญ หากคดีพิพาทใดอยู่ในอำนาจของศาลปกครองแล้ว ศาลยุติธรรมย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนั้น เมื่อผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า การออก น.ส.ล. เลขที่ มค ๑๘๔๙ ในที่พิพาทเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากที่พิพาทไม่มีทะเบียนที่สาธารณประโยชน์และมีการสร้างหลักฐานย้อนหลังเพื่อประกอบการขอรังวัดออก น.ส.ล. ซึ่งผู้ฟ้องคดีได้คัดค้านการรังวัดออก น.ส.ล. ดังกล่าวแล้ว แต่ยังคงมีการออกเป็น น.ส.ล. เลขที่ มค ๑๘๔๙ ไปเมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๗ และแม้ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๑๒๙๘/๒๕๔๗ ระหว่างผู้ฟ้องคดี โจทก์ นายอำเภอยางสีสุราชกับพวกรวม ๒ คน จำเลย ที่ผู้ฟ้องคดีได้มีคำขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิครอบครองที่พิพาท เนื้อที่ประมาณ ๑ ไร่เศษ และคดีได้ถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๙๗๙๖/๒๕๕๖ ที่พิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นว่า ที่พิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ ก็ตาม แต่ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า คดีดังกล่าวเจ้าหน้าที่ของรัฐได้สร้างหลักฐานเท็จส่งให้ศาล ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย จึงฟ้องคดีต่อศาลปกครองขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) เลขที่ มค ๑๘๔๙ กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และเมื่อคดีนี้มีข้อเท็จจริงยุติตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๙๗๙๖/๒๕๕๖ ว่า ที่พิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ ข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินตามข้อกล่าวอ้างของผู้ฟ้องคดีจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว จึงไม่มีกรณีที่จะต้องให้ศาลยุติธรรมพิจารณาพิพากษาคดีนี้อีกตามคำโต้แย้งเขตอำนาจศาลของผู้ถูกฟ้องคดี คดีนี้จึงคงมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีในการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) ในที่พิพาทที่ศาลปกครองต้องพิจารณาว่าเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เท่านั้น
ศาลจังหวัดมหาสารคามพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้เป็นกรณีโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ทั้งความมุ่งหมายของผู้ฟ้องคดีที่ฟ้องต่อศาลก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของ ผู้ฟ้องคดี การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีหรือเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ ซึ่งการพิจารณาสิทธิในที่ดินพิพาทระหว่างคู่ความต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และตามประมวลกฎหมายที่ดินประกอบด้วย โดยจะต้องพิจารณาถึงสิทธิครอบครองและการใช้ประโยชน์ในที่ดินของคู่ความพยานหลักฐานการใช้ประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่ของที่ดินพิพาท และพยานหลักฐานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง แม้จะมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๙๗๙๖/๒๕๕๖ ว่าที่พิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ แต่คำพิพากษาดังกล่าวก็เป็นเพียงการจะนำมารับฟังเป็นข้อเท็จจริงและเป็นพยานหลักฐานประกอบการวินิจฉัยคดีนี้เท่านั้น ซึ่งคดีนี้จะต้องวินิจฉัยในประเด็นสำคัญว่า ที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีหรือเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ ซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ มิได้กำหนดให้ศาลปกครองมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สิน ดังนั้น คดีที่เป็นประเด็นโดยตรงเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์ของบุคคลจึงอยู่ในเขตอำนาจของ ศาลยุติธรรม เมื่อการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงมีการโต้แย้งสิทธิ ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดินจึงได้แก่ศาลยุติธรรม
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องอธิบดีกรมที่ดิน ผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ มค ๑๘๔๙ โดยอ้างว่าออกทับที่ดินซึ่งผู้ฟ้องคดีครอบครองทำประโยชน์ ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีครอบครองเป็นที่ดินของนายสุ่ม กันหาสียา ซึ่งบริจาคให้ราชการและประชาชนขุดเป็นสระน้ำสาธารณประโยชน์ของหมู่บ้าน ต่อมา ผู้ฟ้องคดียื่นคำร้องขอออกโฉนดที่ดิน แต่ผู้ใหญ่บ้านซึ่งรับมอบอำนาจจากนายอำเภอยางสีสุราชคัดค้านการรังวัดอ้างว่า เป็นที่สาธารณประโยชน์ ผู้ฟ้องคดีจึงได้ยื่นฟ้องผู้ใหญ่บ้านและนายอำเภอต่อศาลจังหวัดมหาสารคาม ขอให้ศาลมีคำสั่งแสดงสิทธิครอบครองของผู้ฟ้องคดี ต่อมาศาลฎีกามีคำพิพากษาที่ ๙๗๙๖/๒๕๕๖ ว่า ที่ดินดังกล่าวเป็นที่สาธารณประโยชน์ การออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงได้ปฏิบัติโดยชอบด้วยระเบียบและกฎหมาย ไม่มีเหตุต้องเพิกถอน ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า แม้คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) เลขที่ มค ๑๘๔๙ เนื่องจากออกทับที่ดินที่โจทก์ครอบครอง ซึ่งเป็นการฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) ประกอบมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่ก็อ้างเหตุแห่งการเพิกถอนว่าหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง มค ๑๘๔๙ ออกทับที่ดินของผู้ฟ้องคดี โดยมิได้กล่าวอ้างเหตุแห่งความไม่ชอบด้วยกฎหมายประการอื่น จึงเป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีโต้แย้งว่าที่ดินตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงดังกล่าวเป็นที่ดินของตน จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนางปราณี ปุผาตา ผู้ฟ้องคดี อธิบดีกรมที่ดิน ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) วีระพล ตั้งสุวรรณ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายวีระพล ตั้งสุวรรณ) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา (ลงชื่อ) ชาญชัย แสวงศักดิ์
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายชาญชัย แสวงศักดิ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