แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย 5 ปี ฐานจำหน่ายเฮโรอีน 5 ปีรวมลงโทษจำคุก 10 ปี เพิ่มโทษกึ่งหนึ่งตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 97 คงจำคุกจำเลย 15 ปี จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา 78 คงจำคุก 10 ปี บวกโทษจำคุก 2 เดือนที่รอการลงโทษไว้ในคดีอื่นของศาลชั้นต้นเข้าด้วยรวมลงโทษ 10 ปี 2 เดือน ศาลชั้นต้นได้คำนวณการเพิ่มและลดโทษถูกต้องตาม ป.อ. มาตรา 54 และได้นำโทษที่รอการลงโทษไว้ในคดีอื่นมาบวกกับโทษในคดีหลังถูกต้องตาม ป.อ. มาตรา 58 วรรคหนึ่งแล้ว.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2531 เวลากลางวันจำเลยได้กระทำความผิดต่อกฎหมายหลายบทหลายกรรมต่างกันกล่าวคือ จำเลยมีเฮโรอีนไฮโดรคลอไรด์ซึ่งเป็นเกลือของเฮโรอีน อันเป็นยาเสพติดให้โทษชนิดร้ายแรงในประเภท 1 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522ที่แก้ไขแล้วจำนวน 5 หลอด น้ำหนักรวม 0.25 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และจำเลยได้จำหน่ายเฮโรอีนไฮโดรคลอไรด์ดังกล่าวบางส่วน 1 หลอด น้ำหนักไม่ปรากฏชัด ให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อในราคา30 บาท โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เหตุเกิดที่แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมด้วยธนบัตรฉบับละ20 บาท 1 ฉบับ และฉบับละ 10 บาท 1 ฉบับ ซึ่งเป็นธนบัตรที่จำเลยได้จากการจำหน่ายเฮโรอีนให้แก่สายลับ และตรวจค้นพบเฮโรอีนไฮโดรคลอไรด์ที่จำเลยเหลือจากการจำหน่ายจำนวน 4 หลอด กับได้เฮโรอีนไฮโดรคลอไรด์ 1 หลอด จากสายลับยึดเป็นของกลางก่อนคดีนี้จำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกมีกำหนด 1 ปี 4 เดือนฐานมีเฮโรอีนเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2530 ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่373/2530 ของศาลชั้นต้นซึ่งมิใช่ความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ และจำเลยได้กระทำความผิดขณะที่มีอายุเกินกว่า17 ปี และพ้นโทษคดีดังกล่าวเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2531 นอกจากนี้จำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก 2 เดือน โทษจำคุกรอการลงโทษมีกำหนด 1 ปี ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4858/2531ของศาลชั้นต้น และภายในกำหนดเวลาที่ศาลรอการลงโทษ จำเลยได้กลับมากระทำความผิดคดีนี้ขึ้นอีก ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 97, 102ที่แก้ไขแล้ว ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2522) เรื่องระบุชื่อและประเภทยาเสพติดให้โทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 ลงวันที่ 17 กันยายน 2522 ข้อ 1(1) ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91, 58 ที่แก้ไขแล้ว และสั่งริบเฮโรอีนของกลางและคืนธนบัตรของกลางแก่เจ้าของ กับขอให้เพิ่มโทษและบวกโทษที่รอการลงโทษในคดีดังกล่าวเข้ากับโทษของจำเลยคดีนี้
จำเลยให้การว่า มีเฮโรอีนไว้ในครอบครองจริง แต่มีจำนวนไม่เท่ากับที่โจทก์ฟ้อง และมีไว้เพื่อเสพ กับรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยซึ่งเคยต้องโทษและพ้นโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 373/2530และได้กระทำความผิดอีกภายในกำหนดที่ศาลชั้นต้นรอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4858/2531 ตามฟ้องโจทก์จริง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15, 16 วรรคหนึ่ง,102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 58 ลงโทษจำเลยฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายจำคุก 5 ปี ฐานจำหน่ายเฮโรอีน จำคุก 5 ปีรวมลงโทษจำคุก 10 ปี เพิ่มโทษกึ่งหนึ่งตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 97 ให้จำคุกจำเลย 15 ปีจำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก10 ปี บวกโทษจำคุก 2 เดือน ที่รอการลงโทษไว้ตามคดีหมายเลขแดงที่4858/2531 ของศาลชั้นต้นเข้ากับโทษคดีนี้ รวมลงโทษ 