คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3830/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กรณีที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาไม่ว่าเพราะเหตุใด หากผู้ฎีกาไม่พอใจและประสงค์จะดำเนินคดีต่อไป ก็ต้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นต่อศาลฎีกาเพื่อศาลฎีกาจะได้พิจารณาว่าคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับฎีกานั้นชอบหรือไม่นอกจากนี้ผู้ฎีกายังต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งมาตรา234 ประกอบด้วยมาตรา 247 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งโดยจะต้องยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลชั้นต้นและนำเงินค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงมาวางศาลและนำเงินมาชำระตามคำพิพากษาหรือหาประกันให้ไว้ต่อศาลภายในกำหนด 10 วันนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งอีกด้วย ฉะนั้นการที่จำเลยอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งไม่รับฎีกาของจำเลยต่อศาลอุทธรณ์และยื่นเมื่อล่วงพ้นกำหนด 10 วันนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งแล้ว จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย
อำนาจในการสั่งยืนตามคำปฏิเสธของศาลชั้นต้นที่ไม่รับฎีกาหรือสั่งให้รับฎีกา เป็นอำนาจโดยเฉพาะของศาลฎีกาศาลอุทธรณ์หามีอำนาจสั่งเช่นนั้นไม่ ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ขอให้มีคำสั่งรับฎีกาจึงเป็นการไม่ชอบ

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 รับผิดชำระดอกเบี้ยของต้นเงินที่แต่ละคนต้องรับผิดแก่โจทก์ ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้คู่ความฟังเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2522 ต่อมาวันที่ 21 สิงหาคม 2523 จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องว่านายวีรวัฒน์ ซึ่งอยู่สำนักงานเดียวกับทนายจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไว้แทนแล้วลืมมอบหมายนัดให้ทนายจำเลยที่ 2 ทนายจำเลยที่ 2 จึงไม่ทราบวันนัดและมิได้มาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ จึงขออนุญาตให้จำเลยที่ 2 ฎีกาพร้อมทั้งยื่นฎีกาเข้ามาด้วย

ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกา

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 252บัญญัติว่า “ถ้าคู่ความยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่ยอมรับฎีกา ให้ศาลชั้นต้นส่งคำร้องเช่นว่านั้นไปยังศาลฎีกาพร้อมกับฎีกาและคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ถ้าศาลฎีกาเห็นจำเป็นจะต้องตรวจสำนวนให้มีคำสั่งให้ศาลล่างส่งสำนวนนั้นไปยังศาลฎีกา” ตามบทบัญญัตินี้ย่อมเห็นได้ว่ากรณีที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่ยอมรับฎีกาเพราะเหตุใดก็ตาม หากคำสั่งนั้นไม่เป็นที่พอใจของผู้ฎีกาและประสงค์จะดำเนินคดีต่อไปก็ต้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นต่อศาลฎีกาโดยตรงเพื่อศาลฎีกาจะได้พิจารณาว่าคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับฎีกานั้นชอบหรือไม่นอกจากนี้ผู้ฎีกาจะต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งมาตรา 234 ประกอบด้วยมาตรา 247 โดยจะต้องยื่นคำร้องนั้นต่อศาลชั้นต้นและนำเงินค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงมาวางศาลและนำเงินมาชำระตามคำพิพากษาหรือหาประกันให้ไว้ต่อศาลภายในกำหนด 10 วันนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งอีกด้วย คดีนี้ปรากฏว่าเมื่อศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาแล้ว แทนที่จำเลยที่ 2 จะอุทธรณ์คำสั่งนั้นต่อศาลฎีกาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมา จำเลยที่ 2 กลับปล่อยให้ล่วงพ้นกำหนด 10 วันนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งแล้วจึงยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาเห็นว่าการปฏิบัติของจำเลยที่ 2 เป็นการไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณาความตามตัวบทกฎหมายนอกจากนี้ ตามบทบัญญัติมาตรา 252ดังกล่าวข้างต้นจะเห็นได้ว่าอำนาจในการสั่งยืนตามคำปฏิเสธของศาลชั้นต้นหรือสั่งให้รับฎีกา เป็นอำนาจโดยเฉพาะของศาลฎีกา ศาลอุทธรณ์หามีอำนาจในการสั่งเช่นนั้นไม่ ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการไม่ชอบเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 2

พิพากษายกฎีกาของจำเลยที่ 2 และยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คืนค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาทั้งหมดแก่จำเลยที่ 2

Share