แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
คดีที่เอกชนยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐอ้างว่า การออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) (ดอนปู่ตาบ้านคำแหลมสาธารณประโยชน์) ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากทับซ้อนกับที่ดินของผู้ฟ้องคดีตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานที่ดินไม่อาจออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีได้ ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งให้เพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง และให้ออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ ให้การสอดคล้องกันว่า การออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงแปลง “ดอนปู่ตา” ได้ดำเนินการตามขั้นตอนระเบียบและกฎหมายแล้ว มิได้ทับซ้อนที่ดินของผู้ฟ้องคดี ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เพิกถอน น.ส.ล. ตามคำขอของผู้ฟ้องคดี และให้ออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินซึ่งผู้ฟ้องคดีมีสิทธิครอบครองหรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองโต้แย้ง จึงเป็นคดีที่ผู้ฟ้องคดีขอให้รับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินที่พิพาทของผู้ฟ้องคดีเป็นสำคัญ อันเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๓๔/๒๕๕๙
วันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๕๙
เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน
ศาลปกครองอุบลราชธานี
ระหว่าง
ศาลจังหวัดยโสธร
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองอุบลราชธานีโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๕๘ นางหนูกร จตุเทน ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้อง อธิบดีกรมที่ดิน ที่ ๑ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดยโสธร สาขาคำเขื่อนแก้ว ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองอุบลราชธานี เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๗/๒๕๕๘ ความว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) เลขที่ ๒๐๐๙๓ บ้านคำแหลม หมู่ที่ ๔ ตำบลโพนทัน อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร (ดอนปู่ตาบ้านคำแหลมสาธารณประโยชน์) โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากออกทับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๖๕ ตำบลดงเจริญ อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร ของผู้ฟ้องคดี เป็นเหตุให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ไม่ออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดี ตามคำขอเลขที่ ๑๔๔/๘๑๒/๗๓๘๐/๕๑ ลงวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๕๑ การออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ ๒๐๐๙๓ (ดอนปู่ตาบ้านคำแหลมสาธารณประโยชน์) และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดี
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ ให้การสอดคล้องกันว่า การรังวัดออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงแปลง “ดอนปู่ตา” ได้ดำเนินการตามขั้นตอนระเบียบและกฎหมายแล้ว การรังวัดออกโฉนดที่ดิน ผู้ฟ้องคดีได้นำชี้รุกล้ำทางสาธารณประโยชน์และที่สาธารณประโยชน์ “ดอนปู่ตา” จึงไม่อาจออกโฉนดที่ดินให้ได้ ขอให้ยกฟ้อง
อนึ่ง ก่อนฟ้องคดีนี้ ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นฟ้องเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดยโสธร สาขาคำเขื่อนแก้ว ในคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๒) ต่อศาลปกครองอุบลราชธานี และศาลปกครองอุบลราชธานีได้มีคำพิพากษาถึงที่สุด คดีหมายเลขแดงที่ ๑๖๓/๒๕๕๖ พิพากษาให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดยโสธร สาขาคำเขื่อนแก้ว ผู้ถูกฟ้องคดี พิจารณาคำขอออกโฉนดที่ดินของผู้ฟ้องคดีตามขั้นตอนหลักเกณฑ์ และวิธีการที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายที่ดิน กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ให้แล้วเสร็จภายใน ๖๐ วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองอุบลราชธานีพิจารณาแล้ว เห็นว่า การออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเป็นการแสดงเขตที่ดินของรัฐ ซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และต้องดำเนินการตามมาตรา ๘ ตรี แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ประกอบกับกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๖ (พ.