10 ปี 2 เดือนริบเฮโรอีนของกลางและคืนธนบัตรของกลางแก่เจ้าของ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลชั้นต้นสั่งว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนลงโทษจำคุกจำเลยเป็นความผิด 2 กรรม แต่ละกรรมจำคุกไม่เกิน 5 ปี คดีจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218วรรคหนึ่ง ส่วนเรื่องเพิ่มโทษนั้นเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ว่าจะมิได้ว่ากล่าวในชั้นอุทธรณ์ก็ชอบยกขึ้นว่าในชั้นฎีกาได้ พิเคราะห์ฎีกาของจำเลยแล้วเห็นว่า เฉพาะฎีกาข้อ 2แผ่นที่ 2 ด้านหน้าตั้งแต่บรรทัดที่ 5 จนถึงด้านหลังบรรทัดที่ 12-13เป็นปัญหาเรื่องวิธีเพิ่มโทษ เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยชอบที่จะฎีกาได้ จึงให้รับเป็นฎีกาของจำเลยเฉพาะส่วนนี้ สำหรับฎีกาข้ออื่น ๆ นั้นล้วนแต่เป็นปัญหาข้อเท็จจริงทั้งสิ้นซึ่งต้องห้ามมิให้ฎีกาดังบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวข้างต้นจึงไม่รับฎีกาของจำเลย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คงมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยว่า ศาลล่างทั้งสองเพิ่มโทษจำเลยมานั้นชอบหรือไม่ และจำเลยได้รับพระราชทานอภัยโทษนิรโทษกรรมไปแล้วตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2530 หรือไม่
ปัญหาแรกข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย 5 ปี ฐานจำหน่ายเฮโรอีน 5 ปีรวมลงโทษจำคุก 10 ปีเพิ่มโทษกึ่งหนึ่งตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 97 คงจำคุกจำเลย 15 ปี จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 10 ปีบวกโทษจำคุก 2 เดือน ที่รอการลงโทษไว้ตามคดีหมายเลขแดงที่ 4858/2531ของศาลชั้นต้นเข้ากับโทษคดีนี้รวมลงโทษ 10 ปี 2 เดือน จำเลยฎีกาว่า ถ้าหากมีส่วนที่จะต้องเพิ่มโทษ ศาลชั้นต้นต้องเพิ่มโทษและบวกโทษเสียก่อนชั้นหนึ่งแล้วลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้จำเลยก้จะเป็นคุณแก่จำเลย พิเคราะห์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 54บัญญัติว่า ในการคำนวการเพิ่มโทษหรือลดโทษที่จะลงให้ศาลตั้งกำหนดโทษที่จะลงแก่จำเลยเสียก่อนแล้วจึงเพิ่มหรือลด ถ้ามีทั้งการเพิ่มและการลดที่จตะลงให้เพิ่มก่อนแล้วจึงลดจากผลที่เพิ่มแล้วนั้นถ้าส่วนของการเพิ่มเท่ากันหรือมากกว่าส่วนของการลด และศาลเห็นสมควรจะไม่เพิ่มไม่ลดก็ได้ ศาลฎีกาเห็นว่า ศาลชั้นต้นได้คำนวณการเพิ่มโทษและลดโทษ ถูกต้องตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 54 แล้ว และได้นำโทาที่รอการลงโทษไว้ในคดีหมายเลขแดงที่ 4858/2531 ของศาลชั้นต้นมาบวกกับโทษในคดีหลังนี้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58วรรคหนึ่งแล้วเช่นเดียวกัน ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต่อไป ข้อเท็จจริงตามฟ้องและคำให้การฟังได้ว่าจำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกมีกำหนด 1 ปี 4 เดือน ฐานมีเฮโรอีนตามคดีหมายเลขแดงที่ 373/2530 ของศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 19มกราคม 2530 ซึ่งมิใช่ความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ และจำเลยได้กระทำความผิดในคดีก่อนนั้นภายหลังวันที่ 6 เมษายน2525 ในขณะที่มีอายุเกินกว่าสิบเจ็ดปี จำเลยพ้นโทษในคดีดังกล่าวมาแล้วเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2531 กลับมากระทำความผิดในคดีนี้ขึ้นอีกภายในเวลาห้าปีนับแต่วันพ้นโทษ จำเลยฎีกาว่า จำเลยได้รับพระราชทานอภัยโทษนิรโทษกรรมไปแล้ว ตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2530 เห็นว่าข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยได้พ้นโทษในคดีหมายเลขแดงที่ 373/2530 ของศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 26 มีนาคม2531 ไม่มีการนิรโทษกรรมตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวนี้ และยังไม่มีการล้างมลทินในภายหลังให้จำเลยแต่อย่างใด ฎีกาของจำเลยในข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.