คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 219/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ความผิดฐานตัดฟันทำไม้แปรรูปไม้ และมีไม้แปรรูปไว้ในครอบครองตาม พ.ร.บ. ป่าไม้ พ.ศ. 2484มาตรา 11,48,73 แม้จำเลยจะกระทำต่อไม้จำนวนเดียวกันแต่การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระกันจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน
การที่จำเลยเข้าไปตัดฟันทำไม้ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้นการกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดสำเร็จฐานเข้าไปในเขตรักษาพันธุ์ สัตว์ป่าตาม มาตรา 23 แห่ง พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503ทันทีที่จำเลยเข้าไปในเขตรักษาพันธุ์ สัตว์ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาต และเป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระกับความผิดฐานตัดฟันทำไม้ตาม พ.ร.บ. ป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 73 วรรคสองแต่การที่จำเลยเข้าไปตัดฟันทำไม้ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น ย่อมเป็นความผิดทั้งฐานตัดฟันทำไม้ตามมาตรา 73 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. ป่าไม้พ.ศ. 2484 และฐานตัดโค่นต้นไม้ในเขตรักษาพันธุ์ สัตว์ป่า ตามมาตรา24 แห่ง พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ฯ กรณีทั้งสองเป็นเรื่องที่จำเลยกระทำในคราวเดียวกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษฐานตัดฟันทำไม้ตาม พ.ร.บ. ป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 73 วรรคสองซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2500 (ที่ถูก พ.ศ. 2503) มาตรา 19,23, 24, 42, 44 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 4, 6, 7,11, 47, 48, 73, 74, 74 ทวิ พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 3)พ.ศ. 2494 มาตรา 4 พระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้าม พ.ศ. 2530มาตรา 3 พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2503 มาตรา 18พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2518 มาตรา 4, 7, 19พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2522 มาตรา 9 พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2525 มาตรา 4 พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2522 มาตรา 3 พระราชบัญญัติคุ้มครองและสงวนป่า พ.ศ. 2481 มาตรา 10, 21 พระราชบัญญัติคุ้มครองป่า (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2497 มาตรา 7, 8 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 ริบของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2500 (ที่ถูก พ.ศ. 2503) มาตรา 19,23, 24, 42, 44 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 4, 6, 7, 11,47, 48, 73, 74, 74 ทวิ พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 2)พ.ศ. 2522 มาตรา 3 พระราชบัญญัติคุ้มครองและสงวนป่า พ.ศ. 2481มาตรา 10, 21 พระราชบัญญัติคุ้มครองป่า (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2497มาตรา 7, 8 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 ให้เรียงกระทงลงโทษฐานทำไม้หวงห้ามเป็นกรรมเดียวกับฐานทำให้เสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ มาตรา 73 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทหนักที่สุด จำคุกคนละ 2 ปี ฐานแปรรูปไม้หวงห้าม จำคุกคนละ2 ปี ฐานร่วมกันมีไม้แปรรูปหวงห้าม จำคุกคนละ 2 ปี ฐานเข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาตปรับคนละ 600 บาท และฐานเข้าไปตัดโค่นไม้ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า จำคุกคนละ 1 ปี รวมจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 7 ปี ปรับคนละ 600 บาท จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยทั้งสองไว้มีกำหนดคนละ 3 ปี 6 เดือน และปรับคนละ 300 บาท ค่าปรับหากไม่ชำระให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ของกลางให้ริบ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ขอให้รอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาในชั้นนี้ตามฎีกาของจำเลยที่ 1ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับมาเพียงประการเดียวว่า การกระทำผิดของจำเลยตามฟ้องเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทซึ่งต้องลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ มาตรา 73 เพียงกระทงเดียวหรือไม่พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เฉพาะความผิดฐานตัดฟันทำไม้ แปรรูปไม้ และมีไม้แปรรูปไว้ในครอบครองตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ ที่โจทก์ฟ้องนั้น แม้จำเลยที่ 1 จะกระทำต่อไม้จำนวนเดียวกันแต่การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระกัน จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ส่วนความผิดฐานเข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาต และความผิดฐานตัดโค่นไม้ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 มาตรา 23 และมาตรา 24 นั้น มีปัญหาว่าการกระทำความผิดทั้งสองฐานนี้จะเป็นกรรมเดียวกับความผิดฐานตัดฟันทำไม้ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ มาตรา73 วรรคสอง หรือไม่ พิเคราะห์แล้ว มาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฯ บัญญัติว่า “…ห้ามมิให้ผู้ใดเข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเว้นแต่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่…” และมาตรา 24 บัญญัติว่า “ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้ามมิให้ผู้ใดเข้าไปครอบครองยึดถือที่ดินหรือตัดโค่น…ต้นไม้หรือพฤกษชาติอื่น…” ศาลฎีกาเห็นว่า สำหรับความผิดฐานเข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวนั้นย่อมเป็นความผิดสำเร็จทันทีที่จำเลยที่ 1 เข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาต จึงเป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระกับความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ มาตรา 73 วรรคสอง แต่การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่เข้าไปตัดฟันทำไม้ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาตตามฟ้องนั้นย่อมเป็นความผิดทั้งตามมาตรา 73วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ และตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฯ กรณีจึงเป็นเรื่องจำเลยที่ 1 กระทำในคราวเดียวกัน การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษฐานตัดฟันทำไม้ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ มาตรา 73 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้นบางส่วนและปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยศาลฎีกาย่อมมีอำนาจแก้ไขถึงจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ร่วมกระทำผิดและมิได้ฎีกาได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา213, 225″
พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองเฉพาะความผิดฐานตัดฟันทำไม้ ตามมาตรา 73 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ และความผิดฐานตัดโค่นต้นไม้ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฯ มาตรา 24 เป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯมาตรา 73 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 รวมโทษทุกกระทงแล้ว คงจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 3 ปีปรับคนละ 300 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share