คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 270/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 นั้น ต้องฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลแล้ว อายุความจึงจะหยุดนับ บทบัญญัติตามมาตรานี้ไม่ได้ใช้บังคับในกรณีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์เท่านั้น ในกรณีที่ราษฎรเป็นโจกท์ก็ต้องถือหลักอย่างเดียวกัน
โจทก์บรรยายฟ้องว่า เหตุเกิดระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2507 ถึงวันที่ 30 มีนาคม 2514 ความผิดของจำเลยที่โจทก์ฟ้องมีอายุความสิบปี โจทก์จะต้องฟ้องและได้ตัวจำเลยผู้กระทำผิดมายังศาลภายในวันที่ 30 มีนาคม 2524 คดีจึงจะไม่ขาดอายุความ โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยวันที่ 30 มีนาคม 2524 แต่ศาลชั้นต้นต้องทำการไต่สวนมูลฟ้องของโจทก์ต่อไป ระหว่างนั้นจะถือว่าได้ตัวจำเลยมายังศาลและจำเลยอยู่ในอำนาจศาลแล้วไม่ได้ อายุความยังไม่หยุดนับศาลชั้นต้นสั่งคดีมีมูล หมายเรียกจำเลยแก้คดีและได้ตัวจำเลยมาพิจารณาเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2524 เกินสิบปีนับแต่วันที่กล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดคดีโจทก์จึงขาดอายุความแล้ว (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 1735/2514 ประชุมใหญ่)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๐๗ ถึงวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๑๔ เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยได้ร่วมกับบุคคลอื่นปลอมเอกสารหมายเลขประจำปืนและเครื่องหมายทะเบียนปืนของโจทก์ซึ่งโจทก์ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนแล้ว โดยจำเลยร่วมกับบุคคลอื่นประทับหมายเลขลงหน้าหมายเลขประจำปืนเดิมและแก้ไขเครื่องหมายทะเบียนปืนเดิมของโจทก์แล้วนำอาวุธปืนของโจทก์ไปขอจดทะเบียนในสภาพเป็นปืนเถื่อนต่อทางราชการทางราชการหลงเชื่อได้ออกใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนแก่จำเลยอีกฉบับหนึ่งและจำเลยได้ใช้เครื่องหมายทะเบียนปืนและหมายเลขประจำปืนที่จำเลยปลอมต่อศาลเพื่อให้ศาลหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงและเป็นปืนของจำเลย โจทก์เพิ่งทราบการกระทำผิดของจำเลยในวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๑๔ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓, ๙๑, ๑๘๘, ๒๖๔, ๒๖๕, ๒๖๘
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วประทับฟ้อง
จำเลยให้การว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๕ วรรคแรก บัญญัติไว้ชัดว่า “ในคดีอาญา ถ้ามิได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลภายในกำหนดดังต่อไปนี้ นับแต่วันกระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ ฯลฯ ตามบทบัญญัติดังกล่าวและแสดงว่าต้องฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลแล้วอายุความจึงจะหยุดนับ บทบัญญัติเรื่องอายุความตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๙๕ นี้ เป็นบทบัญญัติทั่วไป ไม่ได้ใช้บังคับในกรณีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์เท่านั้น ในกรณีที่ราษฎรเป็นโจทก์อย่างเช่นคดีนี้ก็ต้องถือหลักอย่างเดียวกันโจทก์บรรยายฟ้องว่า เหตุเกิดระหว่างวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๐๗ ถึงวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๑๔ ความผิดของจำเลยที่โจทก์ฟ้องมีอายุความสิบปี โจทก์จะต้องฟ้องและได้ตัวจำเลยผู้กระทำผิดมายังศาลภายในวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๒๔ คดีจึงจะไม่ขาดอายุความ กรณีโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๒๔ แต่ศาลชั้นต้นต้องทำการไต่สวนมูลฟ้องของโจทก์ต่อไป ระหว่างนั้นจะถือว่าได้ตัวจำเลยมายังศาลและจำเลยอยู่ในอำนาจศาลแล้วไม่ได้ อายุความยังไม่หยุดนับ ศาลชั้นต้นสั่งคดีมีมูล หมายเรียกจำเลยแก้คดีและได้ตัวจำเลยมาพิจารณาเมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๒๔ เกินสิบปีนับแต่วันที่กล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิด คดีโจทก์จึงขาดอายุความแล้ว
พิพากษายืน.

Share