คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 588/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกับพวกร่วมกันขายอีเฟดรีนซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 โดยการร่วมกันมีอีเฟดรีนที่จำเลยกับพวกร่วมกันผลิตจำนวนดังกล่าวไว้ในครอบครองเพื่อขาย จำหน่าย จ่าย แจกให้แก่ผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่และไม่ได้รับการยกเว้นใด ๆ ตามกฎหมาย เมื่ออีเฟดรีน ที่จำเลยกับพวกร่วมกันผลิตและมีไว้ในครอบครอง เพื่อขายเป็นจำนวนเดียวกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็น ความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท คดีก่อนโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานร่วมกันขายยาอีเฟดรีนผสมคาเฟอีน อันเป็นยาแผนปัจจุบันและเป็นยาอันตรายที่มิได้ ขึ้นทะเบียนตำรับยาตามกฎหมายเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 ซึ่งแตกต่างจากคดีนี้ที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลย ฐานผลิตและขายอีเฟดรีน ซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 อันมีองค์ประกอบของความผิดแตกต่างกันและของกลาง ก็เป็นคนละจำนวนกัน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 4, 5, 6, 13 ทวิ, 62,89, 106, 116 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 91, 83และริบของกลางให้แก่กระทรวงสาธารณสุขกับนักโทษจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลย (ที่ถูกจำเลยที่ 1) ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 753/2536 ของศาลจังหวัดราชบุรี
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518มาตรา 13 ทวิ วรรคแรก, 89 เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ให้ลงโทษฐานผลิตอีเฟด รีน จำคุก 20 ปี ฐานขาย อีเฟด รีน จำคุก 20 ปี รวมจำคุกจำเลยมีกำหนด 40 ปี ริบของกลางทั้งหมดเว้นแต่รถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 9 ค-7961 กรุงเทพมหานคร และจักรเย็บผ้าให้แก่กระทรวงสาธารณสุข ส่วนข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2536 เวลาประมาณ 6 นาฬิกาพันตำรวจโทนัฎฐ์ จิตรปฎิมา เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอบางบัวทองกับพวกเข้าตรวจค้นบ้าน 3 หลัง คือบ้านเลขที่ 103/81เลขที่ 111/210 และเลขที่ 115/194 หมู่บ้านบัวทอง หมู่ที่ 4ตำบลบางรักพัฒนา อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี พบยาเม็ดผงเกล็ดสี เครื่องจักร ส่วนผสม อุปกรณ์ ภาชนะและสิ่งของตามบัญชีรายการตรวจยึดทรัพย์ของกลางเอกสารหมาย จ.5 ถึง จ.7และบัญชีของกลางคดีอาญาเอกสารหมาย ป.จ.1 และ ป.จ.2(ศาลจังหวัดนครนายก) พร้อมทั้งจับกุมนายธนาคาร น้าวไกรสรบุตรชายจำเลย และนางสาวกาญจนา ตันศิวะรัตน์ ภริยาจำเลยได้ที่บ้านเลขที่ 111/210 นำส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีต่อมาพนักงานสอบสวนส่งของกลางดังกล่าวไปตรวจพิสูจน์ ปรากฎว่ายาเม็ดจำนวน 2,400 เม็ด ที่ตรวจยึดได้ที่บ้านเลขที่ 103/81ยาเม็ดจำนวน 50,000 เม็ด และผงเกล็ดสีน้ำหนัก 10 กิโลกรัมที่ตรวจยึดได้ที่บ้านเลขที่ 115/194 เป็นอีเฟด รีน ซึ่งเป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ในประเภท 2 ตามรายงานการตรวจวิเคราะห์เอกสารหมาย จ.12
ที่จำเลยฎีกาว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวเพราะจำเลยมีเจตนาเพื่อขายและกระทำความผิดในวาระเดียวกัน คือผลิตแล้วขายไป จึงลงโทษฐานผลิตและฐานขายอีเฟด รีน เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันไม่ได้นั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกับพวกร่วมกันขายอีเฟด รีน ซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 โดยการร่วมกันมีอีเฟด รีน ที่จำเลยกับพวกร่วมกันผลิตจำนวนดังกล่าวในฟ้องข้อ 1 ก.ไว้ในครอบครองของจำเลยกับพวกเพื่อขาย จำหน่าย จ่าย แจก ให้แก่ผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่และไม่ได้รับการยกเว้นใด ๆ ตามกฎหมาย เมื่ออีเฟด รีน ที่จำเลยกับพวกร่วมกันผลิตและมีไว้ในครอบครองเพื่อขายเป็นจำนวนเดียวกันการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทมิใช่เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
ที่จำเลยฎีกาต่อไปว่า จำเลยถูกจับกุมที่จังหวัดราชบุรีอันเป็นผลต่อเนื่องให้เจ้าพนักงานตำรวจขยายผลตรวจค้นบ้านของจำเลยทั้งสามหลังและพบของกลางเป็นจำนวนมาก คดีที่ศาลจังหวัดราชบุรีปรากฏว่าศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้มีคำพิพากษาอันถึงที่สุดไปแล้ว โจทก์มาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้อีกจึงเป็นฟ้องซ้ำนั้น เห็นว่า คดีก่อนโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานร่วมกันขายยาอีเฟด รีน ผสมคาเฟ อีน จำนวน 30,394 เม็ด อันเป็นยาแผนปัจจุบันและเป็นยาอันตรายที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาตามกฎหมายเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 มาตรา 4, 12, 72,79, 101, 122, 126 ซึ่งแตกต่างจากคดีนี้ที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานผลิตและขายอีเฟด รีน ซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทพ.ศ. 2518 มาตรา 4, 5, 6, 13 ทวิ, 62, 89, 106, 116 อันมีองค์ประกอบของความผิดแตกต่างกันและของกลางก็เป็นคนละจำนวนกันฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อสุดท้ายว่าเมื่อจำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและศาลชั้นต้นยกขึ้นวินิจฉัยศาลจะต้องลดโทษให้จำเลยหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์มีทั้งพยานบุคคล พยานเอกสาร รวมทั้งวัตถุพยานพอรับฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม คำรับของจำเลยก็ไม่เป็นประโยชน์แก่ศาลในการพิจารณาจึงไม่มีเหตุบรรเทาโทษ ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจไม่ลดโทษให้จำเลยนั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทซึ่งมีโทษเท่ากันให้ลงโทษฐานผลิตอีเฟด รีน จำคุก 20 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share