แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
เงินค่าเช่าล่วงหน้าเป็นเงินของจำเลยซึ่งโจทก์รับไว้ในความครอบครองโดยชอบ เมื่อจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่ยอมออกไปจากทรัพย์สินที่เช่าเมื่อการเช่าได้สิ้นสุดลงจึงเป็นการอยู่โดยละเมิด ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์ย่อมใช้สิทธิยึดหน่วงเงินจำนวนนี้ เพื่อรับการชดใช้ค่าเสียหายจากการที่จำเลยอยู่ในทรัพย์สินของโจทก์โดยละเมิดได้ และกรณีเช่นนี้ถือได้ว่าโจทก์จำเลยต่างอยู่ในฐานะเป็นทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ที่มีความผูกพันซึ่งกันและกัน โดยมูลหนี้อันมีวัตถุคือการชำระหนี้เป็นเงินอย่างเดียวกัน และต่างถึงกำหนดชำระแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิจะหักกลบลบหนี้จากที่ยึดหน่วงไว้นั้นได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 341
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาขับไล่จำเลยและบริวาร ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เท่าค่าเช่าเดือนละ 5,000 บาท ให้โจทก์คืนเงิน 50,000 บาท ให้จำเลยโดยให้โจทก์หักไว้เป็นค่าเสียหายได้จนครบ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์รับเงินค่าเช่าล่วงหน้าจากจำเลยไว้เพียง 50,000 บาท ซึ่งเงินค่าเช่าล่วงหน้าจำนวนนี้ ศาลฎีกาเห็นว่าแม้จะเป็นเงินของจำเลย แต่โจทก์รับไว้ในความครอบครองโดยชอบ เมื่อจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่ยอมออกไปจากทรัพย์สินที่เช่าเมื่อการเช่าได้สิ้นสุดไปแล้ว จึงเป็นการอยู่โดยละเมิด ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์ชอบที่จะใช้สิทธิยึดหน่วงเงินจำนวนนี้เพื่อรับการชดใช้ค่าเสียหายที่จำเลยอยู่ในทรัพย์สินของโจทก์โดยละเมิด โจทก์มีสิทธิเรียกร้องขอบังคับได้ในจำนวนหนี้ที่แน่นอน ซึ่งบุคคลทั้งสองต่างอยู่ในฐานเป็นทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ที่มีความผูกพันซึ่งกันและกัน โดยมูลหนี้อันมีวัตถุคือการชำระหนี้เป็นเงินอย่างเดียวกัน และต่างถึงกำหนดชำระแล้วลูกหนี้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งย่อมจะหลุดพ้นจากหนี้ของตนด้วยการหักกลบลบหนี้ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 341 และเห็นว่า ในกรณีของโจทก์ไม่จำต้องรับผิดเสียดอกเบี้ยในจำนวนเงินดังกล่าวด้วย”
พิพากษายืน