แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามฐานลักทรัพย์หรือรับของโจรเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดฐานลักทรัพย์จึงมีผลเป็นว่าศาลชั้นต้นได้ยกฟ้องในข้อหารับของโจรแล้ว ซึ่งโจทก์มิได้อุทธรณ์จึงต้องถือว่าข้อหารับของโจรเฉพาะจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยุติไปแล้วตั้งแต่ศาลชั้นต้น เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยที่ 1และที่ 2 ไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์โจทก์ย่อมฎีกาได้เฉพาะข้อหาลักทรัพย์เท่านั้น จะฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2ในข้อหารับของโจรซึ่งได้ยุติไปแล้วนั้นอีกไม่ได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 3/2528 )
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันลักทรัพย์หรือรับของโจร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๕, ๓๕๗, ๘๓
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา ๘๓, ๓๓๕ ให้จำคุก
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยที่ ๓ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๗ และให้ยกฟ้องเฉพาะจำเลยที่ ๑ และที่ ๒
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ในข้อหารับของโจร
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสามมีความผิดฐานลักทรัพย์เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เช่นนี้ปัญหามีว่า โจทก์จะฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ในข้อ ๑ หารับของโจรได้หรือไม่ ปัญหาดังกล่าวศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ มีความผิดฐานลักทรัพย์จึงมีผลเป็นว่าศาลชั้นต้นได้ยกฟ้องในข้อหารับของโจรแล้ว ซึ่งโจทก์มิได้อุทธรณ์จึงต้องถือว่าข้อหารับของโจรเฉพาะจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ตามฟ้องได้ยุติไปแล้วตั้งแต่ศาลชั้นต้นดังนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์โจทก์ย่อมฎีกาได้เฉพาะข้อหาลักทรัพย์เท่านั้น จะฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ในข้อหารับของโจรซึ่งได้ยุติไปแล้วนั้นอีกไม่ได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกฎีกาโจทก์