คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7364/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทำสัญญาตกลงให้โจทก์เป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำผลไม้ของจำเลย โดยโจทก์มอบหนังสือค้ำประกันของธนาคารเพื่อประกันการชำระหนี้ค่าสินค้าในวงเงิน 100,000 บาท ให้แก่จำเลย จำเลยผิดสัญญาส่งสินค้าให้ร้านค้าต่าง ๆ ทำให้สินค้าที่โจทก์รับมาจำหน่ายไม่ได้ โจทก์ขาดรายได้แต่โจทก์ขอให้บังคับจำเลยคืนสัญญาค้ำประกันของธนาคาร ซึ่งผลของคำขอนั้นจะทำให้โจทก์ได้คืนหลักประกันที่ให้ไว้แก่ธนาคารเพื่ออกหนังสือสัญญาค้ำประกันให้แก่จำเลยดังกล่าวและจำเลยขาดหลักประกันการเรียกค่าสินค้าค้างชำระจากโจทก์ จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ หรือที่เรียกว่าคดีมีทุนทรัพย์ และทุนทรัพย์ก็คือหลักประกันตามหนังสือค้ำประกันที่โจทก์เรียกคืนจำนวน 100,000 บาท คดีจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนหนังสือสัญญาค้ำประกันของธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาประตูช้างเผือก ให้แก่โจทก์หากไม่สามารถคืนได้ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยว่าจำเลยได้คืนต้นฉบับสัญญาค้ำประกันแล้วอันเนื่องมาจากจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาตกลงให้โจทก์เป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำผลไม้ของจำเลย โดยโจทก์มอบหนังสือค้ำประกันของธนาคาร เพื่อประกันการชำระหนี้ค่าสินค้าในวงเงิน100,000 บาท ให้แก่จำเลย จำเลยผิดสัญญาส่งสินค้าให้ร้านค้าต่าง ๆทำให้สินค้าที่โจทก์รับมาจำหน่ายไม่ได้ โจทก์ขาดรายได้แต่โจทก์ขอให้บังคับจำเลยคืนสัญญาค้ำประกันของธนาคาร ซึ่งผลของคำขอนั้นจะทำให้โจทก์ได้คืนหลักประกันที่ให้ไว้แก่ธนาคารเพื่อออกหนังสือสัญญาค้ำประกันให้แก่จำเลยดังกล่าวและจำเลยขาดหลักประกันการเรียกค่าสินค้าค้างชำระจากโจทก์ จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ หรือที่เรียกว่าคดีมีทุนทรัพย์ และทุนทรัพย์ก็คือหลักประกันตามหนังสือสัญญาค้ำประกันที่โจทก์เรียกคืนจำนวน 100,000 บาท เมื่อคดีมีทุนทรัพย์ไม่เกินสองแสนบาทจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 วรรคหนึ่ง โจทก์ฎีกาว่า จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา เป็นฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ถือเป็นปัญหาข้อเท็จจริงอันต้องห้ามฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลชั้นต้นรับฎีกาของโจทก์มาโดยไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”

พิพากษายกฎีกาโจทก์

Share