คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4458/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บริษัทย่อมมีวัตถุประสงค์ในการหากำไรมาแบ่งปันกัน ในระหว่างผู้ถือหุ้น การได้หุ้นมาย่อมถือได้ว่าเป็นการได้มาโดยมุ่งในทางการค้าหรือหากำไร รายได้จากการขายหุ้นจึงเป็นเงินได้พึงประเมินในการเสียภาษีเงินได้ เว้นแต่จะมีการพิสูจน์ว่า หุ้นนั้นได้มาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไรโดยแท้จริง จึงจะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีตามประมวลกฎหมาย รัษฎากร มาตรา 42(9) เมื่อโจทก์ได้หุ้นมาตั้งแต่เริ่มตั้งบริษัทเนื่องจาก การรับมรดก มิใช่รับโอนหรือซื้อจากผู้ใด แม้หุ้นดังกล่าวจะไม่ใช่มรดก แต่เป็นการได้มาเนื่องจากการแบ่งมรดก หาใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ได้มา โดยมุ่งในทางการค้าหรือหากำไรแต่อย่างใดไม่ โจทก์จึงได้รับยกเว้น ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้สำหรับรายได้จากการจำหน่ายหุ้นจำนวนนี้ตาม มาตรา 42(9)
การเอาที่ดินซึ่งเป็นมรดกโอนให้บริษัท ช. แล้วบริษัทออกหุ้นให้แทน แม้บริษัทจะมีข้อจำกัดในการโอนหุ้นเพื่อสงวนหุ้นไว้กับผู้ถือหุ้นเดิมซึ่งเป็นคนในตระกูลของโจทก์ก็เป็นเรื่องที่จะสงวนผลประโยชน์ที่เกิดจากกิจการของบริษัท ไว้ให้แก่บุคคลในตระกูลของโจทก์มากกว่าเป็นการรักษาทรัพย์สิน ของตระกูลไว้ ซึ่งเป็นเรื่องของการค้าหากำไรนั้นเอง เมื่อโจทก์ รับโอนหุ้นจำนวนนี้มา จึงไม่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ ตาม มาตรา 42(9) การที่จะพิจารณาว่าสังหาริมทรัพย์ใดได้มาโดย มุ่งในทางการค้าหรือหากำไรตาม มาตรา 42(9) ต้องพิจารณา ในตอนที่ได้มาว่าเป็นการได้มาเพื่อประโยชน์ในทางการค้าหรือ หากำไรหรือไม่ หุ้นของบริษัท ช.ที่ส. ภริยาโจทก์โอนให้โจทก์เพื่อให้โจทก์ ฟ้องคดีเลิกบริษัท ช.นั้นต้องถือว่าส.ยังเป็นผู้ถือหุ้นที่แท้จริงอยู่ เมื่อ ส. รับโอนหุ้นมาจากผู้อื่นอีกต่อหนึ่ง และไม่ปรากฏว่า ได้หุ้นมา โดยมิได้มุ่งในทางการหรือหากำไร จึงต้องถือว่า เป็นการได้มาโดยมุ่ง ในทางการค้าหรือหากำไร เมื่อมีการ ขายหุ้นดังกล่าวจึงต้องเสีย ภาษีเงินได้โดยไม่ได้รับการยกเว้น ตาม มาตรา42(9) เมื่อโจทก์เป็น สามีโดยชอบด้วยกฎหมาย ของเจ้าของหุ้น โจทก์ก็ต้องรับผิด ในการชำระภาษีตาม มาตรา 57ตรี
แม้ ป. รัษฎากร มาตรา 19 ให้อำนาจเจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจออกหมายเรียกตัวผู้ยื่นรายการมาไต่สวนและออกหมายเรียกพยานกับสั่งให้ผู้ยื่นรายการหรือพยานนั้นนำบัญชีหรือพยานหลักฐานอื่น อันควรแก่เรื่องมาแสดงได้ภายในเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ได้ยื่นรายการ พ้นกำหนดนี้แล้วเจ้าพนักงานประเมินจะไม่มีอำนาจออกหมายเรียก หรือคำสั่งดังกล่าวก็ตาม แต่ก็หาได้มีบทบัญญัติกำหนดว่า เจ้าพนักงานประเมินต้องทำการประเมินภายในกำหนดเวลา 5 ปี นับแต่วันยื่นรายการไม่

Share