ศ. ๒๕๑๖) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ การดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่ในกรณีดังกล่าวของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายที่มีผลกระทบต่อสิทธิหน้าที่ของบุคคล อันเป็นคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ เมื่อผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองไม่ออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีตามที่ผู้ฟ้องคดียื่นคำขอโดยอ้างว่าที่ดินของผู้ฟ้องคดีมีเนื้อที่ดินทับซ้อนกับที่ดินตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ ๒๐๐๙๓ บ้านคำแหลม หมู่ที่ ๔ ตำบลโพนทัน อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร (ดอนปู่ตาบ้านคำแหลมสาธารณประโยชน์) และผู้ฟ้องคดีเห็นว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากออกทับซ้อนที่ดินของผู้ฟ้องคดี ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหายและมีคำขอท้ายฟ้องให้ศาลเพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงดังกล่าว คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในการออกคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และศาลปกครองมีอำนาจออกคำบังคับตามคำขอของผู้ฟ้องคดีที่ขอให้เพิกถอนคำสั่งทางปกครองได้ ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๑) และวรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ทั้งการพิจารณาว่าการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น มิได้พิจารณาเฉพาะประเด็นว่าผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสิทธิครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทหรือไม่ ยังต้องพิจารณาในประเด็นว่าหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงได้ออกโดยถูกต้องตามขั้นตอนหรือวิธีการตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ด้วย ซึ่งประเด็นดังกล่าวก็อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดยโสธรพิจารณาแล้ว เห็นว่า แม้เหตุแห่งการฟ้องคดีสืบเนื่องมาจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ไม่สามารถออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีได้ และที่ดินแปลงดังกล่าวของผู้ฟ้องคดีมีเนื้อที่ทับซ้อนกับที่ดินตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ ๒๐๐๙๓ อันเป็นกรณีพิพาทระหว่างเอกชนกับหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ตาม แต่การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เพิกถอนดังกล่าวนั้น ศาลจำต้องพิจารณาในปัญหาว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีตามที่กล่าวอ้างหรืออยู่ในเขตที่ดินตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ ๒๐๐๙๓ เป็นสำคัญ อันมีผลกระทบต่อสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินของบุคคลซึ่งจะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๔ ทรัพย์สิน ประกอบประมวลกฎหมายที่ดิน โดยต้องพิจารณาสิทธิครอบครองและการใช้ประโยชน์ของผู้ฟ้องคดีและกรมที่ดิน ซึ่งตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ มิได้กำหนดให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สิน คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้เป็นคดีที่เอกชนยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐอ้างว่า การออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) เลขที่ ๒๐๐๙๓ (ดอนปู่ตาบ้านคำแหลมสาธารณประโยชน์) ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากทับซ้อนกับที่ดินของผู้ฟ้องคดีตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ ๖๕ เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดยโสธร สาขาคำเขื่อนแก้ว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ไม่อาจออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีได้ ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ ให้การสอดคล้องกันว่า การออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงแปลง “ดอนปู่ตา” ได้ดำเนินการตามขั้นตอนระเบียบและกฎหมายแล้ว มิได้ทับซ้อนที่ดินของผู้ฟ้องคดี ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า แม้เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้จะเนื่องมาจากการออก น.ส.ล. ซึ่งผู้ฟ้องคดีอ้างว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยออกทับที่ดินของผู้ฟ้องคดี เป็นเหตุให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ไม่อาจออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีได้ แต่การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เพิกถอน น.ส.ล. ตามคำขอของผู้ฟ้องคดี และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินซึ่งผู้ฟ้องคดีมีสิทธิครอบครองหรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองโต้แย้ง ทั้งคดีนี้ไม่ปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีอ้างเหตุแห่งความไม่ชอบด้วยกฎหมายของการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ ๒๐๐๙๓ ประการอื่น นอกจากการทับซ้อนกับที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีครอบครอง กรณีจึงเป็นคดีที่ผู้ฟ้องคดีขอให้รับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินที่พิพาทของผู้ฟ้องคดีเป็นสำคัญ อันเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นางหนูกร จตุเทน ผู้ฟ้องคดี อธิบดีกรมที่ดิน ที่ ๑ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดยโสธร สาขาคำเขื่อนแก้ว ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) วีระพล ตั้งสุวรรณ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายวีระพล ตั้งสุวรรณ) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา (ลงชื่อ) ชาญชัย แสวงศักดิ์
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายชาญชัย แสวงศักดิ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