คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1745/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มีบทบัญญัติไว้โดยเฉพาะในเรื่องขอให้พิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ชั่วคราวตามมาตรา 17 ซึ่งจะขอได้ก็แต่ก่อนที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดเท่านั้น และเมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้วมาตรา 19 วรรคแรก บัญญัติให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้ายึดดวงตรา สมุดบัญญชี และเอกสารของลูกหนี้ และบรรดาทรัพย์สินซึ่งอยู่ในความครอบครองของลูกหนี้หรือของผู้อื่นอันอาจแบ่งได้ในคดีล้มละลาย ฉะนั้นเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องและโจทก์อุทธรณ์ โจทก์จะขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ยึดทรัพย์ของลูกหนี้ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งไม่ได้

ย่อยาว

กรณีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีล้มละลาย ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธร์ พร้อมทั้งยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์ว่า โจทก์กับพวกร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลลาดพร้าว ให้ดำเนินคดีอาญากับจำเลยและภรรยาในข้อหาฉ้อโกงประชาชนโดยรับเงินจากโจทก์กับพวกเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า ๔๗๐,๐๐๐ บาท จำเลยจึงถูกดำเนินคดีในข้อหาดังกล่าวที่ศาลอาญา และถูกคุมขังอยู่ตามหมายหของศาล เนื่องจากการพิจารณาคดีของศาลอุทธรณ์อาจใช้เวลานาน ถ้าศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาด ทรัพย์สินของจำเลยซึ่งมีเพียงที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๗๘๕๘, ๓๗๘๕๙, ๕๓๔๖๒ และ ๑๕๘๑๘๘ ตำบลวังทองหลาง อำเภอบางกะปิกรุงเทพมหานคร และจำนองไว้กับธนาคารทหารไทย จำกัด อาจจะมีการจำหน่ายจ่ายโอนไปยังบุคคลภายนอกและทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายที่ไม่ได้รับชำระหนี้ได้ เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของโจทก์ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จึงขอให้ศาลอุทธร์มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยึดที่ดินดังกล่าวพร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างไว้ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์จนกว่าจะได้มีคำพิพากษาอย่างหนึ่งอย่างใดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๖๔ ประกอบกับมาตรา ๑๕๓แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ และตามนัยคำสั่งคำร้องศาลฎีกาที่ ๑๔/๒๕๐๖
จำเลยแถลงคัดค้านว่า ฟ้องโจทก์ไม่มีกฎหมายสนับสนุน ไม่มีทางชนะคดี ที่จำเลยต้องออกไปจากเคหะสถานที่อยู่อาศัยก็เพราะถูกดำเนินคดีอาญา และถูกคุมขังตามอำนาจศาล มิใช่เพื่อประวิงการชำระหนี้ ทั้งโจทก์ไม่เคยทวงถามและเคยฟ้องให้จำเลยชำระหนี้ จำเลยจะประวงิการชำระหนี้โจทก์ได้อย่างไรขอให้ยกคำร้อง
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วมีคำสั่งว่า โจทก์ขอให้ยึดทรัพย์จำเลยไว้ชั่วคราวก่อนคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ตามนัยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๕๔ แต่พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ บัญญัติวิธีการชั่วคราวไว้โดยเฉพาะตามมาตรา ๑๖, ๑๗ จึงไม่อาจนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้ได้ ทั้งเป็นกรณีที่ไม่อาจใช้วิธีการชั่วคราวตามพระราชบัญญัติล้มละลายแก่กรณีนี้ได้ จึงให้หยกคำร้อง
โจทก์ทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘คดีมีปัญหาว่า ในคดีล้มละลายศาลอุทธรณ์จะมีคำสั่งให้ยึดทรัพย์ของจำเลยไว้ชั่วคราวก่อนพิพากษาโดยอาศัยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งได้หรือไม่พิเคราะห์แล้ว พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๑๗ บัญญัติว่า ‘ก่อนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์จะยื่นคำขอฝ่ายเดียวโดยทำเป็นคำร้อง ขอให้พิทักษืทรัพย์ของลูกหนี้ชั่วคราวก็ได้เมื่อศาลได้รับคำร้องนี้แล้วให้ดำเนินการไต่สวนต่อไปโดยทันที ถ้าศาลเห็นว่าคดีมีมูล ก็ให้สั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ชั่วคราว…’ซึ่งจะขอได้ก็แต่ในกรณีก่อนที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดเท่านั้น และเมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้วมาตรา ๑๙ วรรคแรก บัญญัติว่า ‘คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ให้ถือเสมือนว่าเป็นหมายของศาลให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้ายึดดวงตรา สมุดบัญชี และเอกสารของลูกหนี้และบรรดาทรัพย์สินซึ่งอยู่ในความครอบครองของลูกหนี้หรือของผู้อื่นอันอาจแบ่งได้ในคดีล้มละลาย’ นอกจากนี้การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีล้มละลายนั้น พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๑๕๓ บัญัติว่า ‘…ส่วนใดที่พระราชบัญญัตินี้มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม’ คดีนี้โจทก์ขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษืทรัพย์ยึดทรัพย์ของจำเลยไว้ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลอุทธรณ์แม้โจทก์จะอ้างว่าเป็นการขอคุ้มครองประโยชน์ตามมาตรา ๒๖๔ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ประกอบด้วยมาตรา ๑๕๓ พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ ตามที่โจทก์ฎีกาก็ตาม แท้จริงก็เป็นการขอให้ศาลยึดทรัพย์ของจำเลยไว้ก่อนพิพากษานั่นเอง ซึ่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มีบทบัญญัติไว้โดยเฉพาะดังกล่าวมาแล้ว จึงจะนำบทบัญญัติว่าด้วยการยึดทรัพย์ของจำเลยก่อนพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับไม่ได้ และตามคำร้องของโจทก์ก็มิใช่เป็นการขอให้คุ้มครองประโยชน์ในระหว่างการพิจารณา คำสั่งคำร้องศาลฎีกาที่ ๑๔/๒๕๐๖ ระหว่าง นายย่งเอ๋ยม แซ่เบ้ โจทก์ ห้างหุ้นส่วนจำกัดลิ้มเอี้ยวจั๊ว กับพวก จำเลย กับนายจตุพร สิหนาทกถากุล โจทก์ห้างหุ้นส่วนจำกัดลิ้มเอี้ยวจั๊ว กับพวก จำเลย ที่โจทก์อ้างมาเป็นเรื่องที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดแล้ว ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง โจทก์ฎีกาและยื่นคำร้องขอให้ศาลงดปล่อยทรัพย์ของจำเลยที่โจทก์นำยึดไว้ อันเป็นการขอคุ้มครองประโยชน์ในระหว่างการพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๖๔ ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้จึงนำมาเทียบเคียงไม่ได้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ยกคำร้องชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น’
พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา ๓๐๐ บาท แทนจำเลย.

Share